ฐากูร บุนปาน : โลกใต้กะลา-เฟซบุ๊กเจ้าปัญหา

ท่านที่ชอบติดตามความเป็นไปของโลก โดยเฉพาะโลกวิทยาการสมัยใหม่

คงได้สดับตรับฟังปัญหาของเฟซบุ๊กในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาบ้างไม่มากก็น้อย

เนื้อหาสาระใหญ่ มีคนพูดไปกันเยอะแล้ว

ขออนุญาตสรุปย่อๆ ตามความเข้าใจของตัวเองดังนี้

อันเนื่องมาจากคณะทำงานพิเศษของเอฟบีไอในสหรัฐ ที่สอบสวนข้อร้องเรียนเรื่องว่าทีมงานหาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการสนับสนุนหรือเข้าไปเกี่ยวพันอะไรกับรัสเซีย (ซึ่งผิดกฎหมายเลือกตั้งของสหรัฐอย่างจัง) หรือไม่

สอบไป-สอบไป ก็เจอเรื่องโน้นเรื่องนี้โผล่ขึ้นมา

เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเฟซบุ๊ก ก็เจอเรื่องการปล่อยให้ข่าวลวงโลก-ข่าวปลอมทั้งหลายระบาดในช่วงเลือกตั้ง โดยไม่จัดการอะไร

ล่าสุด นิวยอร์กไทม์ส กับ ดิ ออฟเซอร์เวอร์ ก็ออกมาแฉว่าเฟซบุ๊ก “ปล่อย” ให้บริษัทที่ชื่อ Cambridge Analytica ที่รับจ้างหาเสียงให้ทรัมป์

แอบดูดข้อมูลของสมาชิกเฟซบุ๊กในสหรัฐกว่า 50 ล้านคนไปใช้ โดยเจ้าตัวไม่ได้อนุญาต

ซึ่งถือว่าละเมิด-ฝ่าฝืนกฎแห่งการปกป้องความลับส่วนตัวอย่างร้ายแรง

ที่ใช้คำว่า “ปล่อย” นั้น เพราะ

1. เฟซบุ๊กรู้เรื่องนี้ตั้งแต่กลางปี 2558 แต่นิ่งเฉยไม่ทำอะไรอยู่ตั้ง 8 เดือน กว่าจะสั่งให้ Cambridge Analytica ลบข้อมูลนี้ทิ้งเสีย

และ

2. สั่งแล้วก็สั่งเลย ไม่มีการติดตามผลว่า Cambridge Analytica ทำตามหรือไม่

จนมาถูกหนังสือพิมพ์รุมเปิดโปง ถึงเพิ่งจะสั่งถอด Cambridge Analytica และผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมดออกจากเฟซบุ๊ก

ถามว่านี่

1. อ่อนหัด

หรือ

2. รู้เห็นเป็นใจด้วย

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนก็อันตรายทั้งสิ้น

ตอนนี้จึงมีรัฐสภาและรัฐบาลอย่างน้อยสองประเทศ คือสหรัฐและอังกฤษ

เข้ามาสอบสวนเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง

พอเรื่องแดงขึ้นมา และปัญหาลุกลามใหญ่โต ก็กระทบความมั่นใจของผู้เกี่ยวข้อง

ชัดเจนที่สุดก็คือตลาดหุ้น

ราคาหุ้นในตลาดแนสแดคที่เฟซบุ๊กเข้าไปจดทะเบียนอยู่ ซึ่งเคยสูงสุดที่ 173.24 เหรียญเมื่อวันที่ 21 มีนาคม

หล่นตุ้บลงต่ำสุดที่ 151.98 เหรียญเมื่อวันที่ 26 มีนาคม

ก่อนจะกระดึ๊บขึ้นมาปิดตลาดได้ที่ 160.06 เหรียญในเย็นวันเดียวกัน

ที่หายไปประมาณ 13 เหรียญต่อหุ้นนี้คิดเป็นมูลค่าแบบตัวเลขกลมๆ ประมาณ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่เงินยังไม่ใช่เรื่องใหญ่

ปัญหาของเฟซบุ๊กอยู่ที่ความ “ใหญ่เกินไป” จนกระทั่งส่งผลกระทบได้กว้างขวาง

ทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย

และเพราะใหญ่เกินนี่เอง จึงเป็นเป้าหมายที่ “รัฐ” ไม่ว่าที่ไหน พยายามจะเข้ามาควบคุม ดูแล หรือจำกัดวง

ระหว่างที่เฟซบุ๊กกำลังวุ่นวายกับปัญหาภายในตัวเอง

รัฐสภายุโรปก็เสนอแผนการจัดเก็บภาษี “หัก ณ ที่จ่าย” จากเฟซบุ๊กและดิจิตอล แพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ว่าจะกูเกิล อเมซอน หรือใครๆ

ที่ใช้สูตรธุรกิจแบบเดียวกัน

คือไปตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศหรือพื้นที่เป็นสวรรค์ด้านภาษี (ไอร์แลนด์ หรือประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน)

แล้วก็โอนเงินรายได้จากบริษัทลูกหรือสาขาตามประเทศต่างๆ ไปให้บริษัทแม่ที่นั่น

จะในนามของค่าลิขสิทธิ์ ค่าโปรแกรม ค่าอะไรก็ตามที

บริษัทลูกก็เลยไม่กำไร รัฐบาลของประเทศที่บริษัทลูกตั้งอยู่ก็ไม่ได้ภาษี

เลยต้องมีการเช็กบิลกันบ้าง

เจอหมัดจากรัฐบาลทั้งหลายยังไม่พอ

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องของเฟซบุ๊กเป็นข่าวใหญ่มากๆ จากที่ควรจะใหญ่อยู่แล้ว ก็กลายเป็นใหญ่ยิ่งขึ้น

น่าจะเพราะมี “ความหมั่นไส้” ของสื่อยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในโลกตะวันตกผสมอยู่ด้วย

ไม่เชื่อลองดูเว็บ ดูทีวี ดูหนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ในโลกนี้เอาเถิด

ว่ารายการ “สหบาทา” เฟซบุ๊กนั้นไปได้ไกล แตกประเด็นยิบย่อยไปได้ขนาดไหน

อ่านแล้วสนุกกว่านิยายด้วยซ้ำ

เลือกเรื่องไกลตัวสักนิด (อันที่จริงก็ไม่ไกลเท่าไหร่ เพราะจำนวนสมาชิกเฟซบุ๊กในไทยวันนี้ก็ 49 ล้านบัญชีแล้ว มากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเสียอีก)

เพราะเบื่อโลกใต้กะลาน่ะครับ

หมุนไปหมุนมาไม่รู้ว่ากี่รอบ

คำถามง่ายๆ ว่าเราจะได้เลือกตั้งหรือไม่ หรือถ้าเลือกจะเป็นเมื่อไหร่

ยังตอบกันไม่ได้เลย

ไม่เบื่อทนไหวหรือ