ฐากูร บุนปาน : อีก2ปีที่มีคนอยากให้รัฐบาลทำอะไร “บางอย่าง” ก่อนที่ 5จีจะมาถึง

ที่เปิดโลก เปิดกะโหลกหนาๆ ให้เข้าใจชีวิตและความเป็นไปได้กว้างขวางขึ้น

นอกจากการอ่านหนังสือและการเดินทางแล้ว

ก็คือการรับฟังพหูสูตทั้งหลายท่านให้ความรู้นี่ละครับ

ที่เกริ่นมานี้ก็คือจะนำไปสู่เรื่องว่า เพิ่งไปร่วมงานสัมมนา “5 จี เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย” ที่กองบรรณาธิการมติชนเขาเป็นแม่งานจัดมาหมาดๆ

กบน้อยได้ออกนอกกะลา (อีกแล้ว)

ก็ตื่นเต้นเป็นธรรมดา

บรรดาท่านผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อยู่ในงานด้านนี้โดยตรง

ทั้งจาก กสทช. หัวเว่ย อีริคสัน และควอลคอมม์ มากันแบบจัดเต็ม

ปูพื้นให้แบบไม่รู้จัก 5 จี ก็มาเข้าคอร์ส 5 จี 101 กันในวันนี้

ฟังแล้วทะลุปรุโปร่งไปถึงไหนต่อไหน

และเช่นเคยครับ

ส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระจริงๆ นั้น เชื่อว่าท่านได้ชมได้อ่านกันเต็มอิ่มจุใจทั้งจากการถ่ายทอดสด การถอดคำบรรยายออกมาเป็นตัวอักษร ไม่ว่าจะจาก “มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ” ไปแล้ว

หรือถ้าวันนั้นมีกิจติดธุระอะไร ก็ลองไปหารับชม-หาอ่านย้อนหลังเอาได้

เดี๋ยวนี้นิ้วเดียวกดปุ่มก็หาข้อมูลได้เกือบทั้งโลก

ที่จะเอาหางอึ่งมาแพลมนิดหน่อยวันนี้

จึงแค่น้ำจิ้มเท่านั้น

ฟังบรรยายของท่านผู้รู้ทั้งหมดแล้วก็สรุปเอาเองดื้อๆ ว่า

1. 5 จี จะเป็นก้าวกระโดดอีกขั้นของเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม

เมื่อครั้งที่โลกกระโดดจาก 2 จี อนาล็อก มาเป็น 3 จี ดิจิตอลเต็มตัว

และได้โดนกันทั่วหน้าทุกคนเหมือนคราวที่แล้ว

ท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ยกตัวอย่างเอาไว้ 10 ภาคธุรกิจที่จะโดนผลกระทบแน่ๆ

ไม่ว่าจะการเงิน อุตสาหกรรม อสังหาฯ ค้าปลีก สุขภาพ ฯลฯ

กวาดตาดูที่จดไว้แล้วก็หัวร่อ

ก็นี่ไม่มีใครรอดไปได้เลย (นี่หว่า)

2. แต่ความต่างสำคัญของการก้าวกระโดดนี้น่าจะอยู่ที่ใครได้รับผลกระทบก่อน

หนที่ 2 จี โดดเป็น 3 จี ที่ลิ่วไปก่อนเลยก็คือพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งโลก

เมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยน ธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนตาม

ที่เขาเรียก Disruptive ก็คือตรงนี้

แต่หนนี้ที่จะโดนผลกระทบจาก 5 จีเข้าไปเต็มๆ ก่อน คือภาคธุรกิจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือการบริการ

แล้วผลนั้นถึงค่อยลงมาถึงชาวบ้านธรรมดา

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

หรือแนวโน้มของการตกงานชนิดมหาศาล

ถ้าไม่ปรับตัว

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. ปรารภเอาไว้เป็นการส่วนตัวหลังลงจากเวทีว่า

อยากให้รัฐบาลใช้เวลา 2 ปีก่อนที่ 5 จี จะเดินทางมาถึงจริงๆ ทำเรื่องหลักๆ สัก 2 อย่าง

หนึ่งคือ ปฏิรูปที่ดินด้านเกษตรกรรม

อีกหนึ่งคือ ขยายเขตชลประทานออกไปให้มากที่สุด

เพื่อเป็นร่างแหรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก 5 จี

ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้แรงงานทั้งหลายสูญเสียตำแหน่งงานไปในระยะสั้น

แม้ว่าโดยหลักการ คนตกงานเหล่านี้อาจจะกลับมามีงานใหม่ในระยะยาว ถ้ามีการปรับตัว เพิ่มพูนความรู้ ฝึกอบรมกันเข้มข้น

แต่เอาเข้าจริงแล้ว-ไม่ง่าย

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้สอดคล้องกับรากฐานของประเทศ ที่อย่างไรเสียก็ยังพึ่งพิงภาคเกษตรที่สามารถช่วย “ดูดรับ” คนตกงานจำนวนไม่น้อยได้

ก็ต้องเร่งปรับโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายรองรับเอาไว้แต่เนิ่นๆ

น่าคิดนะครับ

และเช่นเดิม

คำถามที่ตามมาทุกครั้งเมื่อมีการก้าวกระโดดทางวิทยาการก็ดี หรือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-ธุรกิจของโลกก็ดี

ก็คือ ไทยอยู่ตรงไหนในสมการนี้

จะเป็นทาสเทคโนโลยีแบบเชื่องชื่อ เขาทำอะไรก็ก้มหน้าก้มตาซื้อของเขามาใช้

ทำได้เท่าไหร่ก็ประเคนคืนเขาไปหมด

หรือจะเดินไปกับเขาแบบรู้เท่ารู้ทัน

มีความสามารถที่จะแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมได้

รีบคุยกันให้ไวๆ นะครับ

2 ปีนี่กะพริบตาไม่กี่หนก็พ้นแล้ว