ฐากูร บุนปาน : จอร์แดน

เวลาที่กบได้ออกนอกกะลาหนไหน

ก็ให้รู้สึกว่าฟ้ากว้างไกล อะไรก็ตื่นตาตื่นใจไปหมด

สรุปง่ายๆ ก็คือ เพิ่งกลับจากต่างประเทศมาน่ะครับ

หนนี้ไปเยือนจอร์แดนอย่างเป็นทางการ (ฮา)

ล้อเล่นน่ะ

ไปเที่ยวเปิดหูเปิดตาดูธรรมชาติและย้อนร้อยอารยธรรมของเขาน่ะครับ

สมใจอยากของกบ

จอร์แดนเป็นหนึ่งในประเทศที่สงบสุขดีที่สุดในตะวันออกกลาง

คือไม่มีสงครามกลางเมือง ไม่มีฐานที่ตั้งของกลุ่มก่อการร้าย

และยังมีร่องรอยประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนั้น ทั้งร่วมสมัย และที่ย้อนหลังไปได้นับพันปีให้ชมอยู่ทั่วประเทศ

ยังไม่นับความงามตามธรรมชาติ เช่น ทะเลทรายทางใต้ หุบเขาเขียวชอุ่มทางเหนือ ไปกระทั่งถึง “เดด ซี”

รายได้หลักของประเทศนี้ ส่วนหนึ่งจึงมาจากการท่องเที่ยว

ใครได้ไปขี่อูฐ-นอนดูดาวในทะเลทรายวาดิรัม

ไปชมความงามและความอลังการของ “นครสีกุหลาบ” เพตรา

ไปดูป้อมประวัติศาสตร์ยุคครูเสดอย่างเครัค-อัชลุน

หรือไปนอนลอยในน้ำที่เดด ซี

ก็ถือเป็นประสบการณ์ “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ได้ทั้งนั้น

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่น้อยกว่ากัน คือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ

ในฐานะที่จอร์แดนเป็นดินแดนพำนักของผู้อพยพ โดยเฉพาะจากปาเลสไตน์และซีเรีย จำนวนนับล้าน

แต่ยิ่งนานวัน ความขัดแย้งระหว่างยิว-อาหรับ อาหรับด้วยกัน ศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกาย

ไปจนถึงความจุ้นจ้านของมหาอำนาจอย่างสหรัฐ-รัสเซีย

ทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคซับซ้อนขึ้น

เงินช่วยเหลือจึงมาพร้อมกับเงื่อนไขที่ยุ่งยากขึ้น

หรือเผลอๆ ก็ตัดกันดื้อๆ

ความที่เป็นประเทศที่อัตคัดทรัพยากรธรรมชาติ

คือไม่มีน้ำมันเหมือนประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง

มีแต่โพแทสเซียม ฟอสเฟต และยิปซัมเป็นหลัก

เศรษฐกิจจอร์แดนจึงพึ่งสองขาข้างบน อันได้แก่ การท่องเที่ยวและเงินช่วยเหลือ

เศรษฐกิจพึ่งพาคนอื่นอย่างนี้ ถ้าระบบจัดการดีก็ดีไป

จัดการยังไม่ถึงขั้นก็มีปัญหา

เอาปัญหาว่าด้วยการท่องเที่ยวก่อน

ขยะครับ ปัญหาหมายเลขหนึ่ง

ไม่ว่าสถานที่ท่องเที่ยวแห่งไหน ลงว่าขยะเกลื่อนก็หมดท่า

อย่างในเพตรา ตั้งแต่ทางเข้าถึงเดอะ เทรเชอรี่ (ตึกสลักไปในหน้าผาอย่างอลังการที่คนทั่วโลกถือเป็นสัญลักษณ์ของเพตรา) นั้นพออาศัย

แต่พอเลยเดอะ เทรเชอรี่ไป ก็เกลื่อนเหมือนที่อื่นๆ

ชวนให้หมดอารมณ์เพราะบ่อนทำลายความสวยงาม

พอกลับมาถึงบ้านเรา เจอรัฐมนตรีวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ นำคณะไปร่วมกับชุมชนนั่นนี่ เก็บขยะในบ้าน ในที่ท่องเที่ยว บนทางผ่าน

ก็ชื่นใจ

การท่องเที่ยวไม่ว่าจะขายอะไร ธรรมชาติ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรืออื่นๆ (เว้นไว้ในฐานที่เข้าใจ)

สะอาด สะดวก ปลอดภัย

ยังเป็นหัวใจร่วม

ถึงจะเป็นประเทศสุขสงบ แต่ความที่ประชากรน้อย และทรัพยากรน้อย

น้ำมันก็ไม่มี

การลงทุนของจอร์แดนเมื่อเทียบกับประเทศในย่านนี้จึงถือว่าน้อยกว่าน้อย

แต่ถ้าคิดว่าปัญหาคือโอกาส

ความน้อยของจอร์แดนก็เป็นช่องทางได้

เอาแค่เห็นฟาร์มเลี้ยงไก่ในประเทศเขาแล้ว นึกถึงซีพี เบทาโกร สหฟาร์ม โกลเด้นฟู้ดส์ ฯลฯ ขึ้นมาทันที

ความสงบและการเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปถึงตลาดอิรัก ซีเรีย หรือปาเลสไตน์ ยังเปิดกว้างอยู่

ข้อมูลกว้างลึกกว่านี้ ลองสอบถามท่านพรพงศ์ กนิษฐานนท์ เอกอัครราชทูตไทยที่กรุงอัมมานดูได้ครับ

เป๊ะกว่าข้อมูลงูๆ ปลาๆ ตรงนี้เยอะ