กลัดกระดุมผิดเม็ด

หากมองจากมุมของรัฐไทยหรือโครงสร้างอำนาจส่วนบนของสังคมไทย

ดูเหมือนโจทย์ปัญหาอภิมหึมาที่สุดของสังคมการเมืองร่วมสมัย จะได้แก่การแสวงหาหนทางจัดการกับกลุ่มการเมืองที่ “ผิดแผกแปลกแยก” แต่ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่าง “พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล”

ทุกฝ่ายต่างคาดการณ์กันได้ล่วงหน้า ว่าแนวโน้มทางการเมืองใหญ่ที่จะเกิดขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ คือ การยุบพรรคก้าวไกล

เพื่อไม่ให้ประเทศ “เปลี่ยนแปลงเร็ว” เกินไป เพื่อไม่ให้ “อำนาจ-ความชอบธรรม” ไหลทะลักออกจากเงื้อมมือของผู้มีอำนาจกลุ่มเดิมๆ แบบถล่มทลายจนเกินไป

นี่เป็นปัญหาสำคัญที่ปรากฏชัดขึ้นในโลกทัศน์ของชนชั้นนำจำนวนหนึ่ง ซึ่งช่างตรงกันข้ามกับปัญหาหนักๆ อีกชุด ที่กำลังปรากฏขึ้นกับวิถีชีวิตและการรับรู้ของผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยร่วมสมัย

 

ตลอดช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมไทยได้มองเห็นปัญหาท้าทายอยู่ 2-3 เรื่อง ซึ่งเรายังไม่รู้ชัดว่ารัฐไทยจะแก้ไขหรือรับมืออย่างไร?

เรื่องแรก คือ ปัญหา “ฝุ่นพิษ PM 2.5” ทางภาคเหนือตอนบน ซึ่งถ้าฟังคำชี้แจงของตัวแทน ครม.ท่านหนึ่ง ในการอภิปรายทั่วไป ม.152 เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ดูเหมือนว่ารัฐ/รัฐบาลไทยจะยอมจำนน ด้วยการปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวต้องเกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี อย่างสาหัสขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้จะหามาตรการป้องกันหรือลดทอนปัญหาอย่างไรดี

เรื่องถัดมา คือ การค้นพบ “กากแคดเมียม” ที่ถูกลักลอบขนย้ายจากจังหวัดตาก ไปยังพื้นที่อุตสาหกรรมหลายแห่งของภาคกลางและภาคตะวันออก

นี่เป็นอีกปัญหาร้ายแรงที่สะท้อนถึงความย่อหย่อนของเจ้าหน้าที่รัฐหลายภาคส่วน ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพร่างกายของประชาชนในอนาคต ทว่า เรากลับยังไม่ได้รับฟังวิสัยทัศน์ในการรับมือ-จัดการกับปัญหาอย่างมีความหวังจากองคาพยพต่างๆ ของรัฐไทย

ไม่รวมถึงปัญหาใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ซึ่งเผยให้เห็นถึงดุลอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไป และพอจะมีเค้าลางแล้วว่า รัฐบาลทหาร-กองทัพกำลังอ่อนแอลง ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กลับเข้มแข็งขึ้น จนอาจนำไปสู่จุดเปลี่ยนหลายประการในวันข้างหน้า

มีหลายคนเรียกร้องอยากเห็น “ยุทธศาสตร์ใหม่” ของรัฐไทย ซึ่งมีต่อ “พม่าที่ไม่เหมือนเดิม” เนื่องจากประเทศของเรามีแนวพรมแดนขนาดยาวติดกับประเทศของเขา แต่สุดท้าย สังคมไทยก็ยังได้รับทราบท่าทีการสงวนจุดยืนแบบเดิมๆ ผ่านคาถา “เป็นกลาง” และ “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น”

 

ปัญหา 2-3 เรื่องนี้ บ่งชี้ว่าลำพังรัฐบาล ตลอดจนกลไก-องค์กรต่างๆ ของภาครัฐ อาจพินิจพิเคราะห์ “ปัญหาใหม่ๆ” ที่เกิดขึ้นได้ไม่ถ้วนถี่ ทั้งยังคิดสร้างสรรค์แผนการรับมือปัญหาได้ไม่รอบด้าน ยืดหยุ่น และรัดกุมเพียงพอ

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐไทยต้องพึ่งพาอาศัยและเปิดหูเปิดใจรับฟังการตรวจสอบ-ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม จากสถาบันอื่นๆ ในสังคมการเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคฝ่ายค้าน

เรื่องตลกร้ายที่ทุกคนทราบกัน คือ ขณะที่รัฐไทยไม่มีขุมกำลังทางสติปัญญามากพอจะแก้ไข “ปัญหาแปลกใหม่” หลายต่อหลายเรื่อง

รัฐไทยก็มีแนวโน้มจะทำผิดซ้ำอีกหนในเรื่องการยุบพรรคการเมือง (ที่ถูกประเมินว่ามีพฤติกรรมกร่อนเซาะบ่อนทำลายอำนาจรัฐ)

นี่เป็นวิธีการแก้ไขปัญหา ที่กลับเพิ่มเติมความยุ่งเหยิงและปัจจัยอันควบคุมไม่ได้ในทางการเมือง ทั้งยังลดทอนประสิทธิภาพในการเผชิญหน้าปัญหาด้านอื่นๆ ที่หนักหนาท้าทายภูมิปัญญาของกลุ่มผู้มีอำนาจมากขึ้นตามลำดับ

พูดอีกแบบได้ว่า รัฐไทยกำลังจะ “กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด” เป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน