กลับบ้าน

โดยปกติ เวลาเราพูดถึง “การกลับบ้าน” ความหมายที่ผูกโยงกับถ้อยคำนี้มักมีอยู่สองระดับชั้น

สำหรับคนธรรมดาทั่วไป “การกลับบ้าน” คือกิจวัตรประจำวัน ที่ต้องเกิดขึ้นสม่ำเสมอ ภายหลังการออกเดินทางไปทำงานตั้งแต่เช้าถึงเย็นหรือค่ำ

แต่สำหรับ “นักเดินทาง” บางคน ที่ออกเดินทางไกล ผจญภัยในโลกกว้าง หรือไปออกศึกทำสงคราม ในห้วงระยะอันยาวนาน

“การกลับบ้าน” ย่อมหมายถึงการกลับสู่พื้นที่ปลอดภัย การได้หลีกลี้จากภยันตรายของโลกภายนอก และการหวนคืนมาสัมผัสความรักความอบอุ่นท่ามกลางบุคคลคุ้นเคยในครอบครัว

พิจารณาความหมายเหล่านี้ “บ้าน” จึงเป็นพื้นที่รโหฐาน มีขอบเขตจำกัด ประกอบด้วยคนรู้จักที่ไว้ใจได้แค่ไม่กี่คน

ทว่า “การกลับบ้าน” อาจมีนัยยะความหมายสำคัญอีกประการหนึ่ง

“บ้าน” ในความหมายหลัง ไม่ได้เป็นแค่ “เคหสถาน” ไม่ใช่ที่ซุกหัวนอนของปัจเจกบุคคล หรือมิใช่พื้นที่เฉพาะของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง

หาก “บ้าน” ในที่นี้ อาจเป็นพื้นที่ใหญ่โตกว้างขวาง ซึ่งอาจกินพรมแดนทั้งจังหวัดหรือทั้งประเทศ “บ้านประเภทนี้” คือแหล่งบรรจุความทรงจำ ชัยชนะ ความงดงาม ความเรืองรอง เมื่อครั้งอดีต

“การกลับบ้าน” จึงหมายถึงการพยายามเดินทางย้อนคืนสู่ “ยุคทอง” ทำนองนั้น

 

ด้านหนึ่ง “การกลับบ้าน” ของอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” ก็คือการหวนคืนสู่พื้นที่ปลอดภัย สู่วงล้อมอันอบอุ่นเคยคุ้นของคนในครอบครัว ภายหลังการเดินทางไกล การเผชิญภยันตราย และการพลัดพรากที่ยาวนาน

แต่คล้อยหลังการได้กลับคืนสู่ “บ้านประเภทแรก” เพียงไม่นาน อดีตนายกฯ ก็เริ่มออกเดินทางไปยัง “บ้าน” อีกชนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น “บ้าน (เกิด)” ที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือ “บ้าน” ที่พรรคเพื่อไทย

นี่คือ “บ้าน” ที่เคยเป็นฐานที่มั่นทางการเมืองอันแข็งแกร่งของทักษิณและตระกูลชินวัตร เป็นพื้นที่แห่งชัยชนะ ความยิ่งใหญ่ และพื้นที่ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย

พูดอีกแบบได้ว่า “บ้าน” อีกหลังที่ทักษิณกลับไปหา ก็คือ “สังคมการเมืองไทย” นั่นเอง

 

ณ ขณะนี้ ทักษิณได้หวนคืนสู่ “บ้าน” ที่ชื่อว่า “สังคมการเมืองไทย” เรียบร้อย นอกจากนั้น คนในเครือข่ายอำนาจของทักษิณ-ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย ก็มีแนวโน้มว่ากำลังจะได้ “กลับบ้าน” หรือบางคนก็กลับมาล่วงหน้าแล้ว หลังต้องระเหเร่ร่อนเพราะวิกฤตการเมืองเสื้อสีเมื่อทศวรรษ 2550

อย่างไรก็ตาม ในความขัดแย้งทางการเมืองครึ่งหลังทศวรรษ 2560 กลับมีคนอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ยังมิได้ “กลับบ้าน”

พวกเขาคือ “ผู้คนหน้าใหม่ๆ” ที่ทยอยเข้ามาต่อสู้รณรงค์ทางการเมืองอย่างเข้มข้นในช่วงไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา

บางส่วนของผู้คนเหล่านี้ไม่ได้ “กลับบ้าน” ในความหมายที่เป็น “เคหสถาน” พวกเขาไม่ได้กลับไปเจอหน้าคนในครอบครัว (รวมถึงเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน) เพราะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

บางส่วนของคนเหล่านี้ไม่ได้ “กลับบ้าน” ที่ชื่อ “สังคมการเมืองไทย” เพราะต้องโทษในระดับ “ถูกประหารชีวิตทางการเมือง” (และยังมีอีกหลายคนที่กำลังจะประสบชะตากรรมเช่นนี้ในไม่ช้า)

บางคนหลีกเลี่ยงสภาวะ “ไร้อิสรภาพ” และโทษทัณฑ์ “ห้ามเข้าสังคมการเมือง” ข้างต้น ด้วยการหนีออกไปยัง “ต่างบ้านต่างเมือง”

ในอุดมคติขั้นสูงสุด “บ้านชื่อสังคมการเมืองไทย” จะเป็น “บ้านที่น่าอยู่” หรือ “บ้านที่น่ากลับ” จริงๆ ก็ต่อเมื่อประตูของบ้านหลังนี้ ได้เปิดกว้าง-โอบรับสมาชิกทุกคน จากทุกฝ่าย ทุกความเชื่อ •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน