‘เซลส์แมนโกอินเตอร์’ ชื่อ ‘เศรษฐา’

กว่าครึ่งปีผ่านไป หนึ่งในบทบาทที่โดดเด่นตามหน้าสื่อของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ก็คือ การตระเวนเดินสายไป ต่างประเทศ โดยเฉพาะการเปิดโต๊ะเจรจาหารือกับบรรดานักธุรกิจต่างชาติ

หนึ่งในบทสรุปรวบยอดที่ฉายภาพดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ก็คือ การขึ้นหน้าปกนิตยสาร “ไทม์” ของนายกรัฐมนตรี พร้อมคำพาดหัวปก “เดอะ เซลส์แมน”

บทบาทด้านนี้ดูจะเป็น “พันธกิจหลัก” ที่อยู่ในใจของเศรษฐามาเนิ่นนาน อย่างน้อย ก็ตรวจสอบได้จากบทสัมภาษณ์ที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเคยเปิดใจกับสื่อเครือมติชนตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว ก่อนที่เขาจะได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเสียอีก

ดังตัวอย่างคำสัมภาษณ์ 2 ท่อนต่อไปนี้

 

“ในอดีตอย่างน้อย 6 ปี หรือจะเรียก 8 ปีอะไรก็ตาม ที่รัฐบาลปัจจุบัน (รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา) ทำมา เรื่องของ Geopolitics หรือเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าทำให้ประชาชนผิดหวัง หรืออย่างน้อย ก็ทำให้ภาคธุรกิจผิดหวังมาก

“เหตุผลง่ายๆ นอกเหนือจากการประชุมอย่างเป็นทางการที่ทุกๆ ภูมิภาคจัดขึ้นมา ไม่ว่าจะเอเปคหรืออาเซียนก็ตามที ก็ทำกันไป แต่ที่มันจะได้เนื้อหาสาระจริงๆ ตั้งแต่สมัยไทยรักไทยหรือพลังประชาชน ที่เราทำมาได้ดี คือ ผู้นำสูงสุดของประเทศต้องออกไปเจรจาค้าขายเอง พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

“ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้า เราเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ เราเป็นประเทศที่เคยเป็น แล้วก็ควรจะต้องเป็นมหาอำนาจทางด้านการเกษตร การไปค้าขายสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ การดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทย ก็เป็นเรื่องที่เราต้องคำนึงถึง เรามีจุดดีหลายๆ อย่างที่ทางรัฐบาลนี้ (รัฐบาลประยุทธ์) ไม่ได้ไปโฆษณา…

“เราเคยเป็นดีทรอยต์ออฟเอเชียมาก่อน แต่ตอนนี้ มันก็เปลี่ยนถ่ายจากการผลิตรถสันดาปมาเป็นรถอีวี ทำยังไง? เทสลาเขาจะไปอินโดฯ หรือจะมาเมืองไทย? ได้ยินข่าวว่าอินโดฯ เป็นต่อตอนนี้

“เหตุผลแรกเพราะเขามีแร่ที่ทำแบตเตอรี่ได้ เหตุผลที่สอง ซึ่งเราสู้ได้แน่นอน คือ ผู้นำเขาออกไปค้าขายเอง เขาออกไปเจออีลอน มัสก์ เอง ออกไปคุยเอง เราไม่ได้ทำ ในอดีต เราไม่ทำ เราส่งเบอร์สามเบอร์สี่เบอร์ห้าไป เขาก็ส่งเบอร์สามเบอร์สี่เบอร์ห้ามาคุยกับคุณ มันเป็นธรรมดา

“อันนี้ เราต้องทำงานให้หนักขึ้น เราต้องเข้าใจว่าโลกมันเปลี่ยนไป เราไม่ได้อยู่แค่อาเซียนหรือประเทศไทย มันมีหลายขั้วอำนาจ เราเองเราก็ต้องเล่นให้เป็น”

Time Magazine //Photograph by Cedric Arnold for TIME

“(สมมุติถ้าวันหนึ่ง คุณเศรษฐาต้องเลือกดูงานด้านใดด้านหนึ่ง อยากดูแลกระทรวงใด? – ผู้สื่อข่าว) ต่างประเทศครับ

“คุณก็รู้ พรรคการเมืองนี่ เวลารัฐบาลใหม่เข้ามา เลือกตั้งจบ (มักมีคำถาม) กระทรวงการคลังคือใคร? ใครดูแลเรื่องคมนาคม? ใครดูแลเรื่องเกษตรฯ? ใครดูแลเรื่องพาณิชย์? ใครเป็นรัฐมนตรีพลังงาน? แต่คุณไม่เคยสนใจเลยนะ ว่าใครคือรัฐมนตรีต่างประเทศ?

“รัฐมนตรีต่างประเทศ ขอโทษเลยนะ ในสายตาของผู้สื่อข่าวหรือประชาชนทั่วไป เป็นกระทรวงเกรดซี แต่คุณไปดูสมัยก่อน สมัยท่านถนัด คอมันตร์ หรือว่าลูกศิษย์ลูกหาของท่านที่เติบโตเป็นใหญ่เป็นโตในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นท่านอานันท์ ปันยารชุน ท่านอาสา สารสิน ท่านวิทยา เวชชาชีวะ หรือหลายๆ ท่าน เป็นบุคคลที่น่านับถือและมีความสามารถสูง สมัยก่อนนะ

“จริงๆ แล้ว ผมคิดว่ากระทรวงการต่างประเทศจะต้องมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น ในการที่นำเราไปสู่ต่างประเทศให้ได้ เพราะฉะนั้น เรื่องกระทรวงการต่างประเทศ ต้องถูกให้ความสำคัญขึ้น เรื่องที่ต้องทำงานร่วมกับนักธุรกิจที่มีการค้าขายต่างประเทศ เราต้องนำทัพไป ต้องไปเจรจา เราต้องรู้ เรามีดีอยู่”

 

เมื่อพิจารณาถึงรูปแบบการทำงาน ณ ปัจจุบัน ของนายกฯ เศรษฐา สิ่งที่เกิดขึ้นดูจะเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีวางแผน เลือกสรร ไตร่ตรอง หรือกำหนดกรอบทำงานของตนเองมาเป็นอย่างดี

ปัญหามีอยู่ว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ประเมินการทำงานแบบนี้อย่างไร?

พวกเขาและเธอพึงพอใจกับบทบาท “เซลส์แมน” แห่งชาติของนายกรัฐมนตรีมากน้อยแค่ไหน?

รูปแบบการทำงานเช่นนี้จะหนุนส่งให้พรรคเพื่อไทยหวนกลับมาเป็น “ตัวเลือกอันดับแรก” ในใจคนไทยได้หรือไม่? •

 

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน