‘ความ (ไม่) ขัดแย้ง’ ของ ‘ไทย-ฟิลิปปินส์’

ประเด็นการวิวาทกันระหว่างกลุ่ม LGBTQ+ ชาวไทยและฟิลิปปินส์ที่ย่านถนนสุขุมวิทเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เปิด “บาดแผล” หลายร่องรอยให้สังคมได้เห็น

ตั้งแต่ช่องโหว่ที่นำไปสู่ “ธุรกิจสีเทา” (ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่ม “อาจ” มีส่วนรู้เห็น-ได้ประโยชน์) ปัญหาแรงงานต่างชาตินอกระบบ ไล่ไปถึงอารมณ์ความรู้สึก “ชาตินิยมแง่ลบ” อันเดือดดาลทะลักล้น ระหว่างประชาชนพลเมืองของชาติต่างๆ ร่วม “ประชาคมอาเซียน”

ท่ามกลางบรรยากาศน่าห่วงข้างต้น มีโอกาสชมบทสัมภาษณ์ของ “อาจารย์อัครพงษ์ ค่ำคูณ” หนึ่งในนักวิชาการไทยร่วมสมัยที่สนใจศึกษาเรื่องสังคมฟิลิปปินส์ จากรายการ “The Politics X ใบตองแห้ง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม

อาจารย์อัครพงษ์นำเสนอบริบทน่าสนใจ ซึ่งแวดล้อม “ความขัดแย้งที่สุขุมวิท” อยู่ 5-6 ประเด็น ดังต่อไปนี้

 

หนึ่ง สื่อหลักใหญ่ๆ ของประเทศฟิลิปปินส์ไม่ได้นำเสนอข่าว “กะเทยไทยทะเลาะกะเทยฟิลิปปินส์” ที่กรุงเทพฯ และถ้าจะมีการกล่าวถึงข่าวดังกล่าวบ้าง ก็ทำในรูปแบบการแปะลิงก์ข่าวจากสำนักข่าวภาษาอังกฤษของไทยเท่านั้น

สอง จากข้อมูลอย่างเป็นทางการตอนนี้ คนฟิลิปปินส์ที่ใช้ชีวิตในเมืองไทยมีจำนวน 7-8 หมื่นคน หลักๆ แล้ว พวกเขาเข้ามาทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ, บุคลากรในวงการสาธารณสุข (กลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์) และแน่นอนว่า คนอีกกลุ่มมาทำงานใน “ธุรกิจสีเทา”

นี่คือสภาพการณ์ที่ล้อไปกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีแรงงานเดินทางออกไปทำงานนอกประเทศจำนวนมหาศาล จนกลายเป็นหนึ่งในขาหลักของการหารายได้เข้าประเทศ

โดยแรงงานฟิลิปปินส์ที่ออกไปแสวงโชคยังต่างบ้านต่างเมือง สามารถสร้างรายได้รวมแล้วคิดเป็น 8.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เทียบเท่ากับการนำเอารายได้ของภาคการเกษตร, ภาคการประมง และกิจการป่าไม้ มาบวกรวมกัน

สาม อาจารย์อัครพงษ์ฉายภาพเปรียบเทียบอีกแง่มุมที่คมคายไม่น้อยว่า “คนฟิลิปปินส์คือคนไทยที่นับถือศาสนาคริสต์ (ส่วน) คนไทยคือคนฟิลิปปินส์ที่นับถือศาสนาพุทธ”

กล่าวคือ หากลองเอาศาสนาหลักของแต่ละประเทศออกไปจากการพิจารณา เราจะพบว่าผู้คนจากทั้งสองชาติมีวิธีคิด-ลักษณะนิสัย-ค่านิยม-วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันมาก

ทั้งเรื่องความกตัญญู รักชาติ เล่นพรรคเล่นพวก (รักเพื่อน) คอร์รัปชั่น การมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ (ถ้าไทยมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมไปกราบไหว้บูชา คนฟิลิปปินส์ก็ชอบเข้าไปสักการะรูปจำลองของพระเยซู ที่เชื่อถือกันว่าสามารถดลบันดาลโชคลาภได้ ไม่ต่างกัน)

และการยอมรับ-ยกย่องบุคคลกลุ่มเพศหลากหลาย โดยเฉพาะในทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมบันเทิง

อาจารย์อัครพงษ์ ค่ำคูณ

สี่ การใส่ใจเรื่องการต่อสู้ในประเด็นเพศสภาพ ต้องไม่ละเลยมิติเรื่อง “ชนชั้น” หรือสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย ดังจะเห็นว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นชนชั้นสูงมีเงิน อาจจะไม่มีปัญหาในการดำรงชีวิตและการทำมาหาเลี้ยงชีพสักเท่าใดนัก

ผิดกับผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนหาเลี้ยงชีพด้วย ที่จะพบเจอปัญหาต่างๆ จำนวนมาก ดังกรณีที่เกิดขึ้น ณ สุขุมวิท 11 เป็นตัวอย่าง

ด้วยเหตุนี้ ในสังคม “ไทย-ฟิลิปปินส์” ซึ่งมีความแตกต่างทางชนชั้นดำรงอยู่ชัดเจน บรรดาผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือใครก็ตามที่มาจากชนชั้นล่างหรือชนชั้นกลางระดับล่าง จึงต้องมุ่งมั่นหารายได้ให้มาก สร้างคอนเน็กชั่น-พวกพ้องให้เยอะ เพื่อรับประกันความอยู่รอดของตนเอง

 

ห้า ในด้านวัฒนธรรมบันเทิง ไทยกับฟิลิปปินส์มีวิถีและรสนิยมที่ต้องตรงกันหลายอย่าง ณ ปัจจุบัน ถ้าประเทศไทยมี “ลิซ่า แบล็กพิงก์” ฟิลิปปินส์เองก็มี “ซันดารา พัก” ที่ไปโด่งดังอยู่ในแวดวงเค-ป๊อปของเกาหลีเช่นกัน

นอกจากนี้ คนฟิลิปปินส์ยังชื่นชมชื่นชอบดาราไทยหลายราย อาทิ “มาริโอ้ เมาเร่อ” ในทางตรงกันข้ามกัน นักร้อง-นักแสดงดังๆ ของวงการบันเทิงไทยยุค 80-90 หลายคนก็เป็นชาวฟิลิปปินส์ที่โยกย้ายมาตั้งรกรากในเมืองไทย เช่น “ทูน หิรัญทรัพย์” “มาลีวัลย์ เจมีน่า” และ “คริสติน่า อากีล่าร์”

 

หก หากพิจารณาปัจจัยเรื่อง “ชาตินิยม” อาจารย์อัครพงษ์ตั้งข้อสังเกตว่า มวลชนไทยนั้นเปลี่ยน “ศัตรูประจำชาติ” มาตลอด ถ้าเมื่อก่อน “พม่า” คือศัตรูอันดับหนึ่ง ณ ตอนนี้ ก็มี “เขมร/กัมพูชา” เข้ามาแทนที่

คำถามที่ต้องคิด คือ การรักชาติด้วยการเกลียดชังคนอื่นหรือการหมั่นสร้างศัตรู นั้นจะนำไปสู่ลัทธิชาตินิยมที่ยั่งยืนจริงๆ หรือ?

กระนั้นก็ดี หากอารมณ์รักชาติแบบต้องการศัตรูเช่นนี้ยังเป็นแค่ “เรื่องสนุกเอามัน” ที่ใช้เหยียดกันอยู่ในโลกออนไลน์ นี่อาจไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าวิตกถึงขีดสุด

ตราบใดที่ภาครัฐยังมิได้รับเอาอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวไปแปรเป็นนโยบายการต่างประเทศ หลักสูตรการศึกษา หรือการสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน