‘ทักษิณ’ ในฐานะ ‘สัญลักษณ์การต่อสู้’

หลังรัฐประหาร 2549 จนถึงความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสีในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 2550

“ทักษิณ ชินวัตร” มีตัวตน “สองลักษณะ” อยู่ในสังคมการเมืองไทย

กล่าวคือ เขามิได้มีสถานะเป็นเพียงนักการเมืองผู้ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในระบบเลือกตั้ง, นายกรัฐมนตรีผู้ผลักดันความเปลี่ยนแปลงใหญ่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยผ่านนโยบายสาธารณะที่ก้าวหน้าหลายด้าน หรือผู้นำที่ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งถูกโค่นล้มลงจากอำนาจโดยกระบวนการรัฐประหารอันแสนอัปยศ เท่านั้น

แต่อีกด้านหนึ่ง ทักษิณยังเป็น “สัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่อทวงคืนระบอบประชาธิปไตย” ที่ถูกนำไปใช้สอย-แต่งแต้ม-หนุนเสริม-เชิดชูโดย “คนเสื้อแดง” จำนวนมหาศาล ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ก่อนจะแสดงพลังสูงสุดในช่วงปี 2552-2553 ผ่านการยกพลเข้ามาเรียกร้องประชาธิปไตยและหลักการหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเสมอกัน ถึงใจกลางเมืองหลวง

กว่าหนึ่งทศวรรษก่อน ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า “ทักษิณ ชินวัตร-พรรคเพื่อไทย” “คนเสื้อแดง” และ “การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” นั้นมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยยากที่จะแยกองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งออกจากองค์ประกอบอื่นๆ

นี่คือการหลอมรวมพลังการต่อสู้ ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่โบยบินข้ามขอบฟ้าจินตนาการของสังคมไทยในยุคนั้น และไปไกลเกินความคาดหมายของคนที่เคยชินกับวัฒนธรรมการเมืองไทยยุค 2520-2540

 

ดูเหมือน “แก้วสามประการของประชาธิปไตยไทย” ข้างต้น จะมีศักยภาพในการทวงอำนาจและความชอบธรรมทางการเมืองคืนมาได้สำเร็จ ผ่านการเลือกตั้งปี 2554

แต่ภายในเวลาเพียงแค่สามปี ก็เกิดรัฐประหารซ้ำ หลัง “รัฐบาลยิ่งลักษณ์-เพื่อไทย” สร้าง “ความผิดพลาดสำคัญ” ในประเด็น “นิรโทษกรรมสุดซอย”

ไม่มีใครคาดคิดว่า คณะรัฐประหารที่นำโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และหมู่คณะที่สืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารดังกล่าว จะตั้งมั่นอยู่ในอำนาจได้ยาวนานถึงร่วมๆ เก้าปี หรือเกือบหนึ่งทศวรรษ

ทว่า ผู้ติดตามการเมืองไทยจำนวนไม่น้อยก็อาจแปลกประหลาดใจเช่นกัน ที่พลังของ “ทักษิณ-คนเสื้อแดง” ไม่สามารถยืนหยัดปักหลักสู้เพื่อทวงคืนประชาธิปไตยได้อย่างเข้มแข็ง เหมือนดังช่วงต้นทศวรรษ 2550

เวลาผ่านไป กลับกลายเป็นพลังของ “คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในเมือง” ที่ผลิบานขึ้นท้าทายอำนาจของ “รัฐทหาร-เผด็จการจารีตนิยม” อย่างแข็งขัน เร่าร้อน ทะลุเพดาน โดยดำเนินสอดคล้องไปกับการถือกำเนิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่อย่าง “อนาคตใหม่-ก้าวไกล”

จุดเปลี่ยนที่บ่งบอกว่ายุคสมัยของการต่อสู้ทางการเมืองได้ผันแปรไปไม่เหมือนเดิมแล้ว ก็คือปรากฏการณ์ที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งปี 2566, เกิดการแตกตัวของคนเสื้อแดง ที่ฟากหนึ่งหันไปสนับสนุนก้าวไกล ขณะที่อีกส่วนยังเชียร์เพื่อไทย ไม่ว่าพรรคจะจับมือกับใคร และการได้กลับบ้านภายใต้ “เงื่อนไขพิเศษ” ของอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร”

 

ต้นปี 2567 ทักษิณได้หวนคืนสู่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” พร้อมได้ลิ้มรสชาติของอิสรภาพบนผืนแผ่นดินเกิด เป็นที่เรียบร้อยเสร็จสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าสงสัย คือ “ทักษิณ” จะยังเป็น “สัญลักษณ์การต่อสู้ทางการเมือง” ที่เข้มแข็งหรือทรงพลานุภาพมากน้อยเพียงใด? ในระบบนิเวศการเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมหาศาล

เมื่อเพื่อไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

เพื่อไทยต้องจับมือตั้งรัฐบาลกับ “พรรคลุงๆ” ที่ก่อตั้งมาเพื่อภารกิจสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร 2557 ซึ่งเท่ากับเป็นการลดทอนคุณค่า “ความเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม” ของตัวเองลงไป

เมื่อมองพินิจพิเคราะห์ดูผลงานของรัฐบาลหรือบทบาทต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎร ตลอดหกเดือนหลัง เพื่อไทยก็มิได้สำแดง “พลังกระตือรือร้น” ในทางการเมืองออกมา หากเทียบกับก้าวไกลที่ดูสู้กว่า-ก้าวหน้ากว่า

หรืออาจตั้งคำถามอีกแบบได้ว่า ถ้ายังมีสถานะเป็น “สัญลักษณ์แห่งการต่อสู้” อยู่ ทักษิณจะเป็นภาพแทนของการต่อสู้เพื่ออะไร?

ในห้วงเวลาที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นความหวังหนึ่งเดียวหรือความหวังหลักของประชาชน “ฝ่ายประชาธิปไตย”

ในยุคสมัยที่มี “อดีตคนเสื้อแดงชนิดเข้มข้น” บุกไปแสดงความผิดหวังต่อจุดยืนทางการเมืองปัจจุบันของทักษิณและเพื่อไทยถึงหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า

ในบริบทที่ “พี่สาววันเฉลิม” ไม่สามารถบุกเข้าไปทวงถามความยุติธรรมให้แก่ “น้องชายผู้หายสาบสูญ” ในวันที่ “สมเด็จฯ ฮุน เซน” บินมาเยือนเพื่อนรักชื่อทักษิณเป็นการส่วนตัว

เอาเข้าจริง ภาพลักษณ์ของอดีตผู้นำที่ถูกสื่อสารออกมาว่า “ป่วยหนัก-ร่างกายทรุดโทรม” ก็กำลังบอกกล่าวถึงความเป็นจริงอีกด้าน (โดยอาจไม่ได้ตั้งใจ) ว่า หากคิดจะหวนกลับมาเป็น “สัญลักษณ์” อะไรบางอย่างในทางการเมือง

ทักษิณ (ไม่ต่างจากพรรคเพื่อไทย) คงต้องบูรณปฏิสังขรณ์ตนเองขนานใหญ่ •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน