‘วัยรุ่น’ ที่ยืดยาว

“วันเด็ก 2567” ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไป ทำให้นึกถึงอีกหนึ่งประเด็นที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน นั่นคือเรื่องราวว่าด้วย “วัยรุ่น”

ตามความรับรู้ของผู้คนทั่วไป “วัยรุ่น” นั้นไม่ใช่ “เด็ก” แล้ว แม้ยังอาจถูกนับรวมเป็น “เยาวชน” อยู่

อย่างน้อยที่สุด ในวันเด็ก “วัยรุ่น” อายุเกิน 15 จนถึง 20 ต้นๆ ก็เดินเข้าไปที่ทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภา แล้วนั่งลงบนเก้าอี้ทำงานของนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภาแบบเล่นๆ ไม่ได้

อย่างไรก็ดี “วัยรุ่น” ก็ไม่ใช่สิ่งเก่าแก่ที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาแต่ดั้งเดิม หากดูจะเป็นประดิษฐกรรมที่เพิ่งสร้างขึ้นในสังคมสมัยใหม่

เพราะย้อนกลับไปในสมัยโบราณ ทั้ง “ชนชั้นนำ” ตราบจน “ไพร่-ทาส” ก็มักเติบโตจาก “วัยเด็ก” ไปสู่การเป็น “ผู้ใหญ่” ที่มีหน้าที่ทางสังคม และมีพันธะทางครอบครัวทันทีเลย โดยไม่มีห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านตรงการเป็น “วัยรุ่น”

“ความเป็นวัยรุ่น” แบบที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้ ดูจะเพิ่งแพร่กระจายกลายเป็นวัฒนธรรม-วิถีชีวิตปกติสามัญ ตลอดศตวรรษที่ผ่านมานี่เอง เมื่อการศึกษาของมวลชนแพร่ขยายไปถึงระดับมัธยม, สายอาชีพ และมหาวิทยาลัย

จนเกิด “คนหนุ่มคนสาว” ที่ยังอยู่ในวัยเล่าเรียน ยังไม่มีภาระรับผิดชอบเต็มที่ และยังมี “เวลาว่าง” มากพอจะทดลอง เที่ยวเล่น ผจญภัยได้อีกเยอะแยะ

 

มาถึง ค.ศ.2024 หรือ พ.ศ.2567 ดูเหมือนช่วงเวลาของการใช้ชีวิตแบบ “วัยรุ่น” จะยืดขยายยาวออกไปมากขึ้น หากพิจารณาผ่านปรากฏการณ์น่าสนใจจำนวนหนึ่ง

เช่น “งาน” จำนวนไม่น้อย ไม่ได้เปลี่ยนผ่านมนุษย์จากการเป็น “วัยรุ่น” ไปสู่ “วัยทำงาน” (ที่ต้องนั่งออฟฟิศ หรือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่-เจ้าคนนายคน) อย่างสมบูรณ์เต็มตัว

แต่ “งานหลายแขนง” อาทิ การเป็น “เซเลบออนไลน์” หรือ “วล็อกเกอร์ตามโซเชียลมีเดีย” กลับเปิดโอกาสให้มนุษย์ยุคนี้ สามารถสร้างรายได้ ชื่อเสียง ตัวตน ไปพร้อมๆ กับการได้ทดลองใช้ชีวิต เที่ยวเล่น กินดื่ม ผจญภัย ต่อไปเรื่อยๆ ท่ามกลางภาวะที่ “เวลาว่าง” ได้กลืนกลายเข้ากับ “วิถีการประกอบอาชีพ” แทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน

คล้ายคลึงกับการเกิดขึ้นของ “วัฒนธรรม-อุตสาหกรรมของเล่น” สำหรับผู้บริโภควัย 30-40 ปีขึ้นไป

เมื่อสินค้าที่เรียกขานกันว่า “อาร์ตทอย” นั้นไม่ใช่ “ของเล่นเด็ก” แน่ๆ ทั้งในแง่ราคาที่แพงเกินจะซื้อไปให้เด็กๆ เล่น และในแง่ลักษณะทางกายภาพ-รูปแบบการใช้สอย ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ “เล่น” กันจริงๆ มากเท่ากับการเป็น “สิ่งของตั้งโชว์” ประดับตู้

ไม่ต่างอะไรจากของเล่นตัวต่อพลาสติกยี่ห้อดัง “เลโก้” ที่เดี๋ยวนี้มีการเปิดร้านขาย (เฉพาะ) “เลโก้” สาขาต่างๆ ตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ หลายแห่ง ซึ่งถ้าผู้ใหญ่คนไหนเดินหลงเข้าไปดู นอกจากท่านจะตื่นตาตื่นใจกับโมเดลใหม่ๆ ที่ซับซ้อน ใหญ่โต สมจริงมากขึ้นแล้ว ท่านยังอาจตกใจกับราคาของ “ของเล่นประเภทนี้” ที่พุ่งทะลุไปถึงหลักหมื่น

“ของเล่นราคาสูง” เหล่านี้ ร่วมด้วย “ของเล่นอื่นๆ” ที่สอดแทรกอยู่ใน “เวลาว่าง” หรือ “วิถีชีวิตประจำวัน” ของ “มนุษย์วัยทำงาน” ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดเกม, เกมแฟนตาซีพรีเมียร์ลีก (ที่นายกรัฐมนตรี, นักการเมือง, นักธุรกิจใหญ่หลายคน ก็ยังเล่น) ตลอดจนโซเชียลมีเดียอย่างติ๊กต็อกและอินสตาแกรม ฯลฯ

ล้วนมีส่วนผลักดันให้ช่วงชีวิต “วัยรุ่น” ของพวกเรา ขยายถ่างออกไปมากขึ้นทั้งสิ้น

 

แม้แต่ในทางการเมือง ก็น่าสังเกตว่า นายกรัฐมนตรีสองท่านหลังของบ้านเรา ต่างเข้ารับตำแหน่งหรือเริ่มงานในวัยเกษียณ

ถามว่านี่คือสิ่งที่เคยมีมาก่อนในทางการเมืองหรือไม่? ก็ต้องตอบว่า “มี”

เพียงแต่ตลอดระยะเวลากว่า 90 ปีที่ผ่านมา ถ้าไปสำรวจดูอย่างละเอียด เราก็จะพบว่านายกรัฐมนตรีไทยที่เข้ารับตำแหน่งในวัยน้อยกว่า 60 ปี นั้นมีจำนวนใกล้เคียงกันกับนายกฯ ที่เข้ารับตำแหน่งในวัยเกิน 60 ปี

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน แนวโน้มอายุของผู้นำประเทศมักอยู่ที่ 40 กว่าๆ เท่านั้น

หรือในช่วงทศวรรษ 2550 อายุเฉลี่ยของผู้นำประเทศก็อยู่ในช่วง 40 กลางๆ เช่นเดียวกัน

สภาวะที่อายุเฉลี่ยของนายกรัฐมนตรีพุ่งไปถึง “วัยเกษียณ” นับแต่หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา บ่งบอกอะไรกับเราบ้าง?

ข้อแรก หากมองโลกในแง่ดี การแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าขึ้น และทรัพยากรบุคคล (ผู้มีกำลังทรัพย์และสถานะทางสังคมมั่นคง) ที่ดูแลสุขภาพตนเองดีขึ้น ได้ช่วยยืดขยาย “วัยทำงาน” ของมนุษย์ออกไป

กระทั่งหลายคนสามารถเข้ามารับตำแหน่งหน้าที่สำคัญระดับประเทศได้ ในช่วงวัยที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็น “วัยที่สมควรหยุดทำงานและถึงเวลาพักผ่อน”

ทว่า อีกแง่หนึ่ง เราก็มี “คนรุ่นใหม่ๆ” เข้ามาทำงานการเมืองเยอะขึ้น แถมยังได้รับคะแนนเสียงรับรองจากประชาชนที่ “ฐานราก” จำนวนมาก

กระนั้นก็ดี โครงสร้างอำนาจส่วนบนๆ ของสังคม กลับยังพร้อมใจกันเลือกพึ่งพา-ใช้บริการทรัพยากรมนุษย์วัย 60 ปีมากกว่า

คำถามคือ เฉพาะในปริมณฑลทางการเมือง สังคมไทยจะปล่อยให้คนวัย 30-40 ปี ที่พร้อมทำงาน ต้องกลายเป็น “วัยรุ่น” ที่เที่ยวเล่นหรือทำอะไรฆ่าเวลาไปเรื่อยๆ (ต่อให้พวกเขาลงมือทำอะไรจริงจัง ก็ยังถูก “ผู้ใหญ่” ประเมินว่าเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้ ของคนไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน) ไปอีกยาวนานขนาดไหน?

แล้วเมื่อไหร่ สังคมไทยจะเปิดประตูให้คนเหล่านี้มีโอกาสทำงานใหญ่งานสำคัญ โดยไม่ต้องรอคอยให้พวกเขามีอายุถึง “วัยเกษียณ” และเหลือพลัง-ความกล้าหาญ-ความคิดสดใหม่ อยู่เพียงน้อยนิด? •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน