2566 : อีกปีที่ ‘เปลี่ยนไม่ผ่าน’

ปราบต์ บุนปาน

พ.ศ.2566 ถือเป็นปีสำคัญอีกหนึ่งปีสำหรับสังคมไทย

หมุดหมายหลักของปีนี้ คือ เจตจำนงอันแน่ชัดที่ปรากฏผ่านผลเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งบ่งชี้ว่า ผู้คนจำนวนมากในสังคมต้องการ “ความเปลี่ยนแปลงใหญ่”

ใครก็ตามที่ไม่โกหกตัวเอง หรือไม่ได้จงใจแปลเจตนาของประชาชนแบบผิดฝาผิดตัวเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตนเอง ย่อมตระหนักได้ไม่ยากถึง “ความจริง” ข้อนี้

“ความจริง” ที่ว่าทุกฝ่ายควรร่วมมือกันแสวงหาหนทางเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง-ภาพใหญ่ของสังคม ให้ “เป็นธรรม” มากขึ้น “เหลื่อมล้ำ” ลดลง

สังคมไทยจะถูก “แช่แข็ง” เอาไว้ (แต่แฝงเร้นด้วยความตึงเครียดที่ทวีสูงขึ้นเรื่อยๆ) เหมือนเดิมตลอดเวลาไม่ได้

ถึงคราที่พวกเราจะต้องขยับเขยื้อนกันทั้งกระบวนเสียที

 

น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ในอีกราวครึ่งปีหลังจากนั้น ทุกคนต่างได้เป็นประจักษ์พยานของสภาวะ “เปลี่ยนแล้ว” แต่ “ไม่ผ่าน”

กล่าวคือ แทนที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะทดลองปล่อยให้ “กระบวนการความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งริเริ่มขึ้นโดยผลการเลือกตั้ง ได้ทำงานของมันไปตามวิถีครรลองปกติ ที่ควรเป็นและชอบธรรม

แต่กลับมีบางฝ่ายที่ดึงดันจะบิดดัดผลการเลือกตั้ง ผ่านสายสัมพันธ์ทางการเมือง-เศรษฐกิจรูปแบบเดิมๆ เพื่อชะลอหรือยับยั้ง “ความเปลี่ยนแปลง” ให้สะดุดหรือสงบนิ่งลงชั่วคราว

โดยมีข้ออ้างว่า ทุกอย่างที่ทำลงไปนั้นไม่มีอะไรที่ “ผิดกฎกติกา”

แต่หากถามว่าพฤติกรรม “ไม่ละเมิดกฎกติกา” ข้างต้น นั้นเป็นเรื่องเดียวกับการ “ไม่ละเมิดสัญญาประชาคม” ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่?

คำตอบก็ย่อมแปรผันไปอีกทางหนึ่ง

 

ในขณะที่โครงสร้างใหญ่ของสังคมถูกบังคับให้ “หยุดนิ่ง” โครงสร้างอำนาจรัฐถูกควบคุมเอาไว้ไม่ให้มี “พลวัต”

“กระแสความเปลี่ยนแปลง” ที่ก่อตัวมาพักใหญ่ กลับยังหลั่งไหลถั่งโถมเข้าหาสังคมไทยระลอกแล้วระลอกเล่า ไม่ยอมหยุดเคลื่อนไหว

จึงเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องมี “ที่ทาง” สำหรับ “ความเปลี่ยนแปลง” ระลอกล่าสุด ซึ่งอุบัติขึ้นเมื่อกลางปี 2566

น่าเสียใจ ที่ “ความเปลี่ยนแปลงผ่านผลการเลือกตั้ง” ได้ถูกแปรรูป-แปลงร่าง กลายเป็นการถือกำเนิดขึ้นของ “คู่ขัดแย้งใหม่” ในสังคมการเมืองไทย

“คู่ขัดแย้ง” ที่เคยเป็น “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ด้วยกัน

ท่ามกลางสภาวะที่ “พรรคประชาธิปไตย” พรรคหนึ่ง ถูกมองว่ายอมประนีประนอมกับอำนาจนอกระบบ กองทัพ และคนเคยทำ-สนับสนุนรัฐประหาร ส่วน “พรรคประชาธิปไตย” อีกพรรค คือ พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถูกถีบกระเด็นออกมาจากวงจรอำนาจ

หมายความว่า กระบวนการ “หยุดยั้งความเปลี่ยนแปลง” ในปี 2566 สามารถแยกทอน “พลังความเปลี่ยนแปลง” ให้แตกตัวและอ่อนกำลังลงได้ อย่างน้อย ณ ห้วงเวลาหนึ่ง

“ความขัดแย้งใหม่ทางการเมืองไทย” จึงเป็นผลลัพธ์ของการ “ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” โดยที่ “ความขัดแย้งหลักข้อเดิม” ก็ยังคงอยู่ มิได้สูญสลายหายไปไหน

 

ปี 2566 คือปีที่ทำให้เราได้สัมผัสถึง “ความหวัง” และเป็นปีที่ “น่าผิดหวัง” ไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตาม “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดและเติบโตขึ้นมาแล้วนับทศวรรษ นั้นยังดำรงอยู่ ดำเนินไป และถูกขยับขยาย-ค้ำจุนด้วยคนรุ่นใหม่ๆ ในบ้านเมือง ตลอดจนคนรุ่นเก่าๆ ที่เริ่มเปลี่ยนความคิด เพราะตระหนักรู้ว่าทั้งตนเองและคนรุ่นหลังจะจมอยู่กับอดีตอันแน่นิ่งต่อไปไม่ได้

แม้ฝ่ายที่ “ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง” จะดูยืนหยัดได้ยาวนาน และมีศักยภาพในการแก้เกมการเมืองได้ทุกเม็ด คล้ายมีเคล็ดวิชาก้นหีบมาใช้สอยได้อย่างไม่มีวันหมด

ส่วนฝ่าย “โอบรับความเปลี่ยนแปลง” ต้องเคลื่อนไหวกันในระยะสั้นๆ ชั่วครั้งคราว ผ่านม็อบบ้าง ผ่านหีบเลือกตั้งบ้าง ผ่านรัฐบาลประชาธิปไตยที่ไม่มีทางอายุยืนเป็น 8-9 ปี (เพราะโดน “รัฐประหาร” ก่อน ไม่ว่าด้วยรถถังหรือกลไกแนบเนียนอื่นๆ)

แต่ถ้าให้ทั้งสองฝ่ายสบตากัน แล้วมองทะลุซึ่งกันและกันในทุกมิติ ณ ปลายปี 2566

ภาพที่จะปรากฏก็คือ ขณะที่ “แก่นแกน” ในตัวตนของฝ่ายแรก แลดูว่างเปล่าร่อยหรอลงเรื่อยๆ มองไม่เห็นอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ “แก่นแกน” ในตัวตนการต่อสู้ของฝ่ายหลัง กลับแตกตัวออกไปไม่รู้จบ และยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมปี 2567, 2568, 2569… จึงยังมีคุณค่าที่คู่ควรแก่การรอคอย •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน