‘ปัญหาโครงสร้าง’ ที่ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ต้องเผชิญ

แผนเดินหน้าฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจในระยะสั้น ด้วยการเปิดประตูต้อนรับ “นักท่องเที่ยวจีน” ตลอดจนการเปิดตัวประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติครั้งแรก ดูจะ “สะดุด-ชะงัก-ติดขัด” ไปไม่น้อย

เมื่อเกิดเหตุการณ์กราดยิงผู้คนที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสองรายเป็นชาวจีนและชาวเมียนมา โดยมีผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนอายุเพียง 14 ปี

ถามว่านี่คือปัญหาที่รัฐบาลชุดนี้ก่อขึ้นใช่หรือไม่? ก็ต้องตอบว่า “ไม่ใช่”

แต่นี่คือปัญหาที่ “รัฐบาลเศรษฐา-เพื่อไทย” ยากจะหลีกเลี่ยง และสมควรจะเข้าไปพยายามแก้ไข

คงไม่ผิดนัก หากประเมินว่าเหตุการณ์ที่พารากอนคือหนึ่งใน “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ไม่ว่าเราจะรู้สึกอย่างไรกับคำคำนี้ จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม

“ปัญหาเชิงโครงสร้าง” หมายถึง “ชุดปัญหา” ที่ยึดโยง “ปัญหาหนึ่ง” เข้ากับอีก “หลายๆ ปัญหา” ทั้งที่หากมองเผินๆ จากพื้นผิวภายนอก ปัญหาทั้งหมดเหล่านั้นคล้ายจะไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

แน่นอนที่สุด ถ้าประเมินกรณี “โศกนาฏกรรมที่พารากอน” ตรงรูปธรรมเบื้องต้น เราก็จะพบเจอปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงปัญหาเรื่องอาวุธปืน อย่างฉับพลันทันที

ทว่า ยิ่งพินิจพิเคราะห์ โศกนาฏกรรมดังกล่าวกลับยิ่งนำพาเราไปเผชิญหน้ากับเรื่องราวมากมายที่สลับซับซ้อนกว่านั้น

 

ไม่กี่ชั่วโมงหลังเหตุการณ์ “แพะ” ตัวแรกที่ถูกสื่อหลายสำนักกล่าวถึง คือ “เกมคอมพิวเตอร์”

แต่คำถามตามมาก็มีอีกเยอะแยะ เช่น เกมต่างๆ ใน “โลกเสมือนจริง” มีส่วนกำหนด “พฤติกรรมในโลกความเป็นจริง” ของผู้เล่นจริงๆ หรือ? ถ้าเกมสามารถส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลบางราย แสดงว่าเขาต้องมีปัญหาอื่นๆ รุมเร้าสภาพจิตใจอยู่เป็นทุนเดิมด้วยหรือไม่?

หรือสังคมควรมีท่าทีอย่างไรกับเกม? เพราะด้านหนึ่ง เกมก็มักเป็นจำเลยรายแรกๆ ที่เรานึกถึง เวลาเกิดคดีความที่มีเยาวชนเป็นผู้ก่อความรุนแรง แต่อีกด้าน เราก็เพิ่งได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขัน “อี-สปอร์ต” ในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์

เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าตัดเกมออกไป ก็อาจยังมีสื่ออีกหลายประเภทที่ส่งมอบ “อิทธิพลด้านลบ” ต่อผู้บริโภคได้อยู่ดี

หากผลักกรณีตัวอย่างไปให้ไกลสุด ก็พึงตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อาวุธ (จากเงินภาษี) ปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองจนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แถมยังลอยนวลพ้นผิดมาได้กรณีแล้วกรณีเล่า นั้นถือเป็น “แบบอย่างที่ไม่ดี” ให้แก่ปัจเจกชนรายอื่นๆ ในสังคมด้วยหรือไม่?

เรื่อง “ปืน” ก็เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันได้หลากหลายแง่มุม

แน่นอน เราประจักษ์ชัดเจนว่าสังคมไทยกำลังมีปัญหาเรื่องการ “ครอบครองอาวุธปืน” แต่รายละเอียดปลีกย่อยใต้พรมก็แผ่ขยายไปกว้างไกลกว่านั้น

ตั้งแต่การซื้อ-ขายอาวุธปืนได้อย่างง่ายดายในโลกออนไลน์, การที่เยาวชนมีช่องทางในการเข้าถึงอาวุธร้ายแรง รวมถึงปัญหาการตรวจหาอาวุธในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหละหลวมอย่างไม่น่าเชื่อ

แม้รูปธรรมของ “โศกนาฏกรรมที่พารากอน” จะเป็นเรื่องการมีคนพกพาปืนไปทำร้าย-ทำลายชีวิตผู้อื่น แต่คำถามที่ไม่ควรถูกหลงลืมมองข้าม ก็คือ มีปัจจัยเบื้องลึกอะไรบ้างที่ผลักดันให้ “ผู้ก่อเหตุ” เลือกนำอาวุธไปมุ่งร้ายเพื่อนร่วมสังคม ซึ่งตนไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวมาก่อน?

 

สถานการณ์ร้ายแรง ณ สยามพารากอน ยังเกี่ยวโยงกับปัญหาเรื่อง “การศึกษา” โดยเฉพาะประเด็นถกเถียงว่าด้วย “การศึกษาทางเลือก”

หลายทศวรรษก่อน “โรงเรียนทางเลือก” รวมทั้ง “โฮมสคูล” ถือกำเนิดหรือถูกนำเข้ามาในสังคมไทย ผ่านแนวคิดที่ว่าการศึกษาในระบบ ผนวกด้วยค่านิยมเรื่องการกวดวิชา-เรียนพิเศษ เพื่อบรรลุเป้าหมายปลายทางในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยปิด (เอ็นทรานซ์) นั้นมิได้สร้าง “ชีวิตที่ดี” ให้กับเด็ก ที่ควรได้ “เรียน-เล่น” อย่างผ่อนคลาย ยืดหยุ่น เป็นอิสระ

ในบริบทปัจจุบัน ค่านิยม-วัฒนธรรมทางการศึกษาในหมู่คนชั้นกลาง-คนชั้นสูงไทยเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เมื่อพ่อแม่หลายครอบครัวตัดสินใจส่งลูกๆ เข้าศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาในอุดมคติก็กลายเป็นมหาวิทยาลัยเมืองนอก ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเมืองไทย

พร้อมๆ กันนั้น โรงเรียนมัธยมรูปแบบเดิมที่เคยสั่งสมชื่อเสียง (และคอนเน็กชั่น) มาหลายสิบหรือถึงหลักร้อยปี ก็ไม่ใช่ทางเลือกหลักทางเดียว ในยุคที่มีโรงเรียนที่มุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการแบบเฉพาะด้านอย่างเด่นชัดกว่า ทั้งที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยและองค์กรเอกชนยักษ์ใหญ่

ทั้งยังมีโรงเรียนทางเลือกที่ปรับเปลี่ยนตัวเองมาจากโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งมิได้วางเป้าประสงค์ไว้ที่ “การเรียน-เล่น” อย่างผ่อนคลายเป็นอิสระ แต่ให้น้ำหนัก-คุณค่ากับ “การสอบ” อย่างเข้มข้นจริงจังขึ้นไปอีก

น่าสนใจว่า “เยาวชนไทย” เติบโตขึ้นมาอย่างไรในโลกของ “ค่านิยม” และ “ความตึงเครียด” เหล่านี้?

รูปธรรมอันน่าเป็นห่วงที่ปรากฏต่อหน้าเราแล้ว ก็คือ ด้านหนึ่ง เรารู้จักเยาวชนอย่าง “หยก” ที่เผยให้เห็นปัญหาชุดหนึ่ง อีกด้าน เราก็มี “เยาวชนวัย 14 ปี” ที่เปิดโปงให้เห็นปัญหาใหญ่อีกชุดหนึ่ง

นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่รัฐบาลจำเป็นต้องลงไปคลุก ชน และหาทางสะสาง อย่างยากที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบ

ทั้งในฐานะ “ผู้มีอำนาจ” และ “ผู้ใหญ่” ของสังคม •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน