‘ซอฟต์เพาเวอร์’ ยังไง?

นโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์” คือหนึ่งนโยบายหาเสียงที่โดดเด่นแปลกใหม่ในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งกลายมาเป็นนโยบายระดับเรือธงข้อหนึ่งของ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน”

ล่าสุด รัฐบาลได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีนั่งเก้าอี้ประธานเอง และมี “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นรองประธาน มีรัฐมนตรีว่าการ 9 กระทรวง ร่วมเป็นคณะกรรมการ

แถมยังมีมันสมองของพรรคเพื่อไทยอย่าง “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” และ “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” รวมทั้งตัวแทนภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมในซูเปอร์บอร์ดซอฟต์เพาเวอร์ชุดนี้

โดยมี “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” หรือ “หมอเลี้ยบ” ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ

กระนั้นก็ดี คนส่วนใหญ่ในสังคมน่าจะยังงุนงงสงสัยว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” นั้นหมายถึงอะไรกันแน่? ทำไมนี่จึงกลายเป็นนโยบายใหญ่มากของรัฐบาล? และรัฐบาลชุดนี้จะผลักดันเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร?

นี่เป็นภาระที่ซูเปอร์บอร์ดซอฟต์เพาเวอร์และรัฐบาลจะต้องเร่งทำการบ้าน และอธิบายความให้ประชาชนรับทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีคอนเทนต์จำนวนมากในโลกออนไลน์ที่เผยแพร่เนื้อหา-ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่อง “ซอฟต์เพาเวอร์”

ดังกรณีตัวอย่างความคิดเห็นที่น่าสนใจและน่ารับฟังต่อไปนี้

สุจิตต์ วงษ์เทศ

“คุณอย่าลืมนะ ทุกวันนี้ คุณมาคลั่งพูดกันเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ใช่ไหม คุณไม่มีวันจะทำซอฟต์เพาเวอร์ได้ ตราบใดที่การศึกษาคุณยังแคบตีบ คุณยังกดขี่ทางเพศ คุณยังกดขี่ความเป็นคน”

สุจิตต์ วงษ์เทศ

คลิป ถกเถียงประเด็นปัญหา “ซอฟต์เพาเวอร์” จากเพื่อไทย ถึง “สุจิตต์ วงษ์เทศ”

ช่องยูทูบ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว

ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร

“อันนี้ (นโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์”) ต้องบอกว่าเป็นโปรเจ็กต์ที่เขา (รัฐบาล) พูดแล้วมันใหญ่มาก ว่าจะมารีสกิลคน 20 ล้านคน ผมยังนึกไม่ออกว่ามันจะทำอย่างไรเหมือนกัน

“คือการที่เราจะมีซอฟต์เพาเวอร์ เราต้องการทำหน่วยเล็กถึงขนาด 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์หรือเปล่า? นึกออกไหมครับว่า ครอบครัวอาจารย์ (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์) จะเป็นซอฟต์เพาเวอร์ทางด้านไหนดี

“ผมยังมองไม่เห็นรูปธรรมจริงๆ ว่าซอฟต์เพาเวอร์ที่เขาต้องการ ที่ว่าจะรีสกิลนี่มันคืออะไร? จริงๆ แล้วประเทศไทยมีเสน่ห์ แล้วก็มีวัฒนธรรม มีศิลปะ ที่สามารถส่งออกส่งเสริมไปสู่ต่างประเทศได้มากอยู่แล้ว

“ขนาดปัจจุบัน พวกซีรีส์วายที่รัฐบาลอาจจะไม่ได้ส่งเสริมอะไรเลย ก็ยังไปโตได้อย่างออร์แกนิก (ได้รับความนิยมด้วยศักยภาพของตัวเอง) ที่จีน ที่ญี่ปุ่น ที่ไต้หวัน เขาก็ดูกันเยอะแยะมากมาย อะไรพวกนี้มันเป็นซอฟต์เพาเวอร์อย่างหนึ่งอยู่แล้ว

“เราน่าจะลองดูอะไรที่เรามีศักยภาพในลักษณะนี้ (แล้ว) ส่งออกวัฒนธรรม เรามีศิลปิน เรามีงานศิลปะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลง ภาพยนตร์ รายการทีวีโชว์อะไรต่างๆ”

ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ส.ส.พรรคก้าวไกล

คลิป รายการมีเรื่องมาเคลียร์ by ศิโรตม์ คุยกับ ดร.โจ ก้าวไกล “ควิก-วิน” พายุหมุนหรือไต้ฝุ่น?

ช่องยูทูบ มติชนทีวี

รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม

“(ซีรีส์) วายไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เรามีทุกอย่างครับ เราขายเก่ง ผมว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วายไทยประสบความสำเร็จ ย้ำอีกครั้งหนึ่งก็คือเรามีโมเดลอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกันจากหลายฝั่ง คือเรามีทั้งฝั่งวรรณกรรม แล้วก็วัฒนธรรมสกรีน (ภาพยนตร์-ซีรีส์)

“วัตถุดิบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในซีรีส์วาย มันเกิดจากฝั่งวรรณกรรม อันนี้เราจะลืมไม่ได้ เพราะฉะนั้น อีกประเด็นหนึ่ง สำหรับการพัฒนาซอฟต์เพาเวอร์ คือเราจะพัฒนาแต่ซีรีส์ไม่ได้ ต้องพัฒนาบทด้วย เราต้องพัฒนาบทที่จะกลายเป็นซีรีส์ เราอาจจะต้องเทรน (ฝึกอบรม) หรือให้เงินสนับสนุนในฝั่งอุตสาหกรรมวรรณกรรม เพื่อให้เรามีบทดีๆ เพื่อให้เรามีวัตถุดิบดีๆ ที่จะพัฒนาเป็นซีรีส์ได้

“ผมคิดว่าวายไทยในอนาคตข้างหน้า ก็คืออาจจะโอบรับความเป็นโกลบอล (วัฒนธรรมโลก) มากขึ้น อย่างปัจจุบันเราจะเห็นการร่วมทุนสร้าง อย่างกรณีไทย-จีน เราอาจจะเห็นโมเดลการร่วมทุนใหม่ๆ หรือความร่วมมือปัจจุบันก็มีแล้ว อย่างเช่น การทำสัญญาระหว่างบริษัทในไทยกับญี่ปุ่น หรือไทยกับเกาหลี เราเห็นแล้ว แต่ว่าตัวผลผลิตเราอาจจะยังไม่เห็นชัดมาก แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตเราจะมี

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้วายไทย ในฐานะสินค้าวัฒนธรรมหรือซอฟต์เพาเวอร์ไปต่อได้ ก็คือเราต้องปลดแอกตัวเองออกจากกรอบของชาติ คือเราเป็นวายไทยก็จริง แต่เราก็เป็น “โกลบอลวาย” (อุตสาหกรรมวายของโลก) ด้วย คือเราก็สามารถไปเชื่อมต่อกับประสบการณ์ของผู้ชมในหลายๆ ภูมิภาคได้

“แต่ขณะเดียวกัน เราก็อาจจะเป็นไทยที่มันมีหลากหลายเวอร์ชั่นมากขึ้น ไม่ได้เป็นไทยเดียวแบบเดี่ยวๆ คือจินตนาการเกี่ยวกับความเป็นไทยอาจจะต้องมีหลากหลายมากขึ้น แล้วมันจะแสดงให้เห็นว่าเราโอบรับคนอื่นที่อยู่ในโลกอย่างไร”

นัทธนัย ประสานนาม อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ •

คลิป รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม : วิวัฒนาการของซีรีส์วาย จากคนดูเฉพาะกลุ่ม ขยายสู่วงกว้าง

ช่องยูทูบ FEED

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน