‘ขี้เหร่’ ให้มันเท่ๆ หน่อย | ปราปต์ บุนปาน

“อันนี้มันของธรรมดา ผมก็พูดง่ายๆ ว่า บางครั้งรู้สึกว่าเขาไม่ค่อยให้โอกาสผม แต่ผมพูดไม่ได้ เพราะเราเชิญเขามาแล้ว…

“ไม่อึดอัด สบายดี หายใจโล่ง แต่อยากรู้ว่าอย่างน้อย 12 ตำแหน่งที่ผมได้จับ ปรับ คนโน้นคนนี้แล้ว ทำหน้าทำตาออกมาไม่สวยหรอก ขี้เหร่นิดหน่อย”

นี่เป็นคำสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 ของ “สมัคร สุนทรเวช” นายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชาชนในสมัยนั้น ต่อประเด็นว่าด้วยหน้าตาของ “ครม.สมัคร 1” ที่ถูกวิจารณ์ว่ามีหน้าตาเข้าขั้น “ขี้เหร่”

เอาเข้าจริง หน้าตาที่ “ขี้เหร่” ของคณะรัฐมนตรีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับรัฐบาลผสม ซึ่งไม่มีใครมีอำนาจนำ (โดยเฉพาะอำนาจในการจัดสรรผู้คนลงตำแหน่งต่างๆ) แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ขนาด “รัฐบาลสมัคร 1” เมื่อต้นปี 2551 ที่วางฐานอยู่บนชัยชนะในสนามเลือกตั้งปลายปี 2550 ของพรรคพลังประชาชน ยังถูกคนเป็นหัวหน้ารัฐบาลชุดนั้นวิจารณ์ตัวเองว่า “ขี้เหร่นิดหน่อย”

“ครม.เศรษฐา 1” ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งๆ ที่เป็นพรรคการเมืองอันดับสองในสนามเลือกตั้ง 2566 ย่อมเผชิญเงื่อนไข-ข้อจำกัดไม่แตกต่างกัน หรืออาจหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า เมื่อคำนึงถึงอำนาจต่อรอง ซึ่งจะลดน้อยถดถอยลงไปอีก ตามประสารัฐบาล “สลายขั้ว”

แม้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน “เศรษฐา ทวีสิน” จะมีบุคลิก-การพูดจา-ภูมิหลังที่ผิดแผกจากอดีตนายกฯ สมัคร ลิบลับ

การออกมาบ่นดังๆ ว่า ครม.ของตัวเอง “ขี้เหร่” ต่อหน้าสื่อมวลชน จึงไม่มีทางเกิดขึ้น

แต่หน้าตาของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่อาจมีริ้วรอย-จุดน่าตำหนิอยู่ไม่น้อย ก็คือ “สภาพความเป็นจริงทางการเมือง” ที่ปฏิเสธได้ยากเหลือเกิน

 

แม้หน้าตา-ภาพลักษณ์รวมๆ ที่ค่อนข้าง “ขี้เหร่” ของ “ครม.เศรษฐา 1” จะเป็นเรื่องที่จัดการ-ปรุงแต่ง-ปรับเปลี่ยนได้ยาก (จะทำศัลยกรรม ก็ทำไม่ได้)

แต่เรื่องหนึ่งที่สังคมพึงคาดหวังจากรัฐบาลชุดใหม่-ผู้นำประเทศคนใหม่ ก็คือ การลงมือสานต่อให้คำมั่นสัญญาข้อใหญ่ๆ ในทางการเมือง ที่ถูกประกาศออกมาระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง และได้รับการรับรองจากประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนนับสิบล้านคน ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

เรื่องแรกๆ ที่คงถูกทวงถาม คือ การปลดล็อกประเทศจากกฎกติกาอันบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญ 2560

ถ้าคิดและมองปัญหาอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาก หนทางที่ดีที่สุด แฟร์ที่สุด และชัดเจนที่สุด ในการแก้ปัญหานี้ ก็คือ การมี ส.ส.ร. ที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน เข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ซึ่งหมายถึงการเปิดโอกาสให้เขียนกฎกติกาใหม่ได้ทุกมาตรา แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปแก้ไข-ยกเลิกของเก่าที่ยังใช้งานได้อยู่เสียทั้งหมดแบบยกชุด)

คำถามคือ จะมีอุปสรรคและความไม่ตรงไปตรงมาอีกมากน้อยแค่ไหน ที่คอยขัดขวาง-ฉุดรั้งวิธีการ “หยุดวิกฤตรัฐธรรมนูญ” ด้วยแนวทางอันเรียบง่ายเช่นนี้?

 

เรื่องถัดมา แม้นโยบาย “ปฏิรูปกองทัพ” จะถูกกร่อนลงเป็น “การพัฒนาร่วมกัน” ไปเสียแล้ว (ซึ่งหวังว่าจะไม่ได้หมายถึงการมีอำนาจสั่งการได้แค่หน่วยทหารพัฒนาหรือทหารช่าง)

แต่ก็ยากจะทำลายความทรงจำร่วมที่ว่า นโยบาย “ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” ซึ่งริเริ่มโดยพรรคก้าวไกลนั้น ได้รับการขานรับและ “เอาด้วย” โดยพรรคเพื่อไทย

ด้วยเหตุนี้ การมี รมว.กลาโหม ชื่อ “สุทิน คลังแสง” ซึ่งเป็นทั้งพลเรือน เป็น ส.ส.หลายสมัยจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องจาก “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ให้เป็นแบบอย่างของนักอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งยังเป็นเจ้าของนิทานเปรียบเทียบเรื่อง “ศาลพระภูมิกลางหมู่บ้าน” ที่กล้าหาญและชวนขบคิดเมื่อไม่กี่ปีก่อน

จึงยิ่งทำให้สังคมคาดหวังว่า เรื่อง “ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” จะต้องถูกตั้งไข่ในรัฐบาลชุดนี้

มิเช่นนั้น คำถามว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” มีไว้ทำไม? (แตกต่างอย่างไรกับปลัดกระทรวงกลาโหมและจเรทหารทั่วไป?) ย่อมบังเกิดขึ้น

 

เรื่องที่สาม แม้แนวทางการพุ่งชนเพื่อ “ทลายทุนผูกขาด” จะเป็นเครื่องหมายการค้าของก้าวไกล แต่ใช่ว่าบุคลากรของเพื่อไทย (ที่มักถูกมองว่าเก่งเรื่องเศรษฐกิจปากท้องมากกว่า) จะไม่เคยแตะต้อง-วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำตลอดช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ที่ความร่ำรวยมั่งคั่งอย่างก้าวกระโดดกระจุกตัวอยู่กับทุนใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า

ตัวนายกรัฐมนตรีเศรษฐาเอง ก็เคยถูกประเมินว่าเป็นนักธุรกิจใหญ่รุ่นกลาง ที่มีหัวสมัยใหม่ อยู่ฝ่ายเสรีนิยม และมิได้เออออกับการกินรวบประเทศของทุนยักษ์

ได้ยินมาว่าผู้นำคนใหม่มีไอเดียที่จะปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ ภายหลังจากการลดค่าไฟและลดราคาน้ำมันลงด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี ภาพข่าวนายกฯ พบปะ “นายทุนใหญ่ๆ” ด้วยบรรยากาศเชิงเฉลิมฉลอง กลับมีสถานะเป็นข่าวพีอาร์เน้นคอนเน็กชั่นในหน้า “สังคมธุรกิจ” อยู่นานร่วม 24 ชั่วโมง ก่อนที่เนื้อหาสาระของการหารือจะปรากฏตามมาภายหลัง

กระบวนการสื่อสารสาธารณะลักษณะนี้ ส่งผลให้ภาพลักษณ์การเข้าไปต่อรองกับอำนาจทุน หรือการต่อสู้เพื่อกระจายความมั่งคั่งจากคนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ มาสู่ประชาชนอีกกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ แลดูอ่อนพลังลงพอสมควร

 

นับจากนี้ หน้าตาของ “รัฐบาลเศรษฐา” ที่ดูไม่ดีนัก จะค่อยๆ กลายเป็นเรื่องรอง ซึ่งปราศจากความสำคัญ

หากรัฐบาลในภาพรวม และโดยเฉพาะผู้นำรัฐบาล สามารถแสดงศักยภาพให้ประชาชนเห็นว่า พวกตนได้ลงมือสานต่อสัญญาประชาคมข้อใหญ่ๆ อย่างเต็มกำลัง แข็งขัน ต่อรองให้คนส่วนมากได้ประโยชน์เยอะที่สุด ต่อสู้บนหลักการประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด

เข้าทำนอง “ขี้เหร่ไม่เป็นไร แต่ว่าให้มันเท่ๆ หน่อย”

แต่ถ้าทำเรื่องใหญ่ทางการเมืองไม่สำเร็จสักอย่าง ความล้มเหลวดังกล่าวก็จะไปขยี้บาดแผล “ความขี้เหร่” ให้ขยายใหญ่ยิ่งขึ้น •