ยังเหลือใครให้นับถือ?

ก่อนหน้านี้ ค่อนข้างเบื่อที่บุคคลสาธารณะหลายคนชอบเปรียบเทียบ “การเมืองไทยปัจจุบัน” กับ “สามก๊ก” แบบจับแพะชนแกะ ไม่ค่อยถูกฝาถูกตัว หรือบางรายอาจไม่เคยอ่าน “สามก๊ก” จริงๆ จังๆ ด้วยซ้ำ

ส่วนตัว เคยคุยเล่นกับมิตรสหายในโซเชียลมีเดียว่า การเมืองไทยตอนนี้มันมีบรรยากาศคล้ายๆ เรื่องราวในนิยายกำลังภายในเรื่อง “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ของ “กิมย้ง” มากกว่า

มีเพื่อนคนหนึ่งเห็นด้วยและโพสต์เสริมว่า เกมชิงอำนาจทางการเมืองไทยขณะนี้ไม่ใช่สงครามยิ่งใหญ่อะไร แต่ดูเป็นการแย่งฉวยผลประโยชน์กันระหว่างหมู่ตึกต่างๆ

เพื่อนอีกคนหนึ่งถามว่า แล้วใครในสังคมการเมืองไทยที่จะรับบทเป็น “วิญญูชนจอมปลอม งักปุกคุ้ง”

ผมตอบว่า การเมืองไทยสมัยนี้น่าจะไม่มีคนอย่าง “งักปุกคุ้ง” มีแต่เพียงผู้คนจำพวกสำนัก “ซงซัว/ซงซาน” ที่แย่งชิงอำนาจ-ผลประโยชน์กันแบบไม่ต้องเสแสร้งประพฤติตนเป็นคนดีให้มากความ

ในความรับรู้ทางสาธารณะ “สังคมการเมืองไทยร่วมสมัย” กับ “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ดูจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น จากโพสต์เฟซบุ๊กปริศนาของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ในค่ำคืนก่อนที่เขาจะประกาศอำลาตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ภายหลังพรรคเพื่อไทยแสดงจุดยืนชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคสองลุง

 

กระนั้นก็ดี การเทียบเคียงการเมืองไทยกับนิยายกำลังภายในเรื่องนี้คงดูไม่ค่อยมีมิติมากนัก ถ้าเรายังวนเวียนอุปมาเปรียบเปรยโดยยึดโยงกับตัวละครดังๆ อย่าง “เหล็งฮู้ชง/เล่งฮู้ชง” และ “งักปุกคุ้ง” เป็นหลัก

เพราะยังมีตัวละครอื่นๆ และสถานการณ์อีกมากมายใน “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ที่น่านำมาส่องสะท้อนสังคมการเมืองไทย

ฉากหนึ่งในนิยายเรื่องนี้ที่ผมประทับใจมากเป็นพิเศษ คือ เหตุการณ์ตอนที่ “ยิ่มอั้วเกี้ย” อดีตหัวหน้านิกายสุริยันจันทรา (หรือประมุขพรรคมาร) ซึ่งโดนยึดอำนาจ หวนคืนยุทธภพ แล้วบุกไปเผชิญหน้า-ประลองฝีมือกับชาวยุทธระดับชนชั้นนำฝ่ายธรรมะที่วัดเส้าหลิน/เสียวลิ้มยี่

ที่วัดเส้าหลิน ยิ่มอั้วเกี้ยเอ่ยประเมินชาวยุทธที่ตนเอง “นับถือเลื่อมใส” ว่ามีอยู่แค่ “สามคนครึ่ง”

อันดับหนึ่ง ได้แก่ “ตังฮึงปุกป่าย/ตงฟางปุ๊ป้าย” ซึ่งเป็นบุคคลที่ทำรัฐประหารแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้านิกายไปจากเขา แถมยังจับยิ่มอั้วเกี้ยไปขังในคุกมืดใต้ทะเลสาบ

ยิ่มอั้วเกี้ยนับถือเลื่อมใสความร้ายกาจและสติปัญญาในการดำเนินกลเกมการเมืองของตังฮึงปุกป่าย

อันดับสอง คือ “เจ้าอาวาสปึงเจ่ง” แห่งเสียวลิ้มยี่ เพราะแม้จะมีพลังการฝึกปรือถึงขั้นสูงสุด แต่ก็มีจิตใจเมตตาและอ่อนน้อมถ่อมตน

อันดับสาม เป็น “ฮวงเช็งเอี้ยง/ฟงชินหยาง” สุดยอดฝีมือฝ่ายกระบี่ของสำนักฮั้วซัว/หัวซาน ที่เร้นกายหายจากยุทธภพไปนานหลายสิบปี หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายกระบี่กับฝ่ายลมปราณในสำนัก

บุคคลรายสุดท้ายที่อดีตประมุขพรรคมารนับถือเลื่อมใสเพียง “ครึ่งหนึ่ง” ก็คือเจ้าสำนักบู๊ตึง “ชงฮือเต้าเจี้ยง” ที่แม้มีพลังฝีมือสูงเยี่ยม แต่มีจุดอ่อนอยู่ตรงการไม่ฝึกอบรมศิษย์ บุคลากรรุ่นถัดไปในสำนักจึงไร้ซึ่งความโดดเด่น

อย่างไรก็ตาม ต่อมา ยิ่มอั้วเกี้ยจะเพิ่มความนับถือต่อนักพรตผู้นี้ขึ้นเป็น “เจ็ดส่วน” (ยังไม่เต็มคนอยู่ดี) หลังเจ้าสำนักบู๊ตึงแสดงสปิริตยอมแพ้แก่เหล็งฮู้ชงในการประลองยุทธ โดยให้เหตุผลว่าตนเองเคยประมือกับมือกระบี่รุ่นหลังเมื่อไม่กี่วันก่อน และยังคงหาวิธีคลี่คลายทำลายเพลงกระบี่ของอีกฝ่ายไม่ได้

อดีตหัวหน้านิกายสุริยันจันทรายังบอกด้วยว่า นอกจากนั้น ก็มีชาวยุทธที่เขา “ไม่นับถือเลื่อมใส” อีก “สามคนครึ่ง” ซึ่งกิมย้งเล่นกลกับผู้อ่านด้วยการเขียนถึงตัวละครกลุ่มนี้ไว้แค่รายเดียว นั่นคือ “จ้อแนเซี้ยง” เจ้าสำนักซงซัว ซึ่งแม้จะมีฝีมือสูง ความคิดอ่านลึกซึ้ง มีปณิธานทางการเมืองอันยิ่งใหญ่ แต่กลับชอบวางแผนการชิงอำนาจแบบลับๆ ล่อๆ จนไม่น่านับถือ

ส่วนชาวยุทธ์ที่เหลือ ซึ่งไม่ติดอยู่ในกลุ่ม “สามคนครึ่งที่น่านับถือเลื่อมใส” และ “สามคนครึ่งที่ไม่น่านับถือเลื่อมใส” ก็คือ คนที่ไร้คุณค่าและไม่อยู่ในสายตาของยิ่มอั้วเกี้ยนั่นเอง

 

ท้ายสุด แม้ว่ายุทธภพใน “กระบี่เย้ยยุทธจักร” จะไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “สังคมการเมืองไทยร่วมสมัย”

ไม่มีตัวละครรายไหนในนิยายกำลังภายในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นภาพแทนเถรตรงของนักการเมืองไทยคนใดในโลกความจริง

แต่ฉากการประเมินค่าชาวยุทธ์ของยิ่มอั้วเกี้ยก็อาจนำไปสู่คำถามสำคัญได้ว่า หากเราลองสวมบทเป็นอดีตหัวหน้านิกายสุริยันจันทรา แล้วเดินเข้าไปยังแหล่งชุมนุมของนักการเมือง-ผู้มีอำนาจในเมืองไทยยุคปัจจุบัน

จะยังมีใครบ้างที่เราสามารถ “นับถือเลื่อมใส” ได้ แม้เพียงสัก “ครึ่งคน” ก็ยังดี?

มีใครบ้างที่เรา “ไม่สามารถนับถือเลื่อมใส” ได้?

และมีใครบ้างที่ปราศจากคุณค่าในสายตาเรา? •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน