‘ขวาเก่า’ ผู้ต่อสู้กับ ‘กังหันแห่งความเปลี่ยนแปลง’ | ปราปต์ บุนปาน

หลังเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม ผู้คนหลายฝ่ายได้ออกมาเรียกร้องหาพรรค/กลุ่มการเมือง “อนุรักษนิยมใหม่” ในประเทศนี้

ถ้ามีใครถามว่า ความท้าทายของ “อนุรักษนิยมใหม่” ในสังคมไทยร่วมสมัยคืออะไร?

โดยส่วนตัว คิดว่ากลุ่มก้อนทางการเมืองดังกล่าวมีพันธกิจสำคัญหลักๆ อยู่สองประการ

ประการแรก คือ การธำรงรักษา “คุณค่าสูงส่งดั้งเดิม” ที่ตนเองยึดถือเอาไว้ให้ได้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

พวกท่านจะธำรงรักษา “คุณค่า” นี้ได้ ก็ต่อเมื่อพวกท่านสามารถให้คำอธิบายชัดๆ อย่างเป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผล ได้ว่า “คุณค่า” ข้างต้น มีหน้าที่-ประโยชน์อย่างไรต่อสังคมไทยยุคใหม่

ประการที่สอง ฝ่าย “อนุรักษนิยมใหม่” ควรพยายามสร้างกระบวนการทางการเมือง ที่จะช่วยให้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคม ดำเนินไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รวดเร็วจนซัดล้างทำลายสิ่งเดิมๆ ไปเสียทั้งหมด

พันธกิจของพวกท่านมิใช่การ “ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง” แต่คือการพาสังคมให้เดินหน้าไปแบบสุขุมและมีสติ

น่าเสียดายว่า จนถึงเดือนกรกฎาคม เรายังไม่เห็น “ฝ่ายอนุรักษนิยมเก่า” หรือ “ฝ่ายขวาไทย” ที่เพิ่งแพ้เลือกตั้งมาอย่างขาดลอย ริเริ่มภารกิจทำนองนี้

กระทั่งการประกาศวางมือของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็เป็นเพียงการยอมรับว่าตนเองเป็น “ของหมดอายุ” ในสังคมการเมือง แต่ยังไม่ใช่การแผ้วถางหนทางใหม่ๆ ให้แก่ “อนุรักษนิยมไทย” อย่างชัดเจน

มิหนำซ้ำ ท่าทีล่าสุดของ ส.ว.หลายท่าน และองค์กรอิสระ ที่มีต่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และพรรคก้าวไกล ก็คล้ายจะขยับเคลื่อนสวนทาง-ย้อนศรกับการวิวัฒน์ไปสู่ “ความเป็นอนุรักษนิยมใหม่”

 

สิ่งที่พวกเรากำลังมองเห็นในสังคมไทย ก็คือ บรรดาเครือข่ายผู้ถือครองอำนาจรัฐ ที่อำนาจความชอบธรรมหรืออาญาสิทธิ์ทางสังคม-วัฒนธรรมร่อยหรอลงทุกทีจนแทบไม่หลงเหลือ กลับยืนกรานจะรักษา “คุณค่าสูงส่งดั้งเดิม” เอาไว้ โดยไม่ไยดีกับความเปลี่ยนแปลง ที่ได้รับการอนุมัติ-ยืนยันจากประชาชนหลายสิบล้านเสียงเลย

พวกท่านไม่พยายามจะเชื่อมสิ่งเก่าเข้าหาสิ่งใหม่ แต่มุ่งมั่นจะแช่แข็งสิ่งเดิมๆ เอาไว้ในสถานภาพและตำแหน่งแห่งที่ดั้งเดิมตราบนิจนิรันดร์ ทั้งๆ ที่บริบทและสภาพแวดล้อมล้วนผันแปรไปเกือบหมดแล้ว

แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลเดิม (ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มาจากประชาชน) ก็ยังปรับตัวเป็น “อนุรักษนิยมใหม่” ไม่สำเร็จ เพราะจุดยืนการไม่ร่วมสังฆกรรมและไม่โหวตเลือกนายกฯ ที่มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพวกเขา นั้นดูเชื่องช้า-ไม่ทันการณ์

กระทั่งเมื่อเปรียบเทียบกับแคมเปญที่ดารา-คนดัง “ฝ่ายขวา” กลุ่มหนึ่ง ออกมารณรงค์เรื่องการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ แม้จะเหลือคนยืนเพียงรายเดียวก็ตาม

แคมเปญยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ บ่งชี้ว่า พันธกิจในการรักษา “คุณค่าสูงส่งดั้งเดิม” ของ “อนุรักษนิยมไทย” กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายแห่งยุคสมัยที่ไปไกล แหลมคม และแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน มากกว่าเรื่อง ม.112 หลายเท่า

ทว่า พรรค/นักการเมืองฝ่ายขวา ยังตีกรอบตัวเองอยู่ในโจทย์ปัญหาเก่าๆ ของเมื่อราว 1-2 ทศวรรษที่แล้วอยู่เลย

นอกจากนั้น แทนที่จะช่วงชิงการนำ แล้วค่อยๆ พาสังคมไทยเดินหน้าไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างเยือกเย็น เหล่าผู้ถือครองอำนาจรัฐกลับแสดงตนเป็นผู้ใหญ่ที่ดื้อรั้น ขัดขวางความเปลี่ยนแปลงอย่างหัวเด็ดตีนขาด และดับเครื่องชนกับความเปลี่ยนแปลงเสียอย่างนั้น

นับเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายพากันเลือกเดินบนเส้นทางสายนี้

 

ข้อเขียนหนึ่งที่อธิบายบรรยากาศของสังคมการเมืองไทยในช่วงเลือกตั้งได้อย่างน่าประทับใจ คือ ข้อเขียนของ “หนุ่มเมืองจันท์” ที่มาพร้อมวรรคทอง

“ท่ามกลางสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง บางคนสร้างกำแพง บางคนสร้างกังหัน”

เวลาผ่านมาราวสองเดือน ดูเหมือนสถานการณ์ทางการเมืองจะเขยื้อนไปไกลกว่านั้นอีกระดับหนึ่ง

กล่าวคือ เราพอจะตระหนักได้ว่า มีคนรุ่นใหม่ๆ คนหน้าใหม่ๆ จำนวนไม่น้อย อาสาเข้ามาก่อสร้าง “กังหัน” เพื่ออำนวยความเปลี่ยนแปลงให้เดินหน้าไปอย่างราบรื่น จนสำเร็จเรียบร้อย

“กังหัน” ดังกล่าวจะช่วยให้ “สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง” ดำเนินไปตามระบบ-ระบอบ ผ่านสถาบันทางการเมืองอย่างพรรคการเมือง โดยมิได้มุ่งใช้กำลังและความรุนแรง มิได้ทุ่มเทพลังความสามารถไปกับการเคลื่อนไหวบนท้องถนนเป็นหลัก (แม้จะรับพลังสืบเนื่องมาจากม็อบเยาวชนก็ตาม)

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ถือครองอำนาจรัฐ (ซึ่งน่าจะถูกนิยามเป็น “ขวาเก่า” ไม่ใช่ “อนุรักษนิยมใหม่”) ไม่เพียงแต่จะสร้าง “กำแพง” แข่งกับ “กังหัน”

หากพวกท่านยังบุกพุ่งเข้าไปประจัญบานฟาดฟันกับ “กังหัน” เพราะหลงคิดว่ามันเป็นยักษ์ร้าย เป็นภยันตราย เป็นอริราชศัตรู โดยสลัดโลกความจริงทิ้งอย่างสิ้นเชิง

บทความชิ้นนี้ไม่ได้ยกย่องว่าพวกท่านกำลังต่อสู้กับ “กังหัน” ด้วยอุดมคติ ความใฝ่ฝัน อันงดงามบริสุทธิ์ห้าวหาญ ประดุจ “ดอน กิโฆเต้”

แต่อยากเตือนว่า พวกท่านกำลังถูกมองเป็นคนแก่ดื้อด้าน ที่ออกไปต่อยตีทะเลาะเบาะแว้งกับ “กังหันแห่งความเปลี่ยนแปลง” ด้วยอคติ ความยึดติด และจิตใจอันมัวเมาที่ถลำลึกลงสู่ด้านมืดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ •

 

ของดีมีอยู่