มวลชนเปลี่ยน พรรคการเมืองเปลี่ยนแค่ไหน? | ปราปต์ บุนปาน

เพิ่งได้ชมรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ตอนล่าสุดทางช่องยูทูบมติชนทีวี โดยในช่วงหนึ่งของรายการดังกล่าว “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” อดีตแกนนำ นปช. และผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ได้แสดงทรรศนะว่าด้วยเรื่องพลวัตทางการเมืองของ “คนเสื้อแดง” และผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ไว้อย่างน่าสนใจ

ดังนี้

 

“ผมว่าคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยเป็นคะแนนที่ลงให้กับพรรคก้าวไกล แต่ถ้าจะให้ประเมินเป็นสัดส่วน ผมว่าส่วนใหญ่ยังสนับสนุนพรรคเพื่อไทยอยู่

“เพียงแต่ว่าเมื่อคะแนนของคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นก้อนที่มากเหมือนกันนะที่ไปสนับสนุนพรรคก้าวไกล ไปบวกกับคะแนนของคนหนุ่มสาวของคนรุ่นใหม่ หรือแม้กระทั่งคนที่เคยเห็นต่างกับคนเสื้อแดงเห็นต่างกับพรรคเพื่อไทยมาหนุนเสริม จึงเป็นคะแนนอันดับหนึ่ง

“อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องเคารพการตัดสินใจและยอมรับกัน ผมเจอพี่น้องคนเสื้อแดงก็หลายคน ที่บอกกันตรงๆ ว่ายังรักกันเหมือนเดิม ห่วงใยกันเหมือนเดิม แต่เที่ยวนี้ขอเปลี่ยนการตัดสินใจลงคะแนน เข้าใจได้ครับ ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง ผมเจอพี่น้องที่มาบอกแบบนี้ ซึ่งผมเคารพในวิถีทางและการตัดสินใจดังกล่าว

“เหตุผลเพราะว่าคนเสื้อแดงคือคนที่ผ่านการต่อสู้ ผ่านความเจ็บปวด ผ่านการดูถูกเหยียดหยามมามากมาย ดังนั้น การตัดสินใจใดๆ ก็ตามทางการเมือง จึงเป็นสิทธิ์โดยชอบ และเป็นเรื่องที่เราผู้ถูกเรียกว่าแกนนำต้องเคารพและเรียนรู้

“สำหรับผม ผมคิดว่าคะแนนของคนเสื้อแดงอาจจะเดินออกจากพรรคเพื่อไทยไปได้อีก ในขณะเดียวกัน ก็มีโอกาสที่จะเดินกลับมาได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับแนวทางทางการเมือง

“ขณะที่พรรคก้าวไกลก็มีสิทธิ์ที่จะกวาดคะแนนจากทุกฝ่ายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ว่าเมื่อได้รับโอกาสจากประชาชนแล้ว สามารถที่จะดำเนินการทางการเมืองหรือทางการบริหาร ตามที่ถูกคาดหวังไว้ได้หรือเปล่า

“ทั้งหมดมันเป็นเรื่องของการเดินทาง พรรคเพื่อไทยเมื่อเจอสภาพการณ์แบบนี้ ก็ต้องสรุป ประเมิน เรียนรู้ และปรับตัวครั้งใหญ่ พรรคก้าวไกลเขาก็ต้องมีบทสรุปเหมือนกัน ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันได้มาอย่างไร และถ้าจะได้ไปต่อ ให้มันเพิ่มขึ้นมากขึ้น จะต้องทำแบบไหนบ้าง ผมว่านี่คือความตรงไปตรงมาและความสวยงามของวิถีทางประชาธิปไตย

“ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม คนเสื้อแดงถูกมองว่าเป็นของตายของพรรคการเมืองไหน ผมก็ไม่เห็นด้วย ผมไม่ยอมรับแบบนั้น ใครก็ได้ที่อยากได้คะแนนของคนเสื้อแดงก็ต้องทำให้เขาเชื่อ ทำให้เขาเห็น และพิสูจน์ตัวเองให้ได้ มันก็เป็นแบบนี้

“ถ้าการเลือกตั้งครั้งถัดๆ ไป จะมีพรรคการเมืองอื่นๆ นอกจากเพื่อไทยและก้าวไกล ประกาศตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และมีแนวทางที่แหลมคม ต้องตรงใจ ต้องตรงอุดมการณ์ หรือความต้องการของคนเสื้อแดงมากกว่า คะแนนก็อาจจะไหลจากเพื่อไทย ไหลจากก้าวไกลไปอีกพรรคนั้นก็เป็นได้ มันเป็นแบบนี้

“อย่างที่ผมเคยพูดบนเวทีชุมนุมแต่ไหนแต่ไรมา ว่าคนเสื้อแดงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับหรือบงการของใคร พรรคไหน เป็นการเฉพาะ แต่เขาไปตามวิถีทางที่เขาคิด วิถีทางที่เขาเชื่อ

“หลักใหญ่ใจความก็คือการตัดสินใจเลือกทางการเมือง ถ้ามีเหตุผลหรือมีหลักการที่ถูกต้องรองรับ ผมว่าไม่มีตรงไหนผิด เพียงแต่ว่าสถานการณ์มันเปลี่ยน เหตุการณ์มันพัฒนาไป การพิสูจน์ทราบของแต่ละคนแต่ละพรรคมันเพิ่มขึ้นชัดขึ้น การตัดสินใจของผู้คนก็อาจจะเกิดขึ้นแบบเดิมหรือเกิดขึ้นแบบใหม่ ก็เป็นไปได้”

 

จากการวิเคราะห์ของณัฐวุฒิ กระบวนการตัดสินใจทางการเมืองในแต่ละห้วงเวลาของ “คนเสื้อแดง” นั้นมีพัฒนาการ มีความไหลเลื่อนเคลื่อนไหว (เช่นเดียวกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ ในประเทศนี้) ไปตามบริบทการต่อสู้อันผันแปร

องค์กรที่ต้องได้รับแรงกระแทก-ผลกระทบจากพัฒนาการข้างต้นอย่างจังๆ และตรงๆ เป็นอันดับแรก ก็คือพรรคการเมือง

เรื่องที่น่าตั้งคำถาม ณ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญยุคปัจจุบันมีอยู่ว่า พรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบใหญ่จากความเปลี่ยนแปลงของมวลชนคนเสื้อแดงและประชาชนจำนวนมหาศาลนั้น ได้สรุปบทเรียนความพ่ายแพ้และประเมินตัวเองไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว?

รวมถึงสามารถหยัดยืนตั้งหลักเพื่อหวนกลับคืนสู่ที่ทางที่ถูกที่ควรได้หรือยัง? •

 

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน