คุณค่า-ความหมาย ของ ส.ส.เขต ‘ก้าวไกล’ | ปราปต์ บุนปาน

จังหวะเกมการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ดูจะทำให้คนส่วนใหญ่ลอยเคว้งคว้างอยู่ท่ามกลางความคาดหวังและความไม่มั่นใจทางการเมือง แล้วพลอยละเลยรายละเอียดน่าสนใจหลายประการที่ปรากฏผ่านผลการเลือกตั้งไปอย่างน่าเสียดาย

เช่น จนถึงตอนนี้ หลายคนน่าจะยังไม่ทราบข้อมูลว่า “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” อดีต ส.ส. 9 สมัย และอดีต รมว.ศึกษาธิการ เพิ่งสอบตกในสนามเลือกตั้งนครศรีธรรมราช เขต 7 โดยได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 4 ด้วยคะแนนไม่ถึง 9 พันคะแนน

ส่วน “อลงกรณ์ พลบุตร” อดีต ส.ส. 6 สมัย และอดีต รมช.พาณิชย์ ก็พ่ายแพ้การเลือกตั้งในสนามเพชรบุรี เขต 1 โดยได้รับเลือกเป็นอันดับ 5 ด้วยคะแนนราว 4 พันคะแนน

ขณะที่ “ธีระ สลักเพชร” อดีต ส.ส. 5 สมัย และอดีต รมว.วัฒนธรรม ที่หวังจะแก้มือหลังจากพลาดท่าได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ในสนามเลือกตั้งจังหวัดตราดเมื่อปี 2562 ก็ได้คะแนนเพียงประมาณ 7 พันคะแนน ในการเลือกตั้งปี 2566 และได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 6 ในพื้นที่ที่ตนเองเคยยึดครองเกือบสองทศวรรษ

ไม่ต่างจาก “วิรัช ร่มเย็น” อดีต ส.ส.ระนอง 8 สมัย ที่เคยพลาดท่ามีคะแนนเป็นอันดับ 3 ในการเลือกตั้งปี 2562 ก่อนจะถอยกรูดลงมาเป็นอันดับ 6 ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่ถึง 2 พันคะแนน ในปี 2566

ด้านหนึ่ง ความพ่ายแพ้ของอดีต “ส.ส.รุ่นเก๋า” จากพรรคประชาธิปัตย์เหล่านี้ อาจถูกสบประมาทโดยบางคน ว่าเป็นเพราะ “เสาไฟฟ้า” ยุค “นายหัวชวน” ได้เสื่อมสิ้นมนต์ขลังลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว

โดยส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปข้างต้น และมองในอีกแง่มุมว่าบรรดานักการเมืองอาวุโสของประชาธิปัตย์นั้นเป็นมนุษย์และผู้กระทำการทางการเมือง ซึ่งเคยมีสถานภาพเป็น “ผู้แทนฯ” ที่มีคุณค่า ความหมาย และหน้าที่ สำหรับสังคมการเมืองไทยในยุคสมัยหนึ่ง

แต่พอมาถึงปัจจุบัน คุณค่า ความหมาย และหน้าที่แบบเดิมๆ ซึ่งเคยแปรเป็นคะแนนเสียงได้ กลับหมดบทบาทลงอย่างน่าใจหาย

ในอีกด้านหนึ่ง ชัยชนะของพรรคก้าวไกล ก็พาพวกเราไปทำความรู้จักกับนักการเมืองอีกประเภท อีกรุ่น อีกวงจรชีวิต ซึ่งกำลังผลิบานเติบโต และมีสถานะเป็น “ผู้แทนฯ” ที่ทรงความหมาย ในความคิดจิตใจ ความคาดหวัง ความใฝ่ฝัน ของผู้คน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดา ส.ส.เขต สมัยที่สอง ซึ่งได้รับเลือกตั้งครั้งแรกในนามพรรคอนาคตใหม่ แล้วตัดใจไม่ยอมแปรพักตร์เป็น “งูเห่า” จนสามารถชนะเลือกตั้งซ้ำในนามพรรคก้าวไกล

ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน แม้ว่า “กระแสก้าวไกล” จะมาแรงจนสัมผัสได้ชัดเจน ทว่า ผู้รู้-ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ทำโพล จำนวนมาก ต่างยังพากันเชื่อว่ากระแสดังกล่าวจะไปช่วยหนุนเสริมคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล แต่ไม่เป็นประโยชน์กับผู้สมัคร ส.ส.เขต ที่ไม่ใช้กระสุน และไม่มีระบบจัดตั้งโหวตเตอร์ในพื้นที่อย่างเป็นทางการ

หลายท่าน-สำนักแทบจะฟันธงว่า พวก ส.ส.เขต สมัยอนาคตใหม่ ที่ยังลงรับเลือกตั้งในระบบเขตกับก้าวไกลต่อ อาจกลับเข้าสภาไม่ได้เลยแม้เพียงสักรายเดียว กระทั่งอดีต ส.ส. ที่มีผลงาน-บุคลิกโดดเด่น ใน กทม.

อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม กลับเป็นเสียงยืนกรานดังๆ ที่ทำให้เราได้ตระหนักว่า ส.ส.เขต ของอนาคตใหม่-ก้าวไกล ซึ่งเคยถูกปรามาสว่าเป็น “ส.ส.ส้มหล่น” ที่คงฟลุกเข้าสภาได้แค่สมัยเดียว หรือโชคดีได้เข้าสภาเพราะพรรคไทยรักษาชาติโดนยุบ ต่างพาเหรด “ป้องกันแชมป์” เอาไว้ได้อย่างถ้วนหน้า

จากตราด สู่จันทบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ พิษณุโลก ขึ้นไปถึงขอนแก่นและเชียงราย (แม้บางเขต-บางจังหวัดจะเปลี่ยนตัวผู้สมัคร แต่ยังสามารถรักษาพื้นที่เดิมเอาไว้ได้)

นักการเมืองกลุ่มนี้ (ยังไม่ต้องนับรวม ส.ส.เขตหน้าใหม่-พื้นที่ใหม่ อีกเกือบร้อยชีวิต ที่ร่วมกันสร้างปรากฏการณ์น่าประหลาดใจในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา) ย่อมมิใช่ “เสาไฟฟ้า” ที่เปล่งแสงทางการเมืองได้ด้วยพลังงานของ “พิธา-ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ” หรือกระแสนิยมชั่วครู่ชั่วคราวของพรรคก้าวไกล

แต่ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งติดต่อกัน 2 สมัย จะต้องเป็น “ผู้แทนฯ” ที่มีคุณค่า ความหมาย และหน้าที่บางอย่าง ในความคิดเห็นของประชาชน

เป็นภารกิจของหลายๆ ฝ่าย ที่จะต้องไปศึกษาหาคำตอบกันต่อว่าคุณค่า ความหมาย หน้าที่ของ “ผู้แทนฯ” ยุคปัจจุบัน นั้นคืออะไร? และมีความสำคัญอย่างไรกับราษฎรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง?

คำตอบอาจเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เช่น พวกเขาและเธอเป็น “ผู้แทนฯ” เพียงกลุ่มเดียว ที่สามารถสะท้อน “สำนึกใหม่” ทางการเมืองของประชาชน (ตามคำอธิบายของ “อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์”)

หรืออาจเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น “ผู้แทนฯ” แบบก้าวไกล นั้นมีบุคลิกลักษณะเป็น “ลูกหลาน” ที่เติบโตและใช้ชีวิตในพื้นที่ ทั้งยังสามารถรองรับคำด่า-ความทุกข์ร้อน-ความโกรธของชาวบ้านได้ ผ่านสายสัมพันธ์ในระนาบ “คนเหมือนกัน”

ทดแทน “ท่าน ส.ส.” ประเภทเดิมๆ ที่อาจให้การอุปถัมภ์ผู้คนผ่านสายสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างไม่เป็นทางการ แต่ก็มิได้มีสถานะทางสังคมอันเท่าเทียมกับชาวบ้าน

 

ทั้งนี้ การมี ส.ส.เขต สองสมัย อยู่จำนวนหนึ่ง ยังบ่งชี้ว่าก้าวไกลนั้นเป็นพรรคการเมือง ซึ่งมี “ฐานที่มั่น” หรือ “ชัยภูมิ” ของตนเองเรียบร้อยแล้ว

หมายความว่ากำลังสนับสนุนที่หนุนหลังพรรคการเมืองนี้ มิได้มีลักษณะเลื่อนลอย ขึ้นลงตามกระแส แต่มีซีกส่วนที่เข้มแข็ง คงทน ไม่ไหวเอน ปักหลักอยู่อย่างหนักแน่น

นี่คือ “ป้อมปราการ” “พลังพื้นฐาน” และ “ต้นทุน” ทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับนานาอุปสรรคนอกระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกำลังจะปรากฏตัวและสำแดงฤทธิ์เดชออกมาเรื่อยๆ ตลอดช่วง 1-2 เดือนนับจากนี้ •