สังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ | ปราปต์ บุนปาน

(Photo by EMMANUEL DUNAND / AFP)

โจทย์สำคัญข้อหนึ่ง ซึ่งพรรคการเมืองและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่กำลังจะเข้าแข่งขันในสนามเลือกตั้งปี 2566 ต้องเผชิญ ก็คือ พวกเขาจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทยอย่างไร?

เร็วๆ นี้ เพิ่งมีการจัดงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “8 ปีที่ 8 เปื้อน : พินิจประเทศไทยในสภาวะไม่ปกติ” ณ ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการนำเสนอในงานดังกล่าว ก็คือ ข้อมูลสถิติน่าสนใจจากนักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์บางท่าน

 

เริ่มต้นด้วย “ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร” จากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ที่นำเสนอปัญหาเรื่องค่าแรง ดังเนื้อหาบางส่วนที่ว่า

“ตั้งแต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบ (กำหนด) ค่าจ้างโดยระบอบประยุทธ์ (การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำต้องทำโดยคณะกรรมการไตรภาคี ในขณะที่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการผลักดันให้ปรับเพิ่มค่าแรงด้วยนโยบายของพรรคการเมือง) ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีการขึ้นค่าแรงทั้งหมดกี่ครั้งทราบไหมครับ?

“ค่าจ้างขั้นต่ำเรามีการเพิ่มขึ้นแค่ 4 ครั้งเท่านั้นเอง ก็คือในปี 2559, 2561, 2563 แล้วก็ 2565 และการขึ้นแต่ละครั้งก็เรียกว่าขึ้นแบบ ‘ตบหน้าประชาชน’ ขึ้น 10 บาท ขึ้นมากสุดก็คือ 20 บาท ปี 2563 ขึ้น 5 หรือ 6 บาท ซึ่งเป็นการขึ้นแบบขึ้นไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะค่าครองชีพกับอัตราเงินเฟ้อมันไปไกลกว่านั้นมาก…

“การดึงเอาวิธีการกำหนดค่าแรงกลับไปอยู่ในมือรัฐข้าราชการของระบอบประยุทธ์มีนัยยะสำคัญอะไร?

“นัยยะสำคัญทางการเมือง ก็คือ บอกว่าต่อไปการช่วงชิงแข่งขันกันเพื่อที่จะเอาฐานเสียงที่เป็นกลุ่มคนงาน มันจะไม่สามารถทำในภาคการเมืองได้อย่างที่พยายามทำกัน ไม่ว่าจะหาเสียงกันอย่างไร สุดท้าย ระบบหรือกลไกการขึ้นค่าแรงจะต้องอยู่ในมือของข้าราชการหรือระบบไตรภาคีเป็นหลัก”

8 ปีที่ 8 เปื้อน : พินิจประเทศไทยในสภาวะไม่ปกติ

ขณะที่ “รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย” จากคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ช่วยขยายภาพความเหลื่อมล้ำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า

“การเติบโตของค่าจ้างของเราเกือบจะไม่โตเลยตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา แม้ว่ารายได้ประชาชาติของเราโตช้าแล้ว ค่าแรงเราโตช้ากว่านั้นอีก

“สาเหตุสำคัญอันหนึ่งของการที่ค่าแรงของเราไม่โตเลย ก็เพราะว่าการต่อรองของสหภาพแรงงานเราไม่มี ก็คือขบวนการแรงงานเราไม่เข้มแข็ง ทำไมขบวนการแรงงานเราไม่เข้มแข็ง? กฎหมายแรงงานเรามันกดปราบ มันไม่ได้ให้สิทธิเสรีภาพเกี่ยวกับขบวนการคนงานของเราเท่ากับประเทศอื่นๆ อันนี้เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำอันที่หนึ่ง

“ที่สำคัญ ในขณะที่คนงานถูกกดปราบไม่ให้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เราดูภาคธุรกิจ ภาคธุรกิจเราเต็มไปด้วยการผูกขาด บริษัทขนาดใหญ่ที่มีจำนวนเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของบริษัททั้งหมดในประเทศไทย มียอดขายของระบบเศรษฐกิจถึง 46 เปอร์เซ็นต์ แล้วฟันกำไรของระบบเศรษฐกิจไป 60 เปอร์เซ็นต์

“แล้วมันจะเหลืออะไรให้กับเศรษฐกิจเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจฐานราก ในด้านหนึ่ง กดค่าแรง อีกในด้านหนึ่ง อยู่ในธุรกิจที่การแข่งขันน้อย มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง (ระบุว่า) ในหลายๆ ธุรกิจมีการแข่งขันที่ลดลงเรื่อยๆ…

“10 เปอร์เซ็นต์ของคนที่รวยที่สุดของประชากรไทย มีทรัพย์สิน 77 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ในขณะที่คน 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย มีทรัพย์สินเพียงแค่ 14 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ นี่คือความเหลื่อมล้ำทางด้านสินทรัพย์ ซึ่งติดอันดับต้นๆ ของโลกแน่ๆ

“ตัวเลขหนึ่ง ถ้าเราดูเฉพาะคนรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์บน เขามีค่าเฉลี่ยของความมั่งคั่ง สินทรัพย์ต่างๆ ประมาณ 33 ล้านบาท (ต่อคน) ซึ่งมันรวยกว่าค่าเฉลี่ยของสินทรัพย์ของกลุ่มคนที่จนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ของสังคมไทย เกือบ 2,500 เท่า

“ยิ่งไปกว่านั้น (สำหรับ) ประเทศไทย อัตราการเติบโตของความเหลื่อมล้ำ (ถ้าดู) การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2008 ช่วงสิบปีก่อนโควิด ประเทศไทยเหลื่อมล้ำเร็วที่สุดในโลก เร็วขึ้นกว่ารัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำระดับต้นๆ ที่สุดของโลก ความเหลื่อมล้ำของเราพุ่งกระฉูดขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบสิบปีก่อนโควิด”

 

ท่ามกลางการต่อสู้เรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง นี่คือมูลเหตุว่าทำไมการแข่งขันด้านนโยบายเศรษฐกิจในสนามเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ อาจไม่ใช่แค่แนวคิดการตลาดสวยๆ หรือนโยบายแนวสังคมสังเคราะห์ฉาบฉวย

แต่เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องที่เชื่อมโยงกับการสะสางปัญหาความไม่เท่าเทียม และไม่เป็นธรรมในสังคมด้วย •