เก็บตก ‘ฟุตบอลโลก 2022’

เก็บตก ‘ฟุตบอลโลก 2022’

 

ฟุตบอลโลก 2022 ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้ว

พร้อมการผงาดขึ้นคว้าแชมป์โลกเป็นสมัยที่ 3 ของอาร์เจนตินา

ดังนั้น จึงจะขออนุญาตใช้พื้นที่คอลัมน์นี้เก็บตกประเด็นน่าสนใจ 3 ข้อ

ที่เพิ่งพบเห็นจากฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา

 

ไม่มีที่ว่างสำหรับคนแก่?

หลายคนมองว่าบอลโลกหนนี้คือบทอวสานของ “นักฟุตบอลแก่ๆ”

โดยเฉพาะในกรณีของทีมที่เคยประสบความสำเร็จเพราะ “โกลเด้น เจเนอเรชั่น” หรือการพึ่งพานักฟุตบอลกลุ่มหนึ่งที่มีคุณภาพสูงถ้วนหน้าในแบบ “ยกรุ่น”

แต่พอนักฟุตบอลรุ่นนั้นแก่ตัวและหมดไฟลงพร้อมๆ กัน องค์รวมของทีมก็พลอยหมดสภาพตามไปด้วย เช่น เบลเยียม หรือเวลส์

อย่างไรก็ตาม ถ้าโค้ชสามารถนำเอาประสบการณ์ ความเก๋า และไฟที่ยังไม่มอดดับของผู้เล่นสูงอายุ มาประสานกับพลังของคนรุ่นใหม่ที่เหลือในทีมได้สำเร็จ ผลลัพธ์สุดท้ายย่อมออกมาดี

กรณีศึกษาที่ชัดเจน คือ อาร์เจนตินา ที่ระดมพลังคนหนุ่มมาหนุนเสริม-วิ่งส่งความปรารถนาสุดท้ายในชีวิตของ “ลิโอเนล เมสซี” ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว

 

กลยุทธ์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

แท็กติก (กลยุทธ์) หรือการวางแผนการเล่นในกีฬาฟุตบอลนั้นมีพลวัตอยู่เสมอ

แท็กติกที่เคยใช้ได้ผลในฟุตบอลโลกหนหนึ่ง อาจกลายเป็นของตกยุคหมดสมัยในฟุตบอลโลกครั้งต่อมา

บทสรุปสำคัญของฟุตบอลโลก 2022 ก็คือ แผนการเล่นแบบ “ฟอลส์ 9” ที่ไม่ต้องการ “ศูนย์หน้าพันธุ์แท้” นั้นเริ่มถูกจับทางได้ และไร้ประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ

เห็นได้ชัดจากความล้มเหลวของสเปน ที่ครองบอลดี ผ่านบอลได้เยอะ แต่ยิงประตูไม่เป็น หรือเยอรมนี ซึ่งมีปัญหาใหญ่อยู่ตรงการขาดแคลนกองหน้าตัวเป้า

ตรงกันข้ามกับฝรั่งเศสที่โชว์ฟอร์มได้ยอดเยี่ยมตลอดทัวร์นาเมนต์ เพราะความเฉียบคมสมบูรณ์แบบของ “คีลิยัน เอ็มบัปเป” ที่แม้จะไม่ได้เล่นตำแหน่งกองหน้าตัวกลาง แต่เขาก็ถือเป็น “ศูนย์หน้าประเภทครบเครื่อง” ที่โดดเด่นที่สุดในฟุตบอลโลกคราวนี้ จากทักษะความสามารถรอบด้าน ทั้งการจบสกอร์ การผ่านบอลให้เพื่อนยิงทำประตู และศักยภาพในการเปลี่ยนเกม

ตัวเลข 8 ประตูที่เอ็มบัปเปทำได้ ช่วยยืนยันถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี

อีกหนึ่งประเด็นทางด้านแท็กติกที่น่าพูดถึง คือ ตลอดหลายปีหลัง มักมีความเชื่อว่าทีมฟุตบอลยุคใหม่ที่จะประสบความสำเร็จ นั้นต้องเล่นเร็วและเพรสซิ่ง (ขึ้นไปบีบ-กดดัน) คู่แข่งได้เก่ง

ทว่า มาตรฐานความสำเร็จของโครเอเชีย ซึ่งเป็นรองแชมป์โลกในปี 2018 และครองอันดับ 3 ในปี 2022 กลับบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ชนิดอื่น

เพราะทีมตราหมากรุก คือ ทีมฟุตบอลชั้นนำที่เล่นบอลช้า เน้นความเหนียวแน่น ไม่ต้องวิ่งเร็ว ไม่ต้องบีบสูง แต่พวกเขากลับอ่านเกม-ทางบอลได้ขาด และกุมสภาพรวมของการแข่งขันเอาไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ แถมพอต้องเร่งยิงประตูในภาวะคับขัน ก็มักทำงานได้สำเร็จเสียด้วย กระทั่งมีคอลัมนิสต์เมืองนอกรายหนึ่งที่ยกย่องให้โครเอเชียเป็น “เจ้าแห่งการเดินเตะฟุตบอล”

มีเพียงแผนการเล่นที่เปี่ยมพลวัตและเต็มไปด้วยความยืดหยุ่นพลิกแพลงของอาร์เจนตินาเท่านั้น ซึ่งหยุดยั้งโครเอเชียเอาไว้ได้อย่างเด็ดขาด

 

ความสำเร็จของโมร็อกโก

โมร็อกโกที่สร้างประวัติศาสตร์ผ่านเข้ารอบสี่ทีมสุดท้ายของฟุตบอลโลกได้เป็นครั้งแรกนั้น คือตัวแทนความสำเร็จของอะไร?

ถ้ายึดเอาตามการแบ่งโซนทวีปของฟีฟ่า นี่ก็ถือเป็นความสำเร็จของชาติจากแอฟริกา

แต่ทางผู้ฝึกสอน-นักฟุตบอลโมร็อกโกเอง อาจประเมินความสำเร็จเดียวกันบนเงื่อนไขทางด้านภูมิรัฐศาสตร์อีกชุด นั่นคือ พวกเขามองว่าตนเองเป็นตัวแทนของทั้ง “ทวีปแอฟริกา” และ “โลกอาหรับ”

นอกจากนั้น ยังมีนักวิชาการต่างชาติบางคนที่หยิบยืมแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ว่า โมร็อกโกคือทีมที่สามารถหลุดออกจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ในการแข่งขันฟุตบอลโลกได้สำเร็จ

“กับดักรายได้ปานกลางในฟุตบอลโลก” หมายถึงภาวะที่ทีมจากแอฟริกาหรือเอเชียสามารถสร้างผลงานได้น่าประทับใจระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถทะลุไปไกลกว่านั้น

เช่น ที่ผ่านมา มาตรฐานสูงสุดของทีมจากแอฟริกาคือการเข้าถึงรอบแปดทีมสุดท้าย หรือต่อให้รูปแบบการเล่นและความสามารถเฉพาะตัวของนักฟุตบอลญี่ปุ่นจะพัฒนาขึ้นแค่ไหน แต่เพดานของพวกเขายังคงติดอยู่ตรงรอบสอง

อุปสรรคข้างต้นเกิดขึ้นเพราะระบบฟุตบอลอาชีพอันมีทวีปยุโรปเป็นศูนย์กลาง ได้กำหนดให้นักเตะที่เก่งที่สุดจากทั่วทุกมุมโลกต่างต้องมาค้าแข้งในทวีปแห่งนี้

ส่วนนักฟุตบอลของชาติต่างๆ ในยุโรป ก็ได้ลงฟาดแข้งกับสุดยอดนักเตะจากทวีปอื่นๆ เป็นประจำ

เท่ากับเป็นการได้อัพเดตความรู้ทางด้านฟุตบอลชุดล่าสุดอยู่ตลอดเวลา

ที่ผ่านมา ประเทศจากอเมริกาใต้อย่างอาร์เจนตินาและบราซิลได้ถูกผนวกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ “เครือข่ายชนชั้นนำในโลกฟุตบอล” เช่นเดียวกับหลายชาติในยุโรป เพราะนักเตะฝีเท้าดีแทบทั้งหมดจากประเทศเหล่านี้ ต่างเดินทางเข้ามาฝึกปรือความสามารถในยุโรปตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ

สาเหตุที่ทำให้โมร็อกโกเป็นชาติล่าสุด ซึ่งหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลางในโลกฟุตบอล” มาได้ ก็เป็นเพราะผู้เล่นเกือบทั้งหมดของพวกเขา คือ บุคคลที่เกิด เติบโต และเล่นฟุตบอลอยู่ในหลายประเทศของทวีปยุโรป

มีหลายคนเล่นฟุตบอลอยู่ในลีกชั้นนำ และมีบางคนที่เป็นสมาชิกของสโมสรยักษ์ใหญ่เลยด้วยซ้ำ •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน