Pause ประยุทธ์ | ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

Pause ประยุทธ์

 

แม้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่จะมีช่องว่างทาง “ความเข้าใจ-ประสบการณ์” ที่แตกต่าง เหินห่างกัน หลายต่อหลายเรื่อง

แต่เรื่องหนึ่งที่เป็น “วัฒนธรรมร่วม” ซึ่งยืนยงข้ามกาลเวลามาได้หลายทศวรรษ และเป็นสิ่งที่คนเสพสื่อบันเทิงแทบทุกรุ่นเข้าใจตรงกัน ก็คือ ฟังก์ชั่น-หน้าที่ของปุ่ม/เครื่องหมาย “pause”

ไม่ว่าผู้บริโภครายนั้นจะเป็นคนในยุคเทปคาสเส็ต ม้วนวิดีโอ แผ่นซีดี วีซีดี ดีวีดี หรือเป็นคนในยุคที่บริการสตรีมมิ่งและคลิปวิดีโอของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ กำลังครองโลกก็ตาม

หน้าที่เบื้องต้นของปุ่ม/เครื่องหมาย “pause” คือการหยุดเนื้อหาภาพ-เสียงบางอย่างเอาไว้ชั่วคราว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในเชิงความหมายแล้ว สถานภาพของปุ่ม/เครื่องหมาย “pause” ในบริบทความบันเทิงต่างยุค กลับคล้ายจะมีความผิดแผกกันอยู่บ้าง

กล่าวคือ ในยุคเทป ซีดี วิดีโอ ดีวีดี เรามักกด “pause” เนื้อหาของหนัง-เพลง เพื่อเป็นการยุติกิจกรรมการฟัง-การดูเอาไว้ชั่วคราว เพราะต้องไปทำภารกิจอื่นในระยะเวลาสั้นๆ

ก่อนจะย้อนกลับมากดปุ่ม “play” เพื่อดูหนัง-ฟังเพลงเหล่านั้นอีกครั้ง ในอีกไม่กี่นาทีต่อมา

ทว่า มาถึงยุคปัจจุบัน มีบ่อยครั้งที่เราตัดสินใจ “pause” เพลงที่กำลังฟังผ่านสมาร์ตโฟน เพื่อหันไปทำอะไรอย่างอื่น แล้วก็ไม่ได้ฟังเพลงนั้นต่อในอีกหลายชั่วโมง (หรือเป็นวันๆ) ถัดมา

กระทั่งอาจลืมไปเลยด้วยซ้ำว่าเราเคย (กำลัง) ฟังเพลงดังกล่าวอยู่

เช่นเดียวกับที่เรามัก “pause” หนัง-ซีรีส์บางเรื่องในระบบสตรีมมิ่งเอาไว้ ก่อนจะตัดสินใจถอยกลับหลังไปยังหน้าหลัก เพื่อเลือกดูหนัง-ซีรีส์เรื่องใหม่ๆ แทน

จนบางทีเราลืมที่จะหวนไปดูหนัง-ซีรีส์เรื่องเดิมต่อ หรือบางคนก็คงตั้งใจอยู่แล้วว่า การกด “pause” หนัง-ซีรีส์เรื่องนั้นๆ เอาไว้ ย่อมหมายความว่าเราจะไม่ย้อนกลับมาดูมันอีกในอนาคต

ปุ่ม/เครื่องหมาย “pause” ในทศวรรษ 2020 จึงไม่ได้หมายถึง “การหยุดพักเพียงชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว”

หากหมายถึง “การหยุดพัก” ที่อาจดำเนินไปอย่างยาวนาน จนถึงขั้นนิรันดร์กาลได้เหมือนกัน

 

ในทางการเมืองไทยร่วมสมัย การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพิ่งถูก “pause” เอาไว้โดยมติศาลรัฐธรรมนูญ 5:4 หลังศาลรับคำร้องให้ตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ไว้วินิจฉัย

ผลลัพธ์ชัดเจนประการแรกของการกดปุ่ม “pause” ครั้งนี้ คือ การที่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีแทน พล.อ.ประยุทธ์

แต่ปริศนาอีกมากมายก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นตามมา

ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการกลับมานั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อ หรือแนวโน้มคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่อง “วาระ 8 ปี”

คำถามว่าสายสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงแนบแน่นเป็นปึกแผ่นกันหรือไม่? เพียงใด?

ในช่วงหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศ “อำนาจจริงๆ” จะยังหลงเหลืออยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ มากน้อยแค่ไหน?

พล.อ.ประวิตร (ที่หลายคนติดภาพว่าเป็นคนสูงอายุผู้มีสุขภาพง่อนแง่นและมีวลีติดปากว่า “ไม่รู้ๆ”) จะปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีได้ดีเพียงใด? และลงมือทำอะไรได้มากน้อยขนาดไหน?

นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้อง “พักก่อน” แล้ว “ระบอบอำนาจปัจจุบัน” มีตัวเลือกผู้นำรายอื่นๆ ที่เด่นชัดแล้วหรือยัง? คือใครบ้าง?

ดุลอำนาจทางการเมืองต่อจากนี้จะผันแปรไปเพียงใด? และคลี่คลายไปสู่สภาพการณ์แบบไหน?

การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่? เร็วกว่าที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้หรือไม่?

ฯลฯ

 

แม้บางคนมองว่าการ “pause” พล.อ.ประยุทธ์ จากการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จะยังไม่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่

เพราะอำนาจทางการเมืองยังอยู่ในมือคนกลุ่มเดิม และพัฒนาการประชาธิปไตยไทยยังมิได้ถูกยกระดับขึ้นอย่างฉับพลัน

ทว่า ความท้าทายประการหนึ่งที่ย่อมบังเกิดขึ้นแน่ๆ ก็คือ ห้วงเวลาแห่งการ “หยุดพัก” ณ ขณะนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ มี “ความจำเป็น” มากน้อยแค่ไหนต่อสังคมการเมืองไทย?

ถ้าสังคมการเมืองไทย “ยุคไร้ประยุทธ์เป็นนายกฯ” ยังขยับขับเคลื่อนไปได้ในจังหวะเดิมๆ คือ ยังแย่อย่างที่มันเคยแย่ ไม่ค่อยมีความหวังอย่างที่มันไม่เคยมีตลอดหลายปีหลัง โดยไม่เกิดวิกฤตการณ์ ความชุลมุนวุ่นวายขนานหนัก สอดแทรกขึ้นมาใหม่

นั่นก็พอจะเป็นคำตอบที่ช่วยยืนยันแล้วว่า เราไม่จำเป็นต้องมีผู้นำประเทศชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

การตัด “ตัวละครนำ” รายหนึ่งออกไปจากฉากละครการเมืองไทยร่วมสมัย จะไม่นับเป็นความเปลี่ยนแปลงเลย ก็คงไม่ใช่

แม้นั่นอาจมิได้เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุด และต่างฝ่ายต่างยังต้องต่อสู้กันอีกหลายยกก็ตาม •