‘ดาบหนึ่ง’ และ ‘ดาบสอง’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘ดาบหนึ่ง’ และ ‘ดาบสอง’

 

คําถามชัดๆ สั้นๆ ง่ายๆ กว่าเรื่องข้อกฎหมายว่าด้วย “วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ก็คือ คำถามประเภท “ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งต่อไป แล้วจะมีใครสบายใจ? หรือมีใครได้ประโยชน์บ้าง?”

ย้อนไปไม่กี่ปีก่อน คงต้องยอมรับ (แม้บางฝ่ายอาจยากทำใจ) ว่าคนที่รู้สึกสบายใจกับประเทศไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ และเห็นว่าตนเองได้รับประโยชน์จากระบอบอำนาจ คสช. มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย แม้พวกเขาอาจมิใช่เสียงส่วนใหญ่ในสังคม

แต่สถานการณ์ ณ ขณะนี้ ไม่ได้มีลักษณะเช่นนั้น

พิสูจน์ได้จากปรากฏการณ์ที่หลายๆ คน ซึ่งออกมาส่งเสียงดังว่า “วาระ 8 ปี” ของนายกฯ ควรต้องสิ้นสุดลงในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือออกมาประกาศว่าหมดเวลาของ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว

เคยเป็นอดีตแนวร่วมผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรี เป็นอดีตแนวร่วมที่เรียกร้อง-ให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหาร เป็นอดีตคนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลประชาธิปไตยและแอนตี้การเลือกตั้งอย่างแข็งขัน

เอาเข้าจริง แม้แต่ข้อกฎหมายหรือบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำลังถกเถียงกันอยู่ ก็มีจุดกำเนิดขึ้นในระบบกฎหมาย-การเมืองไทย ภายหลังรัฐประหาร 2549 ผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560

ดังนั้น ภาพ “ผู้นำที่มุ่งหวังจะอยู่ในอำนาจยาวนานเกิน 8 ปี” ที่บรรดาคนยกร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งอยู่ฝ่ายเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.) นึกถึง จึงอาจเป็นใบหน้าของบุคคลอื่น นักการเมืองอื่น ที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

ทว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์หาทางลงจากอำนาจไม่ได้เสียที เขาเลยเป็นคนแรกที่ต้องรับ “ผลกรรม” หรือผลลัพธ์ของความกำกวมคลุมเครือจากข้อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีวัตุประสงค์ในการตัดทอนอำนาจของนักเลือกตั้ง บอนไซพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมมหาศาลจากประชาชน

 

คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเผยแพร่ออกมาในเร็ววันนี้ มิได้มีสถานภาพเป็นเพียงแค่คำตัดสินชี้ขาดชะตากรรมทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

แต่คำวินิจฉัยนี้อาจมีสถานะเป็นคำประกาศที่สื่อสารกับสังคมว่า น้ำเสียงรวมๆ และแนวทางการกำหนดทิศทางการเมืองไทยโดยรวมของคณะชนชั้นนำ กำลังเปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม แม้การณ์จะกลับกลายเป็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่หมดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังได้ไปต่อ

แต่ผู้คนจำนวนมากที่ออกมาแสดงจุดยืนว่าเบื่อหน่ายนายกรัฐมนตรี คงยากจะปรับเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของตนเองอย่างฉับพลันทันที

และดีไม่ดี พวกเขาอาจหาทางระบายความรู้สึกเหล่านั้นออกไปในช่องทางอื่นๆ ด้วยวิธีการเคลื่อนไหวแบบอื่นๆ

หรือหากมองถึงหลัก “อนิจลักษณะทางการเมือง” ท้ายสุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องหมดอำนาจลงอยู่ดี โดยบทอวสานที่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการล่มสลายลงของฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำ-ฝ่ายขวา

เนื่องเพราะพวกเขาบางส่วนไม่สามารถยอมรับศักยภาพ-ความสามารถของผู้นำจากระบอบอำนาจ คสช.ได้อีกต่อไป

นี่คือ “ดาบแรก” ที่นายกรัฐมนตรีเลี่ยงไม่พ้น

 

ขณะเดียวกัน อย่างน้อยที่สุด ก็จะบังเกิด “ฉันทามติใหม่” ว่าสังคมต้องการ “ผู้นำคนใหม่” มากขึ้นตามลำดับ

นี่คือประเด็นหลักประเด็นเดียวที่ผู้คนจากทุกฝ่ายเริ่มมองเห็นสอดคล้องตรงกัน

ณ จุดนั้น การเลือกตั้งใหญ่และเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจะเขยิบเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในฐานะเครื่องมือหลักทางการเมืองที่จะหนุนส่งให้ฉันทามติดังกล่าวบรรลุถึงผลสำเร็จ

การใช้อำนาจของพลเมืองผ่านบัตรลงคะแนนและคูหาเลือกตั้ง อาจเป็นคำพิพากษาสุดท้ายหรือ “ดาบสอง” ที่ดับอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ลงอย่างสิ้นเชิง

โดยจุดท้าทายถัดไปจะอยู่ที่ว่า ใครคือแคนดิเดตนายกฯ-ตัวเลือกทางการเมือง ซึ่งได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายมากที่สุด? •