จุดสมดุลระหว่าง ‘งาน’ กับ ‘เล่น’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

จุดสมดุลระหว่าง ‘งาน’ กับ ‘เล่น’

 

ผ่านไปหนึ่งเดือนกับการรับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ข้อหาหนึ่งที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เริ่มถูกกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้าม ก็คือเขาเป็นผู้นำที่ดูจะชอบ “ไลฟ์” ชอบ “เล่น” มากกว่าลงมือทำงานจริงๆ

ที่ผ่านมา การหาจุดสมดุลระหว่าง “การทำงาน” กับ “การเล่น” ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังกับการพักผ่อนหย่อนใจในเวลาว่าง ถือเป็นปัญหาคลาสสิคของมนุษย์ยุคสมัยใหม่

ในทางการเมือง “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ไม่ใช่นักการเมือง-ผู้นำรายแรกที่ต้องเผชิญหน้ากับโจทย์ท้าทายข้อนี้

เพราะกระทั่ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็คล้ายจะพยายามแสวงหาจุดสมดุลระหว่าง “การทำงาน” กับ “การเล่น” มาโดยตลอด

ดังจะเห็นได้ว่าระหว่างออกปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์มักหาเวลา “เล่น” กับคนอื่นๆ อยู่บ่อยครั้ง

เช่น การยกทีมมาออกกำลังกายตอนบ่ายๆ หน้าทำเนียบฯ (ที่ “เล่น” กันได้แป๊บเดียวแล้วก็ “เลิกเล่น”) การพูดคุยกับสิงสาราสัตว์ ตลอดจนการปาข้าวของเล็กๆ น้อยๆ ใส่สื่อมวลชนในทำนอง “หยอกเล่นนะ”

อย่างไรก็ตาม กิจกรรม “การเล่น” ของนายกฯ มักถูกมองเป็นภาพลักษณ์ที่ตลกปนเศร้า ผิดที่ผิดทางผิดฝาผิดตัว ผิดกาลเทศะ และไม่กลืนกลายเป็นเนื้อเดียวเข้ากับ “การทำงาน”

จนเกิดคำถามในหมู่สาธารณชนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะ “เล่น” อะไรแบบนี้ไปทำไม?

แล้วในที่สุด นายกฯ ก็ต้อง “เลิกเล่น” หรือ “เล่นน้อยลง” เพราะหาภาวะสมดุลระหว่าง “การทำงาน” กับ “การเล่น” ไม่เจอ

นำไปสู่การอุปมาในเชิงท้อใจว่า ถ้าเป็น “คอมพิวเตอร์” ตนเองก็คง “แฮ้ง” ไปนานแล้ว เพราะแบกรับปัญหาไว้มาก (หรือ “ทำงาน” หนักเกิน)

สอดคล้องกับภาษิตฝรั่งที่ว่า “All work and no play makes Jack a dull boy” ซึ่งหมายถึง การเอาแต่ “ทำงาน” โดยไม่รู้จัก “เล่น” บ้างเลย จะทำให้คุณกลายเป็นคนน่าเบื่อหน่าย (และมีคะแนนนิยมถดถอยลงเรื่อยๆ)

ในทางตรงกันข้าม แม้คำขวัญหลักที่ชัชชาติใช้สื่อสารกับคนกรุงเทพฯ จะเป็น “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการ “ทำงาน” อย่างจริงจัง ไม่มีเล่นมุขตลกขบขันเจือปน ในสถานการณ์อัคคีภัย ในการถกเถียงเรื่องราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า หรือการไม่เจอปัญหาน้ำรอระบายอีกแล้วในเวลาฝนตกหนัก

แต่พร้อมๆ กันนั้น ผู้ว่าฯ กทม.ก็พยายามแสวงหาจุดสมดุลเพื่อจะสอดแทรก “การเล่น” การใช้เวลาว่าง และกิจกรรมนันทนาการ เข้าสู่ “ชีวิตการทำงาน” ของตนเองอยู่ตลอดเวลา

“การไลฟ์การออกปฏิบัติงาน” ก็ดี “การออกวิ่ง” เพื่อสำรวจปัญหาและรับฟังประชาชนก็ดี “งานดนตรีในสวน” ก็ดี ล้วนเป็นกิจกรรมในลักษณะ “ทำงานไปเล่นไป” ทั้งสิ้น

ภาวะสมดุลระหว่าง “การทำงาน” กับ “การเล่น” ยังวัดได้จากปฏิกิริยาหรือปฏิสัมพันธ์ที่ผู้นำการเมืองมีกับพลเมืองในพื้นที่สาธารณะ

กล่าวคือระหว่างการออกปฏิบัติงาน (ภาษาของระบบราชการอาจเรียกว่า “การลงพื้นที่”) ผู้นำได้เปิดโอกาสให้ประชาชน “เล่น” กับตนเองมากน้อยแค่ไหน?

“การเล่น” ของประชาชนในที่นี้อาจมีอยู่สองนัยยะความหมาย

ความหมายแรก คือ “การล้อเล่น” ใส่ผู้นำ หรือ “การหัวร่อต่ออำนาจ” (แบบเดียวกับที่พวกนิทานพื้นบ้าน-ละครจักรๆ วงศ์ๆ ชอบทำ ไม่ต่างอะไรจากม็อบของ บก.ลายจุด)

เราจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีนั้นไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านร้านตลาดได้ “หยอกเย้า-เล่นหัว” ใส่ตัวเองเลย (และหวาดกลัวกระทั่ง “ปากกา” ของพวกเขา)

มิหนำซ้ำ ผู้นำประเทศยังชอบเล่นมุขขำขันใส่คนที่มีอำนาจน้อยกว่า ซึ่งหากประเมินกันอย่างซื่อตรงแล้ว “มุขแบบนั้น” ก็มิได้มีสถานภาพเป็น “การเล่นมุข-การล้อเลียน” แต่อย่างใด ทว่า อาจถือเป็นการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ของคนอื่น เพราะ “คนเล่นมุข” ดันมีต้นทุนทางอำนาจสูงกว่า “คนถูกล้อ”

ในทางกลับกัน ชัชชาติคล้ายจะพยายามเปิดโอกาสให้คนธรรมดาได้เล่นมุขใส่ตนเอง เช่น การยอมให้ “เบนจา อะปัญ” นักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นเยาว์ วางท่าเงื้อหมัดเข้าปลายคางผู้ว่าฯ ระหว่างถ่ายรูปคู่กัน เป็นต้น

“การเล่น” ในความหมายที่สอง คือ การเปิดเวทีให้ประชาชนสามารถ “เล่นการเมือง” กับผู้นำ ผ่านการบ่น ระบาย นำเสนอปัญหา ในวาระที่ก้ำกึ่งระหว่าง “ทางการ” กับ “ไม่เป็นทางการ”

น่าเสียดายที่ผู้นำทางการเมืองส่วนใหญ่ของบ้านเรามักอุทิศเวลาไปกับการสร้างภาพ การประกอบพิธีกรรม เน้นการชูป้ายขอบคุณท่านๆ ทั้งหลาย โดยมีการจัดตั้งมวลชนในยูนิฟอร์มเดียวกันมารอต้อนรับผู้มีอำนาจ แต่มิได้เปิดพื้นที่ให้คนธรรมดาเข้ามา “เล่นการเมือง” กับตน

อย่างไรก็ดี จุดเด่นหนึ่งที่เราเห็นจาก “การออกวิ่ง” และ “การออกไปไลฟ์” ของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” คือ การจูงใจผู้คนจำนวนไม่น้อยให้ “กล้าเล่นการเมือง” กับผู้บริหารเมือง

ไม่ว่าจะในรูปแบบของการเข้ามาสอบถามปัญหา หรือระบุเรื่องราวความติดขัดในการดำเนินชีวิต

 

กระนั้นก็ดี มีข้อท้วงติงประการหนึ่งที่น่ารับฟังอยู่ไม่น้อย

นั่นคือ แม้แนวทาง “ทำงานไปเล่นไป” อาจเป็นวิถีปกติของผู้ว่าฯ กทม. และทีมผู้บริหารใกล้ตัว แต่นี่อาจมิใช่เรื่องสะดวกสบายสักเท่าใดนักสำหรับข้าราชการ โดยเฉพาะระดับกลาง-ล่าง

จะเห็นได้ว่า “การทำงาน” ผสาน “การเล่น” ที่ดำเนินไปตั้งแต่เช้ามืดยันดึกดื่น จากวันธรรมดาจนถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์นั้นส่งผลให้ “เวลาปฏิบัติงาน” กับ “เวลาว่าง” มิได้แยกขาดจากกันโดยเด่นชัด

แม้ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” จะไม่เคยประกาศบังคับให้ข้าราชการ กทม. ต้อง “ทำงานไปเล่นไป” ในรูปแบบดังกล่าวพร้อมกับตนเอง แต่ถึงที่สุดแล้ว ข้าราชการระดับบริหารก็คงต้องเจริญรอยตามพ่อเมืองอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แล้วข้าราชการตัวเล็กๆ ก็ย่อมต้องกระตือรือร้นตามเจ้านายไปด้วย

ปัญหามีอยู่ว่ามาตรฐานการครองชีพและวิถีชีวิตปกติของคนทำงานเหล่านี้ มีความสอดคล้องกับ “การทำงานไปเล่นไป” เพียงใด?

เช่น ข้าราชการวัย 20-40 ปี จำนวนมาก อาจต้องการวันหยุดเพื่อใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว คนใกล้ชิด หรือตัวเอง ขณะที่หลายคนต้องการเวลาว่างเพื่อสะสางภารกิจส่วนบุคคล (เช่น ทำความสะอาดที่พัก ซักรีดเสื้อผ้า ซื้อหาข้าวของจำเป็น) ในแต่ละสัปดาห์

ต้องยอมรับว่า ในบางแง่มุม “ความแอ๊กทีฟ” ของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ กำลังทำให้หลักการที่แบ่งแยก “การต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่” ออกจาก “สิทธิในการหยุดงาน-ใช้เวลาว่าง” มีความรวนเรและพร่าเลือนขึ้นพอสมควร

และอาจกลายเป็น “จุดไม่สมดุล” ในชีวิตของข้าราชการ กทม.บางส่วนได้

นี่คงเป็นประเด็นที่ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” และผู้ปฏิบัติงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ต้องค่อยๆ ปรับจูนเข้าหากันต่อไป •