‘คนกรุงเทพฯ’ ที่โพลไม่รู้จัก / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘คนกรุงเทพฯ’ ที่โพลไม่รู้จัก

 

เวลาพูดถึงผลเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ไม่ตรงกับผลโพล หลายคนมักอ้างอิงปรากฏการณ์ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2556

เมื่อผลโพลสามสำนักหลักที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้าย คือ กรุงเทพโพลล์, นิด้าโพล และสวนดุสิตโพล ต่างระบุว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย มีคะแนนนำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 23.9 ต่อ 23.6, 23.82 ต่อ 19.16 และ 41.00 ต่อ 36.12 ตามลำดับ

ผลการเลือกตั้งที่ปรากฏออกมาว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เอาชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 ต่อ 1,077,899 คะแนน จึงนับเป็นการหักปากกาเซียนหรือสำนักโพลลงอย่างราบคาบ

อย่างไรก็ดี นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่โพลเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. ถูกตั้งคำถามถึงความแม่นยำ

เพราะหากย้อนกลับไปในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 ปรากฏการณ์หักปากกาสำนักโพลก็เคยเกิดขึ้นมาหนหนึ่งแล้ว

โดยในครั้งนั้น ผลโพลบ่งชี้ว่าผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะได้รับเลือกตั้งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เช่น ธุรกิจบัณฑิตย์โพล ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2564 และได้ผลลัพธ์ออกมาว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.กรุงเทพฯ 19 เขต ประชาธิปัตย์ได้แค่ 5 เขต ส่วนผลโพลในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันระบุว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. 18 เขต ประชาธิปัตย์ได้ 6 เขต

ทว่า เมื่อการเลือกตั้งจริงเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พรรคประชาธิปัตย์กลับได้ ส.ส.กทม. รวมทั้งสิ้น 23 เขต ขณะที่เพื่อไทยที่คะแนนนำโด่งมาในโพล ได้ ส.ส.ไปเพียง 10 เขต

สัดส่วนจำนวนเก้าอี้ ส.ส.เขต ในพื้นที่เมืองหลวง ยังได้รับการยืนยันด้วยคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้ไป 1,277,669 คะแนน เหนือกว่าพรรคเพื่อไทยที่ได้ไป 1,209,508 คะแนน

 

คําถามใหญ่ที่เกิดขึ้นตอนกลางทศวรรษ 2550 ก็คือ เราสามารถอ่านความผิดพลาดสองครั้งซ้อนของผลโพลเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างไรบ้าง?

ถ้าความทรงจำของผมไม่ผิดเพี้ยน การวิเคราะห์ส่วนใหญ่มักจะมองว่า สำนักโพลเข้าไม่ถึงกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชากร “บ้านมีรั้ว” หรือคนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีฐานะ เรื่อยไปถึงชนชั้นนำในสังคม

ยังมีการตีความต่ออีกว่า ประชากร “กลุ่มบ้านมีรั้ว” นี่เอง ที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม คือ เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย-ตระกูลชินวัตร ต่อต้านคนเสื้อแดง และเป็นเสียงส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร

แต่ก็มีผู้สันทัดกรณีบางส่วนที่ออกความเห็นเพิ่มเติมว่า องค์ประกอบที่ไม่ถูกนำมาคิดคำนวณในโพลเลือกตั้งช่วงปี 2554-2556 คือ กระบวนการแสวงหาคะแนนเสียงผ่านระบบการจัดตั้ง หรือการทำงานผ่านเครือข่ายอำนาจในชุมชนต่างๆ อย่างเข้มข้น

และอาจรวมถึง “เคล็ดวิชาเร้นลับ” อื่นๆ

 

ตัดภาพมาที่การเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนจะไม่มีการทำโพลคาดการณ์ผลการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเจาะลึกในระดับรายเขตอีกแล้ว

แต่จะมีกรุงเทพโพลล์ที่สำรวจความนิยมของพรรคการเมืองต่างๆ ในพื้นที่ กทม. ก่อนหน้าการเลือกตั้งเดือนมีนาคม ราวหนึ่งเดือน

ผลปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐมีคะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับหนึ่ง 34.3 เปอร์เซ็นต์ พรรคอนาคตใหม่ตามมาเป็นอันดับสอง 21.9 เปอร์เซ็นต์ และพรรคเพื่อไทยตามมาเป็นอันดับสาม 17.4 เปอร์เซ็นต์

ในด้านหนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวดูจะมีความแม่นยำพอสมควร เมื่อความจริงปรากฏว่าพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.กทม.มากที่สุด 12 คน ตามด้วยพรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทยที่ได้ ส.ส. พรรคละ 9 คนเท่ากัน

แต่ในอีกด้าน ถ้าพิจารณาผ่านผลคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ การที่พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงไป 804,272 คะแนน ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ 791,893 คะแนน และพรรคเพื่อไทย 604,699 คะแนน ก็ถือเป็นการหักปากกาโพลอยู่นิดหน่อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อโพลเลือกตั้ง กทม.ในปี 2562 มีความคลาดเคลื่อนไม่มากนัก ประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่ตามมาหลังจากนั้นมีความผันผวน ซ่อนเงื่อน และน่าสนใจมากกว่า

จึงไม่ค่อยมีใครคิดวิเคราะห์กันอย่างจริงจังว่า ประชากรกรุงเทพฯ กลุ่มไหน? ที่โพลเลือกตั้งเมื่อสามปีก่อน “เข้าไม่ถึง” หรือ “อ่านใจไม่ออก”

แต่การประสบความสำเร็จเกินคาดของพรรคอนาคตใหม่ และการก่อตัวของม็อบเยาวชนในเวลาต่อมา ก็ส่งผลให้กลุ่ม “นิวโหวตเตอร์” ถูกนำมาพิจารณาเป็นปัจจัยสำคัญในทางการเมืองมากยิ่งขึ้น

ขณะเขียนบทความชิ้นนี้ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ยังไม่มีใครล่วงรู้ว่าโพลสำรวจความนิยมของแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ที่จัดทำโดยสำนักโพลต่างๆ จะมีความแม่นยำมากน้อยแค่ไหน? และจะมีเซียนรายใดถูกหักปากกาอีกหรือไม่?

เช่นเดียวกับที่เรายังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า คนกรุงเทพฯ กลุ่มใด? คือกลุ่มประชากรที่ไร้ตัวตนในโพล ซึ่งจัดทำขึ้นก่อนการเลือกตั้งจริงวันที่ 22 พฤษภาคม •