‘กรุงเทพฯ’ คือเมืองอนุรักษนิยม? / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘กรุงเทพฯ’ คือเมืองอนุรักษนิยม?

 

“นักวิเคราะห์” บางส่วน ที่ออกมาคาดการณ์ พยากรณ์ ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มักชอบตั้งข้อสังเกตหรือแสดงความวิตกกังวลว่าประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมากใน กทม.นั้น จะมีจุดยืนทางการเมืองแบบ “ขวา” หรือ “อนุรักษนิยม”

บ้างก็แสดงความเห็นว่าโหวตเตอร์ในกรุงเทพฯ เกินกว่าครึ่ง อาจมีแนวคิดอนุรักษนิยม

บ้างก็แสดงทรรศนะโดยไม่ฟันธงว่า สัดส่วนของคนกรุงที่มีจุดยืนทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมเมื่อเทียบกับฝ่ายก้าวหน้านั้น อาจมีปริมาณสูสีพอๆ กัน

ท่ามกลางการคาดการณ์-พยากรณ์ทำนองนี้ คำถามสำคัญที่ชวนขบคิด ก็คือ กรุงเทพฯ (ยัง) เป็นเมืองอนุรักษนิยมในทางการเมืองจริงๆ หรือ?

 

ผู้รู้บางส่วนที่เชื่อว่าผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวนมากในกรุงเทพฯ เป็นฝ่ายขวา-อนุรักษนิยม มักชอบย้อนกลับไปอ้างอิงผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2556

ซึ่งผู้ชนะคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนไป 1.2 ล้านคะแนน ส่วนอันดับสองอย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนไป 1 ล้านคะแนน

ผลเลือกตั้งดังกล่าวยังล้อกับผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากปี 2550 ถึง 2554 ที่พรรคประชาธิปัตย์กวาดคะแนนเสียงส่วนใหญ่ไปได้

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเราจะไม่สามารถนำสมมุติฐานที่ว่าโหวตเตอร์ใน กทม. ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายขวา มาวางทาบกับผลเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพฯ เมื่อปี 2562 ได้อย่างกลมกลืน ลงล็อก แนบสนิท

เพราะหากพิจารณาที่สัดส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็จะพบว่าขั้วพรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทยได้ ส.ส.รวมกัน 18 ที่นั่ง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.ไป 12 ที่นั่ง

หากพิจารณาในแง่คะแนนเสียง ก็จะพบว่าขั้วอนาคตใหม่และเพื่อไทยได้คะแนนนิยมรวมกัน 1.4 ล้านเสียง ส่วนขั้วพลังประชารัฐบวกประชาธิปัตย์ได้คะแนนนิยมราว 1.2 ล้านเสียง

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อสามปีก่อน บ่งชี้ว่าแม้พลังอนุรักษนิยมจะยังไม่สูญสลายและทรงพลังมากพอสมควรในสนาม กทม. แต่พวกเขาก็มิใช่เสียงส่วนใหญ่ ที่มีจำนวนเกินครึ่ง ในพื้นที่นี้อีกแล้ว

แนวโน้มทางการเมืองที่ก่อตัวเมื่อปี 2562 ยังถูกโฟกัสให้คมชัดขึ้นด้วยผลการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่-จตุจักร ตอนต้นปี 2565

เมื่อผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยซึ่งได้รับเลือกตั้ง และผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลที่อยู่อันดับสอง มีคะแนนรวมกันเกือบ 5 หมื่นคะแนน มากกว่ากลุ่มผู้สมัครจากพรรคกล้า พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยภักดี ซึ่งได้คะแนนรวมกันไม่ถึง 3.5 หมื่นคะแนน

ด้วยเหตุนี้ การพยายามทึกทัก-เหมารวมว่าคนกรุงเทพฯ เป็นพวกอนุรักษนิยมทางการเมือง จึงดูจะหลุดลอยออกจากพื้นฐานความเป็นจริงมากขึ้นตามลำดับ

 

มีปัจจัยอื่นอีกไหม? ซึ่งบ่งบอกถึงพฤติกรรมและจุดยืนทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปของ “ประชาชนกรุงเทพฯ”

จากประสบการณ์ส่วนตัว ถ้าย้อนเวลากลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 2550 ส่วนใหญ่ของคนวัยเดียวกันกับผม (เพิ่งเรียนจบ เรื่อยไปจนถึงกลุ่มที่มีอายุเกือบๆ 30 ปี) ซึ่งมีภูมิหลังคล้ายๆ กัน (เกิด เติบโต หรือเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ และจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหลักๆ) ล้วนไม่ปฏิเสธรัฐประหาร 2549, ไม่แฮปปี้กับผลเลือกตั้งในปี 2550, ไม่ต่อต้านการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารและการเขี่ยนายกฯ ของพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งออกจากตำแหน่ง

ยิ่งกว่านั้น พวกเขายังไม่ชอบคนเสื้อแดง และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับปฏิบัติการปราบผู้ชุมนุมในปี 2553

แน่นอนว่าพวกเขาคือฐานคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งปี 2550 และ 2554 และเป็นกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่เทคะแนนให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556

ตัดภาพมายังครึ่งแรกของทศวรรษ 2560 ทุกคนต่างตระหนักดีว่าคนหนุ่มสาว รวมทั้งคนวัยทำงานอายุไม่เกิน 40 ปี จำนวนมากในกรุงเทพฯ นั้นมีทัศนคติ-จุดยืนทางการเมือง ที่แตกต่างจาก “คนวัยเดียวกัน” เมื่อราวทศวรรษก่อนลิบลับ

ถ้าเราลองเปิดหูรับฟังพวกเขาพูดคุยกัน (หรือเปิดตาสำรวจความคิดเห็นของพวกเขาในโซเชียลมีเดีย) ก็จะพบว่าคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ มิได้มีท่าทีเกลียดชัง “ม็อบเยาวชนสามนิ้ว” อย่างรุนแรงไร้เหตุผล เหมือนที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากใน กทม. เมื่อปี 2552-2553 เคยรู้สึกชิงชังกลุ่มคนเสื้อแดงจากต่างจังหวัด

คนหนุ่มสาวกรุงเทพฯ ในช่วงครึ่งทศวรรษหลังแทบทุกคน ล้วนวิพากษ์วิจารณ์ (มากบ้างน้อยบ้าง เปิดเผยชัดเจนบ้าง สงวนท่าทีบ้าง) ขั้วการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ใช้อำนาจผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลพลังประชารัฐ เพราะผิดหวังในสภาพสังคม-เศรษฐกิจไทยภายใต้การนำดังกล่าว

 

ดังนั้น ผมจึงไม่ค่อยเชื่อนักว่าคนกรุงเทพฯ เกินครึ่ง จะออกมาแสดงอาการ “เลี้ยวขวา” ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก. วันที่ 22 พฤษภาคม 2565

แต่ยังเชื่อว่าผู้ชนะการเลือกตั้งน่าจะเป็นแคนดิเดตฝ่ายก้าวหน้า-ประชาธิปไตย

หรือถ้าแม้เกิดกรณีเลวร้ายที่สุด คือ แคนดิเดตฝ่ายก้าวหน้าที่มีมากกว่าหนึ่งคนต้องแชร์คะแนนกัน จนต่างพลาดท่าพ่ายแพ้ให้แก่ผู้สมัครฝ่ายอนุรักษนิยมคนใดคนหนึ่ง

ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า คะแนนรวมของผู้สมัครฝ่ายก้าวหน้า-ประชาธิปไตย จะยังมากกว่าคะแนนรวมของกลุ่มผู้สมัครอีกขั้ว

หากสภาพการณ์เช่นนั้นบังเกิดขึ้นจริง โจทย์ใหญ่ก็อาจจะอยู่ที่ความไม่ลงตัวบางอย่างภายในฝ่ายประชาธิปไตยสายก้าวหน้า (อันหลากหลาย) มิใช่เรื่องที่ฝ่ายขวาสามารถรักษาคะแนนความนิยมในหมู่คนเมืองหลวงส่วนใหญ่เอาไว้ได้ •