ความเสื่อมทรุดของ ‘สถาบันการเมือง’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ความเสื่อมทรุด

ของ ‘สถาบันการเมือง’

 

หนึ่งในปัญหาท้าทายสังคมการเมืองไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ พรรคการเมืองหลักๆ ที่มีอยู่ จะสามารถพัฒนาขึ้นเป็น “สถาบันการเมือง” ได้หรือไม่?

โดยแต่ละพรรคก็มีโจทย์เฉพาะของตนเองที่แตกต่างกันออกไป

เช่น แม้พรรคการเมืองหนึ่งจะชนะเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง มีเสียงประชาชนจำนวนมากสนับสนุนชัดเจน แต่ผู้ที่ไม่นิยมพรรคการเมืองนี้ ก็มักตั้งข้อครหาว่า กระบวนการบริหาร-ตัดสินใจของพรรคการเมืองดังกล่าว นั้นถูกผูกติดอยู่กับคนคนเดียวหรือกลุ่มคนครอบครัวเดียว

ขณะที่พรรคการเมืองเกิดใหม่อีกพรรคก็มักถูกวิจารณ์ว่า แม้จะมีแนวทางการต่อสู้ที่ถึงรากถึงโคนมากกว่า แต่ก็เต็มไปด้วย “เด็กๆ” ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง จนประสานงานกับมิตรภายนอกพรรคได้ไม่ดีนัก ส่วนการบริหารจัดการพรรคก็ยังไม่ลงตัว (กระทั่งเกิด “งูเห่า”) เช่นเดียวกับการยังไม่มีประสบการณ์บริหารประเทศ

ทางด้านพรรคการเมืองใหญ่อีกหนึ่งพรรค ก็ถูกมองว่าเป็นเพียงศูนย์รวมมุ้งการเมืองต่างๆ ที่รวมตัวกันเพียงเพื่อรับมือสถานการณ์พิเศษเฉพาะหน้า คือ การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร มากกว่าจะตั้งเป้าหมายเป็น “สถาบันการเมือง” ในระยะยาว

นี่คืออุปสรรคที่ขัดขวางมิให้พรรคการเมืองหลักๆ 2-3 พรรค ก้าวไปถึงการเป็น “สถาบันการเมือง” (ในสายตาของคนบางกลุ่มบางพวก)

 

ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีพรรคการเมืองที่ประกาศด้วยความมั่นใจว่าตนเองเป็น “สถาบันการเมือง”

โดยอ้างเหตุผลว่าเพราะพวกตนคือพรรรคการเมืองที่มีอายุยืนยาว ไม่เคยถูกยุบพรรค (ซึ่งสำหรับบริบททางการเมืองไทยแล้ว การลงโทษแบบนี้มีลักษณะเป็นเรื่องของ “หมาป่าไล่ล่าลูกแกะ” มากกว่าจะเป็นเรื่องถูก-ผิดใดๆ)

นอกจากนั้น พรรคการเมืองนี้ยังได้รับการประเมินจากกองเชียร์ว่ามีการบริหารจัดการพรรคอย่างเป็นระบบ สะท้อนผ่านการมีกลุ่มก้อนต่างๆ สลับสับเปลี่ยนขึ้นมานำพรรค ในแง่นี้ พรรคจึงมิใช่สมบัติของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งอย่างตายตัว หรือมิได้เป็นศูนย์รวมมุ้งการเมือง ที่บางมุ้งพร้อมจะกระโดดหนีออกจากพรรคได้ทุกเมื่อ

ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองพรรคนี้ยังเคยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาแล้ว รวมทั้งเคยเป็นตัวเลือกหลักของกลุ่มอนุรักษนิยมในสงครามแบ่งขั้วแยกข้างทางอุดมการณ์ระหว่างทศวรรษ 2540-2550 (ก่อนที่สถานภาพดังกล่าวจะถูกยื้อแย่งไปในต้นทศวรรษ 2560)

อย่างไรก็ตาม ต่อให้พรรคการเมืองในย่อหน้าที่แล้วมีความเป็น “สถาบันการเมือง” จริง แต่สถานะดังกล่าวก็มิได้อยู่ยั้งยืนยงมั่นคงตลอดกาล ด้วยเหตุผลอย่างน้อยๆ 2 ข้อ

ข้อแรก ถ้าพรรคการเมืองใดยืนยันว่าตนเองเป็น “สถาบันการเมือง” ในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองนั้นก็ต้องยึดมั่นในคุณค่าของประชาธิปไตยโดยสม่ำเสมอ ไม่มีขาดตกบกพร่อง

พรรคการเมืองที่ประกาศตนเป็น “สถาบันการเมือง” จึงต้องทบทวนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าเคยมีพฤติกรรมออกนอกลู่นอกทาง (เช่น ไม่ต่อต้านรัฐประหาร หรือร่วมล้มการเลือกตั้ง) บ้างหรือไม่? อย่างไร?

หรือในฐานะพรรคการเมือง ซึ่งมีคะแนนเสียงของประชาชนเป็นพื้นฐานความชอบธรรม พวกคุณเคยมีส่วนในการใช้ความรุนแรง (โดยเจ้าหน้าที่รัฐ) ละเมิดสิทธิเสรีภาพและชีวิตของประชาชน (ที่ไม่ได้เลือกตัวเอง) บ้างหรือไม่?

ถ้าพรรคการเมืองใดไม่ยึดมั่นในคุณค่าหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเสียแล้ว ความเป็น “สถาบันการเมือง” ก็ย่อมต้องเสื่อมทรุดลงไป

 

ข้อสอง ต่อให้พรรคการเมืองบางพรรคมีความมั่นคงภายในมากขนาดไหน แต่ก็อาจหลีกเลี่ยงปัจจัยผันแปรภายนอกไปไม่พ้น

ยกตัวอย่างเช่น ค่านิยมใหม่ๆ ของสังคม ที่กำลังกร่อนเซาะวิถีปฏิบัติ-ความเคยชินแบบเดิมๆ ซึ่งกลายมาเป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับได้ในยุคปัจจุบัน

ที่ชัดๆ เลย คือกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นประเด็นเปราะบาง-อ่อนไหว ที่คนรุ่นใหม่ในสังคม “ทนไม่ได้” กันมากขึ้น

นี่เป็นแนวโน้มที่สวนทางกับการดำรงอยู่ของโลกใบเดิม ซึ่งอำนาจถูกผูกขาดอยู่ในมือผู้ชาย ส่วนการล่วงละเมิดผู้หญิง ก็กลายเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ แต่ถูกเก็บงำเอาไว้ในวงแคบๆ อย่างเงียบๆ โดยผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษร้ายแรง

ถ้าพรรคการเมืองใดปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ไม่ได้ ความเป็น “สถาบันการเมือง” ของพรรคนั้น ย่อมถูกกระแทกซัดอย่างรุนแรงจากพลวัตด้านนอกที่ถั่งโถมเข้ามา

ท้ายสุด อาการซวนเซเพราะสองปัจจัยข้างต้น ย่อมปลุกกระตุ้นให้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม-ก๊กที่ดำรงอยู่อย่างเป็นธรรมชาติใน “พรรค/สถาบันการเมือง” ใดๆ ปรากฏชัดเจนขึ้น

สังคมไทยกำลังมองเห็นภาพเช่นนี้ ผ่านชะตากรรมตกต่ำของ “พรรค/สถาบันการเมือง” บางพรรค/สถาบัน •