The Great Depression จากต้นปี 2564 สู่ต้นปี 2565 / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

The Great Depression จากต้นปี 2564 สู่ต้นปี 2565

 

ระหว่างนั่งอ่านหนังสือ “MATICHON Year In Review 2021” ที่จัดทำโดยศูนย์ข้อมูลมติชนและสำนักพิมพ์มติชน (ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอและรูปเล่มจากหนังสือ “บันทึกประเทศไทย” ของปีก่อนๆ) ไปเรื่อยๆ

ก็พบว่าเนื้อหาในหมวดหมู่ “The Great Depression” ของหนังสือเล่มนี้นั้น สามารถสรุปภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในรอบปีที่ผ่านมาเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2564 หรือราวหนึ่งปีเต็มก่อนหน้านี้

ณ เวลานั้น ตัวเลขเศรษฐกิจไทยของปี 2563 กำลังทยอยเผยแพร่ออกมา

โดยธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีของไทยในปี 2563 นั้นหดตัวติดลบ 6.1 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่า เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี นับแต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

ธนาคารแห่งประเทศไทยยังแถลงด้วยว่า อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในปี 2563 นั้นขยับไปที่ 86.6 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 18 ปี

ขณะเดียวกัน กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังเปิดเผยสถิติว่า ในปี 2563 มีการปิดโรงงานไป 719 แห่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานเกือบ 3 หมื่นราย

ส่วนกรมสุขภาพจิตก็เปิดข้อมูลว่า อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยได้ไต่ระดับขึ้นจากจำนวน 6 คนต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งคงที่มานาน 5-6 ปี เป็นจำนวน 7.3 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ในปี 2563

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ประเทศไทยย่อมได้รับผลกระทบมากหรือน้อยในบางส่วน สรุปก็คือได้รับผลกระทบทั้งหมด เจ็บทั้งหมด

ซึ่งรัฐบาลก็ต้องช่วยเหลือดูแล ทว่าแม้จะจำเป็นเพียงใดแต่งบประมาณก็มีจำกัด กติกากฎหมายต่างๆ ก็รัดกุม ฉะนั้น จึงพยายามจะหามาตรการที่ทำให้ทุกคนได้เข้าถึง และได้มีมาตรการปรับวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่เสนอมาในที่ประชุม ครม.ด้วย ขอให้ประชาชนติดตามต่อไป

ส่วนสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจต้องพิจารณาดูว่า ระยะแรกที่มีการแพร่ระบาด เศรษฐกิจเป็นอย่างไร การแพร่ระบาดระลอกที่ 2 เป็นอย่างไร ถ้าพิจารณาด้วยความเป็นธรรมจะเห็นว่าผลกระทบในระลอกที่ 2 น้อยกว่าระลอกที่ 1

และหากครั้งนี้สามารถคุมสถานการณ์ได้อีก พร้อมส่งเสริมมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือมาตรการช่วยเหลือประชาชน เชื่อว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มดีขึ้น พร้อมสำทับว่า

“ที่หลายคนกล่าวอ้างว่าผมทำให้เศรษฐกิจแย่ลง ก็ต้องดูด้วยว่าเศรษฐกิจระดับโลกและเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเป็นอย่างไร ประเทศรอบบ้านเป็นอย่างไร หลายๆ อย่าง (เรา) ดีขึ้นกว่าเขา ฉะนั้น อยู่ที่ความร่วมมือของพวกเรา ทั้งประชาชน ส่วนราชการ รวมถึงฝ่ายการเมืองด้วย อย่าเอาปัญหาเหล่านี้มาทำให้เกิดปัญหาการเมือง มันจะทำให้การบริหารเดินไปไม่ได้

“และใครจะได้รับผลเสีย ประชาชน ประเทศชาติเป็นที่รักของทุกคน และทุกคนอยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินนี้ จะทำอย่างไรให้แผ่นดินนี้มันสงบ ฉะนั้น ทุกคนต้องช่วยกัน”

 

หนึ่งปีผ่านพ้นไป โควิด-19 ยังไม่หนีจากเรา (และโลก) ไปไหน แม้จะมีการประเมินกันว่าเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่อาจมีอันตรายร้ายแรงไม่มากนัก

ขณะที่ในทางเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชนดูจะไม่ได้ยึดโยงอยู่กับปัญหาโรคระบาดในมนุษย์เพียงเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับเรื่อง “ของแพง” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากโรคระบาดสัตว์

นี่คือปรากฏการณ์ที่ผู้คนพากันเรียกขานว่า “แพงทั้งแผ่นดิน” ท่ามกลางบริบทที่ค่าแรงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และสภาพเศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้ดีขึ้นจริงๆ ในความรู้สึกของคนหาเช้ากินค่ำ

ยากที่จะกล่าวโทษว่าปัญหา “ข้าวยากหมากแพง” ในปัจจุบัน คือผลต่อเนื่องจากโควิด หรือเป็นแค่เกมการเมืองของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

เพราะหลายฝ่ายเห็นสอดคล้องต้องตรงกันว่า นี่คือปัญหาอันเกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลชุดนี้

ไม่แน่ใจว่าเมื่อถึงปี 2566 สถานการณ์ความเดือดร้อน ณ ขณะนี้ และผลสั่นสะเทือนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ จะถูกจดบันทึกเอาไว้เช่นไร?