ของดีมีอยู่ : ‘บุคคลแห่งปี’ และ ‘ฉายารัฐบาล’ ในมุมมอง 2 นักการเมืองหญิงฝ่ายค้าน

ของดีมีอยู่ / ปราปต์ บุนปาน

 

‘บุคคลแห่งปี’ และ ‘ฉายารัฐบาล’

ในมุมมอง 2 นักการเมืองหญิงฝ่ายค้าน

 

เมื่อเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต่อด้วยเริ่มต้นปีใหม่ สื่อมวลชนหลายสำนักมักจะจัดทำรายงานหรือบทสัมภาษณ์พิเศษเพื่อยกย่อง “บุคคลแห่งปี” ทั้งในมุมมองของตนเอง และมุมมองของผู้รอบรู้แขนงต่างๆ

ในกรณีสื่อสายการเมือง ยังมีการตั้งฉายารัฐบาลและนักการเมืองเด่นๆ แต่ก็ดูเหมือนนี่จะเป็นกิจกรรมรูทีน ซึ่งอ่อนพลังและลดทอนความแหลมคมลงเรื่อยๆ สวนทางกับพลวัตที่เป็นจริงของสถานการณ์บ้านเมือง

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 28 ธันวาคม 2564 มีโอกาสนั่งชมรายการ The Politics ข่าวบ้านการเมือง ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ซึ่งพิธีกรได้สัมภาษณ์ “ศิริกัญญา ตันสกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ “ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์” ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย

หนึ่งในบทสนทนาน่าสนใจช่วงท้ายๆ ก็คือ การตั้งคำถามว่าใครคือ “บุคคลแห่งปี” ตามทัศนะของสองผู้แทนราษฎรหญิง? และพวกเธอจะมอบฉายาอะไรให้แก่รัฐบาลชุดนี้?

 

ศิริกัญญาตอบว่ามีคณะบุคคลสองกลุ่มที่เธออยากยกย่องให้เป็น “บุคคลแห่งปี 2564” เคียงคู่กัน

กลุ่มแรก คือ เยาวชนที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านการชุมนุมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันบางส่วนยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทั้งที่ควรได้รับสิทธิการประกันตัวออกมาฉลองปีใหม่กับครอบครัวคนรู้จัก

เช่น “อานนท์ นำภา” “พริษฐ์ ชิวารักษ์” และ “เบนจา อะปัญ” เป็นต้น

“เรียกว่าความกล้าหาญของพวกคุณสามารถที่จะทำให้สังคมนี้ฉุกคิด แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถจะถอยกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้แล้ว ต้องขอชื่นชมความกล้าหาญของทุกๆ คนด้วย ก็เอาใจช่วยว่าวันหนึ่ง พวกคุณจะต้องได้รับเสรีภาพตามที่พวกคุณควรจะได้รับ”

บุคคลกลุ่มถัดมา คือ ชาวบ้านจะนะ โดยเฉพาะกลุ่ม “จะนะรักษ์ถิ่น”

“พวกเขาเป็นภาพสะท้อนได้เป็นอย่างดี ของการใช้นโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล โดยการพยายามที่จะเอื้อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง โดยที่ละเลยความคิดเห็นหรือเสียงของประชาชนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในพื้นที่

“อันนี้จะต้องเป็นภาพที่เราพบเห็นกันอีกมากแน่นอน ประชาชนที่ไม่ยอมจำนนต่อการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมต่อพวกเขา แล้วก็เรียกร้องทวงคืนสิทธิของปากท้องและการใช้ชีวิตตามที่พวกเขาควรจะได้รับ”

ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีในระดับหนึ่งว่า ภายหลังการต่อสู้-เจรจาต่อรองอันยืดเยื้อยาวนาน ในที่สุด ชาวบ้าน “จะนะรักษ์ถิ่น” ก็ได้รับ “ชัยชนะเล็กๆ” กลับบ้าน

ในแง่ตัวบุคคล “บุคคลแห่งปี” ตามความเห็นของทัศนีย์นั้นมีความสอดคล้องต้องตรงกับสิ่งที่เพื่อน ส.ส.พรรคก้าวไกล นำเสนอ

โดยเธอได้อธิบายขยายความ-กล่าวยกย่องคนเหล่านี้เพิ่มเติมว่า

“กลุ่มคนที่กล้าแสดงความเห็น เพื่อที่จะให้ประเทศก้าวต่อไปข้างหน้า เป็นประเทศที่ก้าวหน้า แม้จะถูกรัฐบาลจับกุม คุมขัง แล้วก็ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่ว่าเขาไม่ได้กลัว เขายังมีความคิดที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศพัฒนาต่อไป

“ต้องถือว่ากลุ่มบุคคลนี้คือกลุ่มบุคคลที่กุ้ง (ส.ส.ทัศนีย์) ยกย่องจริงๆ และยกย่องจากใจ ในสิ่งที่เราอยู่มาถึงทุกวันนี้ เราทำไม่ได้อย่างเขาเลย”

 

สำหรับคำถามเรื่อง “ฉายารัฐบาล” ส.ส.ศิริกัญญาตั้งฉายาให้แก่รัฐบาลชุดปัจจุบันว่า “รัฐบาลปรสิต”

ด้วยเหตุผลว่า ในมุมมองของเธอ นี่คือรัฐบาลที่ดำรงอยู่เพื่อประสานผลประโยชน์ทางการเมืองส่วนตัว ระหว่างพรรคการเมืองบางพรรคและกลุ่มทุนต่างๆ ทว่ากลับสูบเลือดสูบเนื้อประชาชน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

โดยสภาพเช่นนี้จะยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าใกล้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

ขณะที่ ส.ส.ทัศนีย์ มุ่งพิจารณาไปยังบุคคลสำคัญผู้เป็นแกนกลางหลักในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งคอยทำหน้าที่ประสานประโยชน์ทางการเมืองเพื่อค้ำยันความมั่นคงของรัฐบาล นั่นก็คือบุคคลผู้ชอบตอบคำถามต่างๆ ว่า “ไม่รู้ๆๆ”

ดังนั้น ส.ส.เชียงใหม่ จึงตั้งฉายาให้รัฐบาลชุดนี้แบบแสบๆ คันๆ ว่า “รัฐบาลกูไม่รู้”

ไม่แน่ใจว่าใครคือ “บุคคลแห่งปี” ในทัศนะของท่านผู้อ่าน? และแต่ละคนตั้ง “ฉายารัฐบาล” ว่าอะไรกันบ้าง?