ของดีมีอยู่ : นักการเมืองน้ำดีรุ่นใหม่ / ปราปต์ บุนปาน

ภาพประกอบจาก เฟสบุ๊ค พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

นักสังเกตการณ์จำนวนมากพากันวิเคราะห์ข่าว ส.ส. และ ส.ว. ส่วนใหญ่ โหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่ม Re-Solution ในฐานะ “บทพิสูจน์” ซึ่งชี้ว่ารัฐสภาไม่ใช่ความหวังสำหรับการปฏิรูป เปลี่ยนแปลง ประนีประนอมทางการเมือง

มิหนำซ้ำ ท่าทีของเสียงข้างมากในสภายังคล้ายบีบบังคับให้ประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยต้องลงไปต่อสู้บนท้องถนน ท่ามกลางความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์ปะทะแตกหักและความรุนแรง

งานเขียนชิ้นนี้อยากชวนผู้อ่านลองพิจารณาการต่อสู้ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญหนล่าสุด จากมุมอื่นๆ ดูบ้าง

ผ่านการวิเคราะห์เส้นทางทางการเมืองของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งท้ายสุด นี่อาจมิใช่เรื่องของตัวบุคคลในเชิงปัจเจก หากฉายภาพให้เราเห็นปรากฏการณ์กว้างใหญ่กว่านั้น

 

สังคมไทยเริ่มรู้จัก “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” เป็นครั้งแรกในฐานะหลานชายของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

อภิสิทธิ์ผู้เป็นอดีตนักการเมืองระดับ “โกลเด้นบอย” ของพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้แจ้งเกิดในกระแสการต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ.2535

ก่อนจะประสบกับสภาวะขาลง หลังขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหาร รวมทั้งเปิดทางให้มีการใช้กำลังทหารปราบปรามคนเสื้อแดงระหว่างปี 2552-2553

แล้วชีวิตทางการเมืองของอภิสิทธิ์ก็ปิดฉากลง ภายหลังพาพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างยับเยินในการเลือกตั้งปี 2562

ย่างก้าวแรกๆ ของพริษฐ์นั้นเจริญรอยตามน้าชายแบบเป๊ะๆ ตั้งแต่การเป็นนักเรียนอังกฤษ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แล้วกลับมาร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของกลุ่ม “New Dem” ก่อนการเลือกตั้ง 2562

อย่างไรก็ดี เส้นทางการเมืองช่วงเริ่มต้นของไอติมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนอภิสิทธิ์ เพราะเขา “สอบตก” ในสนามเลือกตั้ง กทม. อันเนื่องมาจากกระแสความนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์ที่ตกต่ำลง

 

แน่นอน “พริษฐ์ วัชรสินธุ” จำเป็นต้องตั้งต้นใหม่ และ “ทางสองแพร่ง” สำหรับเลือดใหม่ในพรรคการเมืองเก่าแก่ฝั่งอนุรักษนิยมเช่นเขา ก็มีอยู่ว่า หลังชัยชนะภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยจำแลง” ของเครือข่ายอำนาจ คสช. คุณจะทำให้ตนเองเป็น “ฝ่ายขวา” มากขึ้น หรือจะเปลี่ยนมาอยู่ “ฝั่งประชาธิปไตย” เต็มตัว?

ถึงปัจจุบัน เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วว่าพริษฐ์เลือกอย่างหลัง

ไม่เพียง “หลานอภิสิทธิ์” จะวางระยะห่างจากพรรคประชาธิปัตย์มากยิ่งขึ้นตามลำดับ จนแทบไม่ใช่ “คนในพรรค” อีกแล้ว

เขายังร่วมมือกับ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” (ซึ่งเคยเป็นคู่แข่งทางการเมือง) ในการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งบรรจุข้อเสนอที่ “ท้าทาย” ระบอบอำนาจปัจจุบันหลายเรื่อง

ตั้งแต่การเสนอให้ใช้ระบบสภาเดี่ยวหรือยกเลิก ส.ว., เปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยให้อำนาจ ส.ส.ในกระบวนการคัดเลือกมากขึ้น, ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ, เสนอให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.

ลบล้างผลพวงรัฐประหาร รวมถึงกำหนดให้ประชาชน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องต่อต้านรัฐประหาร, เพิ่มอำนาจตรวจสอบกองทัพ ศาล และองค์กรอิสระ ให้แก่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ตลอดจนเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตรวจสอบตุลาการ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

 

แม้ไม่ได้เข้าสภาในฐานะ ส.ส. ทว่าตลอดการประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 “ไอติม พริษฐ์” สามารถอภิปรายเกริ่นนำ ตอบข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภา และตอบโต้ความเห็นที่ไม่สมเหตุสมผลของฝ่ายตรงข้าม ในฐานะผู้ริเริ่ม-นำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้อย่างน่าประทับใจ

ศักยภาพการเป็น “นักการเมืองน้ำดีรุ่นใหม่” ของไอติม ปรากฏออกมาโดยชัดเจน ผ่านการทำงานในสภาเพียงแค่วันเดียว

ขณะที่ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันและมีภูมิหลังทางสังคมคล้ายคลึงกัน ซึ่งเข้าไปเป็น ส.ส.สังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทยหรือประชาธิปัตย์ กลับไม่อาจแสดงศักยภาพเช่นนั้นออกมาได้ ทั้งๆ ที่ทำงานในสภามาต่อเนื่องเป็นปีๆ

คงเร็วเกินไป ที่จะสรุปอนาคตในสังคมการเมืองไทย และบทบาท-สถานภาพอันแน่นอนในหน้าประวัติศาสตร์ของ “พริษฐ์ วัชรสินธุ”

แต่ความเคลื่อนไหวในปี 2564 ของไอติมและ “คนแบบเขา” ได้บ่งบอกพวกเราสองเรื่อง

 

เรื่องแรก ฝ่ายขวาไทยได้สูญเสียบุคลากรชั้นดีที่จะช่วยเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงและคนรุ่นใหม่

ฝ่ายขวาได้สูญเสียกำลังสำคัญที่จะช่วยพวกเขาในการแสวงหาลู่ทางของการประนีประนอม รวมถึงการมีตำแหน่งแห่งที่อันสง่างามในระบอบประชาธิปไตย

เรื่องที่สอง ฝ่ายขวาไทยไม่ได้เสียไอติมไปเพียงรายเดียว แต่ยังสูญเสีย “คนแบบเขา” ไปอีกหลายราย

อาทิ “ลูกนัท-ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย” อดีตแนวร่วม กปปส. อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตสมาชิกกลุ่ม “New Dem” ที่ผันตนเองมาร่วมม็อบฝ่ายประชาธิปไตย

และ “แก้วตา-ธิษะณา ชุณหะวัณ” บุตรสาว “อาจารย์โต้ง-ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” ซึ่งเปลี่ยนแปลงตนเองจากเด็กสาวชนชั้นสูงที่เข้าร่วมม็อบฝ่ายขวา มาเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และประกาศตัวชัดเจนว่าจะลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคก้าวไกล

บุคคลเหล่านี้คือลูกหลานชนชั้นนำผู้มีต้นทุนทางสังคมสูงลิ่ว ซึ่งถูกอบรมบ่มเพาะให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้นำ-ผู้บริหารประเทศ และสามารถเป็น “ฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีคุณภาพ” ได้

แต่เขาและเธอกลับเลือกที่จะถอยห่างออกมาจาก “เครือข่ายทางการเมือง” ประเภทเดิมของตนเอง

ภาวะกระอักกระอ่วนใจที่ฝ่ายขวาไทยมีต่อ “คนอย่างพริษฐ์” ปรากฏชัดในระหว่างการประชุมสภาวันที่ 16 พฤศจิกายน ซึ่งปฏิกิริยาที่นักการเมืองขั้วรัฐบาล (โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์) และ ส.ว.หลายคน สนองตอบต่อไอติมนั้น มีความแตกต่างจากอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงที่ซัดใส่ปิยบุตร

พอจะเห็นได้ว่าฝ่ายขวาผู้ต่อต้านความเปลี่ยนแปลงในสังคมการเมืองไทย ยังมิกล้ามอง “ไอติม พริษฐ์” เป็นเชื้อโรคร้าย ตัวป่วน นักปลุกระดม ฝ่ายตรงข้าม และ “คนอื่น”

เนื่องเพราะพริษฐ์คือลูกหลานของพวกเขา คือคนกันเอง คือสายเลือดใหม่ที่เคยดำรงอยู่ในเครือข่ายอำนาจเดียวกัน

แต่พวกเขาย่อมอดวิตกกังวลไม่ได้ว่าทำไมลูก-หลานเช่นไอติม จึงเลือกไปยืนหยัดท้าทาย ณ อีกฝั่งฟากทางการเมือง

นี่คือภาพชัดเจนของความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัย ที่สำแดงผ่านรอยแตกร้าวระหว่าง “รุ่น” ซึ่งซึมลึกลงไปถึง “สถาบันครอบครัว” และ “เครือข่ายอุปถัมภ์” ต่างๆ