ของดีมีอยู่ : โกรธแค้น – จลาจล สู่หนไหน ? / ปราปต์ บุนปาน

 

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

“เรื่องคนไทยใจเย็นผมตั้งชื่อเชิงล้อเท่านั้นเอง ว่าจริงๆ แล้วไม่ได้ใจเย็นอย่างนั้น เป็นแต่เพียงว่าความโกรธของเรามันจะนำไปสู่อย่างเหตุการณ์พฤษภา 35 ก็ได้ นำไปสู่ 14 ตุลา ก็ได้ กลายเป็นการจลาจลก็ได้

“เพราะฉะนั้น อย่าไปนึกว่า… คือเวลาที่นักวิชาการต่างประเทศมาบอกว่าคนไทยยัง ‘โกรธไม่พอ’ มันมีปัญหาทันทีว่า ‘โกรธ’ ของคุณหมายความว่าแค่ไหน? กับคำว่า ‘ไม่พอ’ นี่ไม่พอแก่อะไร?

“ซึ่งผมคิดว่าคนไทยตอนนี้โกรธพอที่จะก่อความจลาจลได้แล้ว และยิ่งคุณจัดการประท้วงโดยวิธีรุนแรงแบบนี้ ก็ยิ่งอาจจะก่อการจลาจลได้ง่ายขึ้น”

นี่คือคำสัมภาษณ์ล่าสุดของปัญญาอาวุโส “ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์” ผ่านรายการเอ็กซ์-อ๊อก Talk ทุกเรื่อง ที่เผยแพร่ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เป็นคำอธิบายที่ขยายความเพิ่มเติมเนื้อหาจากบทความเรื่อง “คนไทยใจเย็น” ของอาจารย์นิธิ ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

(อ่านได้ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 23-29 กรกฎาคม 2564 หรือ https://www.matichonweekly.com/column/article_445347)

 

นักประวัติศาสตร์อาวุโสท่านนี้อธิบายว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา ดุลอำนาจในสังคมไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อระบบแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพ นำไปสู่การมี “ผู้นำทหาร” ที่ไร้ความสามารถ เทียบไม่ได้กับ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” หรือ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์”

ขณะที่หากพิจารณาไปยังพื้นที่ของ “ทุน” เราก็จะพบเห็นบทบาทของ “ทุนขนาดกลาง” เพิ่มสูงขึ้น

พร้อมๆ กันนั้น “ผู้ดี” ยังสูญเสียบทบาทในการนำสังคมไป เพราะวัฒนธรรมต่างๆ ที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น กระทั่งการแบ่งลำดับขั้นทางวัฒนธรรมแบบเดิมต้องสูญหาย โดยมีความแตกต่างหลากหลายเข้ามาแทนที่

ยิ่งกว่านั้น คนชั้นกลางและคนชั้นล่างยังเริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นตามลำดับอย่างชัดเจน

ดุลอำนาจที่กระจัดกระจายและยังไม่ลงตัวนี้ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาทางการเมืองหลังยุค “รัฐธรรมนูญ 2540” ต้องลงเอยด้วยการยึดอำนาจเสมอมา

โดยที่การยึดอำนาจ/การรัฐประหารแต่ละครั้งก็ถูกต่อต้านจากผู้คน ในจำนวนที่มากขึ้นตามลำดับ

สภาวะทั้งหลายเหล่านี้นำไปสู่ “สังคมไทยที่ไร้ฉันทามติ”

ยิ่งเมื่อบวกเข้ากับสถานการณ์โควิด “ความโกรธ” และ “การจลาจล” จึงสามารถถือกำเนิดขึ้นมาได้

 

“จลาจลไม่ได้เกิดจากความคิด จลาจลนี่เกิดจากความโกรธ แล้วสิ่งที่น่ากลัวคือเวลาที่คนชุมนุมกันแล้วคุณใช้ความรุนแรง ฉีดน้ำโดยไม่จำเป็นจะต้องฉีด คุณยิงแก๊สน้ำตาโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องยิง คุณยิงกระสุนยางโดยไม่มีความจำเป็น ไอ้นี่แหละคือตัวที่ทำให้เกิดจลาจลได้

“ถ้าคนกำลังโกรธอยู่แล้วแทนที่คุณจะใช้วิธีการอื่น แต่คุณใช้วิธีเตะต่อย ไปนึกเหรอว่ามันกลัว ผมว่ามันไม่ใช่นะ

“ถ้าย้อนกลับไปดู จะเป็น 14 ตุลาก็ตาม จะเป็นพฤษภา 35 ก็ตาม เพราะคุณไปใช้ความรุนแรงไม่ใช่เหรอ? คือแทนที่จะทำให้คนไทยกลัว มันไม่ใช่ กลับตรงกันข้าม เพราะคนมันกำลังโกรธไง”

เมื่อความโกรธของประชาชนปะทะกับการใช้ความรุนแรงของรัฐ อันนำไปสู่ภาวะจลาจลจากความโกรธและความรุนแรงดังกล่าว ปัญหาต่อเนื่องลำดับถัดมาก็คือความวุ่นวายเหล่านั้นจะนำไปสู่อะไร?

ตามการวิเคราะห์ของอาจารย์นิธิ การจลาจลโดยตัวมันเองจะไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ใดๆ ยกเว้นแต่จะมีกลุ่มคนเข้ามาแปรเปลี่ยนการจลาจลนั้นๆ ให้กลายสภาพเป็น “พลังสร้างสรรค์” ซึ่งได้รับความพอใจระดับหนึ่งจากบุคคลหลายๆ ฝ่าย

คำถามก็คือ ณ ปัจจุบันนี้ ใครหรือกลุ่มไหนจะสามารถรับหน้าที่แปรการจลาจลหรือความโกรธของประชาชนให้กลายเป็นความสร้างสรรค์ทางสังคมได้?

 

อย่างไรก็ดี ปัญญาชนอาวุโสบอกเอาไว้ในคลิปสัมภาษณ์เดียวกันว่า ตนเองมีความหวังว่า “การจลาจลที่อาจจะเกิดขึ้น” นั้นจะไม่สูญเปล่าและหลงเหลือทิ้งไว้เพียงความเสียหาย

เหตุผลข้อสำคัญก็เป็นเพราะการเคลื่อนไหวของ “คนรุ่นใหม่” ตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา นั้นวางเป้าหมายเอาไว้อย่างชัดเจนว่าพวกเขาต้องการจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

เมื่อคนรุ่นใหม่รู้แน่ชัดว่าพวกตนต้องการอะไร สังคมไทยหลังภาวะ “โกรธ-จลาจล” จึงอาจไม่ได้ดำรงอยู่อย่างว่างเปล่า ไม่หลงเหลือความหวังใดๆ เสียทีเดียว