ของดีมีอยู่ : “ภราดรภาพใหม่ทางการเมือง” / ปราปต์ บุนปาน

ขอบคุณภาพจาก เส้นด้าย

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ตลอดสัปดาห์นี้ คนส่วนใหญ่คงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า “ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”

จุดที่ผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิตเพราะโควิดยังทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ

จุดที่สถานพยาบาลจำนวนมากและบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ารับมือสถานการณ์วิกฤตไม่ไหว

จุดที่มีประชาชนนอนเสียชีวิตริมถนนในเมืองหลวงของประเทศ

จุดที่มีอีกหลายครอบครัวในเมืองใหญ่เผชิญชะตากรรมติดโควิดยกบ้าน และต้องเฝ้ารอคอยการช่วยเหลืออยู่ในเคหสถานอันมีพื้นที่จำกัด

จุดที่ภาพความโรแมนติกในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ได้ปลาสนาการไป แล้วแทนที่ด้วยข่าวเจ้าของร้านอาหารเก่าแก่โด่งดังหลายรายทยอยอำลาจากโลกนี้เพราะมรสุมโรคระบาด

จุดที่เจ้าสัว ดารา ผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ มีความเสี่ยงจะต้องเจ็บป่วย-สูญเสียชีวิตไม่ต่างจากประชาชนคนเดินดินหาเช้ากินค่ำ (แม้ฝ่ายแรกจะมีโอกาสมากกว่าฝ่ายหลัง ในการเข้าถึงระบบการดูแลรักษาสุขภาพ)

สถานการณ์-ภาพรวมเช่นนี้ สะท้อนถึงวิถีชีวิตอันพังพินาศ อารมณ์ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความหดหู่-สิ้นหวัง วันคืนที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเรื่องราวในแง่ลบต่างๆ นานา ภายใต้รัฐที่ล้มเหลว!

 

ท่ามกลางสภาวะข้างต้น สิ่งหนึ่งที่กำลังก่อตัวขึ้นในสังคมการเมืองไทย ก็คือ “ภราดรภาพ” ซึ่งบางคนอาจเรียกขานว่าเป็น “ฉันทามติไล่ระบอบประยุทธ์”

นี่คือภราดรภาพอันเกิดจากการ “ร่วมทุกข์” ของผู้คนในสังคม

นี่คือภราดรภาพอันเกิดจาก “ความไม่ทุกข์ร้อน” เท่าที่ควรของรัฐบาล

รัฐบาล (และผู้นำรัฐบาล) ที่ไม่เคยออกมากล่าวขอโทษหรือแสดงความเสียใจอย่างจริงจังจริงใจ กับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นและกำลังดำเนินไปโดยยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด

รัฐบาลที่แทบจะไม่เคยออกมายอมรับในความผิดพลาดบกพร่องของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดในเรื่องนโยบายการจัดหาวัคซีน หรือความบกพร่องในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข

รัฐบาลที่ยังเยียวยา-ดูแลสวัสดิการของผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดได้ไม่ครอบคลุมถ้วนหน้า

รัฐบาลที่ยังคงออกมากล่าวโทษตำหนิติเตียนประชาชนอยู่เป็นระยะ แม้ในโมงยามแห่งวิกฤตการณ์ระดับสูงสุด

รัฐบาล (ทหารในเสื้อคลุมประชาธิปไตย) ที่ยังเชี่ยวชาญในเรื่องการควบคุมคน-ปราบปรามม็อบ มากกว่าเรื่องรักษาชีวิตพลเมือง

 

“ภราดรภาพใหม่ทางการเมือง” ที่กำลังก่อตัวขึ้นและขยายวงกว้างนั้นมีลักษณะน่าสนใจ

ประการสำคัญ คือ นี่มิใช่สายสัมพันธ์หรือการรวมกลุ่มก้อนที่วางฐานอยู่บนการแบ่งขั้วทางการเมือง เช่น “เหลืองกับแดง” หรือ “นกหวีด/กปปส./สลิ่ม กับฝ่ายประชาธิปไตย” แบบเดิมๆ เสียทีเดียว

เพราะอย่างน้อยๆ คนที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ “รัฐบาลประยุทธ์” ในห้วงเวลาปัจจุบัน ก็ยังรวมไปถึงคนบางกลุ่มที่ไม่ชอบทักษิณ/เสื้อแดง/เพื่อไทย รวมไปถึงคนบางกลุ่มที่เคยเชียร์ประยุทธ์/กองทัพ/รัฐประหาร

ยังรวมไปถึงดารานักร้องนักแสดงกลุ่มใหญ่ ทั้งที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลเพราะจุดยืนแท้จริงของตัวเอง และที่จำเป็นต้องแสดงออกเพราะถูกกระแสกดดันจากสังคม-ผู้บริโภครุ่นใหม่

เมื่อผนวกรวมกับการเคลื่อนไหวของประชาชน-คนรุ่นใหม่ฝ่ายประชาธิปไตยที่ไม่เอา “ระบอบประยุทธ์” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

เมื่อผนวกรวมกับความสูญเสียรายวันที่สามารถบังเกิดขึ้นได้กับสมาชิกของทุกกลุ่มการเมือง ทุกเสื้อสี

นี่จึงเป็น “ภราดรภาพใหม่ทางการเมือง” ที่กว้างขวางกว่ากลุ่มการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่งในช่วงประมาณทศวรรษที่ผ่านมา

 

ในยุคสมัยที่รัฐบาล/รัฐไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปกป้องดูแลชีวิตของประชาชน

ในสภาพการณ์ที่วิกฤตโรคระบาดจะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ-สังคม และวิกฤตการเมืองเต็มรูปแบบ

“ภราดรภาพใหม่ทางการเมือง” จากภาวะแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส จะค่อยๆ กลายสภาพเป็น “คลื่นพลังก้อนใหญ่” ที่ถาโถมเข้าใส่ “รัฐบาลประยุทธ์” และเครือข่ายแวดล้อมสนับสนุน โดยมีลักษณะประนีประนอมน้อยลงเรื่อยๆ

ผลลัพธ์ของการปะทะกันดังกล่าวในอนาคตอันใกล้นั้นเกินจะคาดเดา ณ ปัจจุบัน เช่นเดียวกับการทำนายว่าสถานการณ์โควิดระลอกนี้จะคลี่คลายตัวลงเมื่อใด

แต่พึงตระหนักและไม่ควรลืมเลือนเป็นอันขาดว่า “ภราดรภาพ” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจาก “การร่วมทุกข์” หรือ “พลังด้านลบ” ของผู้คนจำนวนมหาศาลในสังคมนั้น

สามารถจะถูกแปรสภาพเป็น “พลังทำลายล้างขั้นสูง” หรือ “ภาวะปั่นป่วนจลาจล” ได้พอๆ กับการเป็น “พลังสร้างสรรค์” หรือ “ความห่วงหาอาทร” ซึ่งกันและกัน