ของดีมีอยู่ : เสียงอื้ออึงในความมืดมิด / ปราปต์ บุนปาน

 

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ในวาระครบรอบ 88 ปี ประชาธิปไตยไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ทีมข่าว “มติชนทีวี” เคยไปพูดคุยกับ “ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์” แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำถามข้อสุดท้ายในการสัมภาษณ์คราวนั้นก็คือ อาจารย์วรเจตน์มองอนาคตประชาธิปไตยไทยอย่างไร? ยังมีความหวังหรือไม่?

ซึ่งนำไปสู่คำตอบเชิงอุปมาเปรียบเทียบอันแหลมคม ดังนี้

“คือถ้าถามผม ผมว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในช่วงที่มืดที่สุดช่วงหนึ่ง ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต คือหลายปีก่อน สักเกือบสิบปีมาแล้ว ผมเคยบอกว่าเราอยู่ใน ‘ยุคกลาง’ ยุคกลางมันคือ ‘ยุคมืด’ นั่นแหละ แล้วผมก็นึกว่า โอเค อีกไม่กี่ปีเราคงจะพ้นไปได้

“แต่ว่าถ้าดูจากบริบท (ปัจจุบัน) เอาในทางกฎหมายของประเทศไทยโดยรวม ผมพบว่ามันมืดมากขึ้นกว่าเมื่อสิบปีก่อน ในความเห็นของผมนะ มันอาจจะมืดมากขึ้น

“แต่ว่าในความมืดมากขึ้น มันก็มี ‘เสียงอื้ออึง’ มากขึ้น นึกภาพออกไหมครับ? ก็คือในสมัยก่อนมันมืด แล้วก็ไม่ค่อยมีเสียงอื้ออึง มันมืดแล้วมันอาจจะเงียบ

“ปัจจุบันนี้ ผมอาจจะบอกว่ามันอาจจะมืดอีก อยู่ในรัตติกาลที่มันมืดมาก แต่ว่าเสียงนี่มันอื้ออึงขึ้น อย่างน้อยมันมีเสียง แสงอาจจะยังไม่เห็น แต่เสียงเนี่ยเห็นแล้ว ผมอาจจะพูดแบบนี้

“เสียงเนี่ยเราได้ยินเสียง ได้ยินมากกว่าเมื่อสิบปีที่แล้ว ไม่ใช่ว่าสิบปีที่แล้วมันไม่อื้ออึงนะ สิบปีที่แล้วมันก็อื้ออึง แต่สิบปีที่แล้ว ไอ้ความอื้ออึงมันถูกกดทับเอาไว้ ปัจจุบันก็มีความพยายามกดทับ แต่ผมว่ามันทำได้ไม่สนิท มันมีความเปลี่ยนแปลงไป แล้วความอื้ออึงมันมากขึ้น เพียงแต่ว่าแสงมันยังไม่มา

“ซึ่งผมเชื่อว่า โอเค เมื่อผ่านไปอีกช่วงหนึ่ง เมื่อเสียงอื้ออึงมันมากขึ้นๆ กดไม่ได้อีกต่อไป แสงมันก็จะมา เราก็อาจจะพอเห็นความรำไรๆ อยู่ แต่ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าตอนนี้เราอยู่ในความมืด ความมืดมิด

“ผมก็อยู่ในความมืดเหมือนกัน มองที่มือตัวเองอาจจะแทบยังไม่เห็นเลย แต่ได้ยินเสียง”

 

หลังจากนั้น ดูคล้าย “เสียงอื้ออึง” ตามคำตอบของอาจารย์วรเจตน์จะเริ่มก่อตัวขึ้นในเชิงรูปธรรม และถูกแปรสภาพกลายเป็นขบวนเคลื่อนไหวทางการเมืองระลอกใหญ่โดย “คนรุ่นใหม่” ตลอดครึ่งหลังของปี 2563

ก่อนที่กระแสดังกล่าวจะค่อยๆ สร่างซาลงไป ทั้งเพราะเงื่อนไขทางการเมืองและเงื่อนไขการแพร่ระบาดของโควิด

เดือนมิถุนายน 2564 ก่อนวาระครบรอบ 89 ปี ประชาธิปไตยไทย ไม่นาน ทีมข่าว “มติชนทีวี” มีนัดสนทนากับอาจารย์วรเจตน์อีกครั้ง

คำถามข้อสุดท้ายที่ต้องถามย้ำซ้ำอีกหนก็คือ “เสียงอื้ออึง” ซึ่งเคยถูกกล่าวถึงเมื่อปีที่แล้ว ยังคงดำรงอยู่หรือไม่? มันดังมากขึ้นกว่าเดิมหรือดังน้อยลงกว่าเดิม?

และนี่คือคำตอบ/คำยืนยันของศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนผู้ยึดมั่นในหลักการเสมอมา

 

“คงอยู่ครับ คงอยู่ เสียงพวกนี้ยังคงอยู่ แน่นอน โดยทั่วไปเราอาจจะเห็นว่ามันดูเงียบลง การเคลื่อนไหวมันไม่ปรากฏตัวขึ้นมาในทางกายภาพ แต่เราคงจะมองเรื่องทุกอย่างในทางกายภาพไม่ได้ เราคงจะต้องมองไปในระนาบทั่วไป ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนจำนวนมาก

“ผมคิดว่ามันอื้ออึงแหละ… เพียงแต่ว่าเราจะยอมรับมันหรือไม่เท่านั้น แต่แน่นอนว่า โอเค บางครั้งเสียงมันจะดังมากขนาดไหน แล้วมันจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร มันยังใช้เวลา มันต้องใช้เวลา แต่มันเป็นสัญญาณที่ความเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดขึ้น

“ผมเชื่อว่าจะไม่มีองค์กรรัฐองค์กรไหนในวันข้างหน้า จะดำรงคงอยู่ในสภาพแบบนี้ไปได้ยาวนาน มันต้องเปลี่ยน เราเคยเห็นไหมครับ? องค์กรตุลาการอยู่ในฐานะซึ่งถูกวิจารณ์แบบนี้

“จริงๆ สิบกว่าปีมานี้ มันเป็นเรื่องที่เราพอจะเห็นภาพ นี่คือผลพวงของ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ชัดๆ เลย เพียงแต่ว่ามันไม่ทันเห็นในช่วงนั้น มัน (มา) ปรากฏตัวในฉากทัศน์ใหม่ของการเมือง มันคือสิ่งที่หลายคนพยายามบอกว่าให้ศาลขยายบทบาทเข้าไปในทางการเมือง เพื่อแก้ปัญหาในทางการเมือง

“แล้วผมเคยเตือนเอาไว้ว่าราคามันจะสูงมาก วันนี้ยังเดินกันไปอย่างเดิมครับ เพียงแต่ว่าเรื่องมันจะเปลี่ยนเรื่องไป ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง มันอาจจะเป็นเรื่องอื่น แต่ราคาเหมือนเดิม สูงกว่าเดิมด้วยซ้ำครับ ราคาที่ต้องจ่ายไปสูงกว่าเดิมด้วยซ้ำ

“ตอนนี้ ฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ เขาคงคิดว่าเขามีจ่าย โอเค เขามีจ่าย คุณก็จ่ายไปเถอะ จนถึงวันหนึ่ง เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ก็คงไม่มีจ่าย ก็คงจะเปลี่ยน

“แน่นอน ผมไม่กล้าพยากรณ์ว่าผมจะอยู่ทันเห็นไหม ผมอาจจะไม่อยู่ทันเห็นก็ได้ แต่ว่ามันเปลี่ยน”

ไม่มีใครแน่ใจว่าในห้วงเวลาหกเดือนที่เหลือของปีนี้ “เสียงอื้ออึงที่ยังคงอยู่” ตามทัศนะอาจารย์วรเจตน์ จะก่อตัวขึ้นเป็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ อะไรอีก?