ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 มีนาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
ของดีมีอยู่ / ปราปต์ บุนปาน
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่นอนว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ/จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่รอบนี้ จะต้องไปลงเอยที่การทำ “ประชามติ”
เท่ากับว่าความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมการเมืองไทย จะถูกโยนกลับไปสู่มือ “ประชาชน” และการตัดสินใจของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง
เวลากล่าวถึง “ประชาชน” เราอาจหลงรู้สึกว่านี่คือจำนวน/ปริมาณอะไรสักอย่างที่สามารถจับต้องได้ในเชิงรูปธรรม ทว่าพร้อมๆ กันนั้น “ประชาชน” ก็มีความเป็นนามธรรมอยู่สูงเช่นกัน
เพราะไม่มีใครสามารถแน่ใจหรือรู้ชัดได้ว่า “ประชาชน” นั้นเปลี่ยนแปลงไปในเชิงคุณภาพมากน้อยแค่ไหน?
อารมณ์-ความรู้สึก-ประสบการณ์-โลกทัศน์ของ “ประชาชน” ผันแปรไปเพียงใด?
อย่างไรก็ดี “ประชามติ” คือเครื่องมือประเภทหนึ่งที่สามารถใช้วัด-สำรวจ “ความนามธรรม” อันจับต้องไม่ค่อยได้เหล่านั้น
ด้านหนึ่ง ย่อมมีความคิดว่า “ประชาชน” และ “คะแนนเสียงของประชาชน” คือตัวเลข/จำนวนที่สามารถคิดคำนวณ กะเกณฑ์ ควบคุมเอาไว้ได้ล่วงหน้า (ระดับหนึ่ง) โดยผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ
เฉกเช่น “คะแนนเสียงของประชาชน” ในการเลือกตั้งระดับชาติ การเลือกตั้งท้องถิ่น รวมถึงการเลือกตั้งซ่อมระยะหลังๆ
ขณะเดียวกัน ก็มิอาจปฏิเสธว่าประสบการณ์เรื่อง “ประชามติ” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยนั้น มีภาพจำใน “แง่มุมโหดร้าย” มากกว่า “แง่มุมงดงาม”
ดังเช่นกระบวนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 และ 2560 ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศอันไม่เป็นประชาธิปไตย กระทั่งฝ่ายเห็นต่างจากรัฐและผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถรณรงค์ทางความคิดได้อย่างเต็มที่
ผลลัพธ์จึงออกมาว่าฝ่ายรับร่างเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ระบอบประชาธิปไตยไม่เต็มใบ” ประสบชัยชนะ ส่วน “ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย” ที่เห็นว่าไม่ควรรับร่าง กลับพ่ายแพ้ทั้งสองครั้ง
แต่อีกมุมหนึ่ง ทุกฝ่ายก็คงต้องตั้งคำถามกับตนเองว่า คุณเข้าใจ “ประชาชน” ณ ห้วงเวลาปัจจุบันแค่ไหน?
“ประชาชน” ที่ไม่ใช่ “ประชากรรายหัว” แต่เป็น “ความต่อเนื่องของผู้คน” (ทั้งที่มีชีวิตอยู่และสิ้นชีวิตไปแล้ว) มีพัฒนาการ มีพลวัต มีความแปรเปลี่ยน และมีความย้อนแย้ง จากรุ่นสู่รุ่น จากกลุ่มสู่กลุ่ม
แม้หลายคนจะหวั่นวิตกกับเครือข่ายของกลไกระบบราชการอันกว้างขวาง (ที่ประสานงานกับทุนใหญ่ๆ) จนแผ่ขยายอำนาจไปอย่างไพศาล
แต่ในทางกลับกัน ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา “เครือข่ายของประชาชน” ก็มีความเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน
จาก “คณะราษฎร 2563” และ “เยาวชนปลดแอก” ซึ่งมีโจทย์ใหญ่เรื่อง “อุดมการณ์การเมือง”
ไปสู่กลุ่ม “นักเรียนเลว” และการตั้งคำถาม-การต่อสู้ในประเด็นเพศสภาพ, ศาสนา ตลอดจนเรื่องสิทธิชุมชน-กลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ กรณี #SAVEบางกลอย
จากการระดมความเห็น-อารมณ์ใน “ทวิตเตอร์” ไปสู่การเคลื่อนไหวบน “ท้องถนน” แล้วกลับมาแลกเปลี่ยนทัศนะกันที่ “คลับเฮาส์”
ทั้งหมดนี้คือ “กระแสความคิดของผู้คน” ที่ยังคงไหลเลื่อนเคลื่อนไหวโดยมิขาดตอนและไม่ได้สูญหายไปไหน
แม้ในเชิง “ปฏิบัติการ” จะมีจุดพีก จุดล้า และการถูกจับกุมคุมขังพรากสิทธิเสรีภาพ
“ประชามติรัฐธรรมนูญ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ภายใต้รัฐบาลซึ่งสวม “เสื้อคลุมประชาธิปไตย” และมาจากการเลือกตั้ง (แม้หลายกลไกแวดล้อมจะพิกลพิการ) อาจเป็น “กระบวนการทำประชามติ” ที่เปิดกว้างกว่าครั้งก่อนๆ
และเป็นโอกาสที่ “ประชาชน” ฝ่ายนิยมประชาธิปไตย จะได้เปิดหน้าสู้กับอำนาจรัฐอย่างจริงจังและชอบธรรมอีกคำรบ
ท่ามกลาง “ความแตกต่างหลากหลาย” อันเป็นทั้งจุดเด่นและจุดอ่อนของ “ขบวนการประชาธิปไตย” ระลอกล่าสุด
บางที จุดร่วมในการรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ อย่างเป็นระบบ อาจนำไปสู่การทำงานในลักษณะเครือข่ายที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น และสามารถระดมพลสนับสนุนออกมาได้มหาศาลมากขึ้น
ขณะที่บรรดาคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะได้มีส่วนร่วมกับ “กระบวนการลงประชามติ” เป็นคราวแรก ก็ย่อมเป็นกำลังสำคัญในรณรงค์ต่อสู้ด้วยความคิดสร้างสรรค์และวิธีการใหม่ๆ
พลังเหล่านี้จะยิ่งทวีสูง หากรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา และองค์กรการเมืองอื่นๆ มีท่าทียื้อยุดให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญดำเนินไปอย่างยุ่งยาก คลุมเครือ ไร้ทางออกเด่นชัด