ของดีมีอยู่ : “เกมการเลือกตั้ง” ของเผด็จการในคราบประชาธิปไตย?! / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่ / ปราปต์ บุนปาน

 

ไม่แน่ใจว่าสังคมการเมืองไทยกำลังตกอยู่ในภาวะ “สองนคราประชาธิปไตย” ฉบับล่าสุดหรือไม่?

ในห้วงเวลาที่ “ม็อบคนรุ่นใหม่” กำลังปรับตัวปรับทิศทาง เพราะเภทภัยภายนอก คือการดำเนินคดีและมาตรการปราบปรามอย่างเข้มข้นของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงคำถามภายในขบวนการ ถึงแนวทางการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่ควรจะเป็น เพื่อเอาชนะใจสมาชิกร่วมสังคมจำนวนมาก

แต่อีกด้านหนึ่ง แกนนำรัฐบาลอย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” ก็ชนะศึกเลือกตั้งซ่อมอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายสนาม

ล่าสุดคือการคว้าชัยในสนามเลือกตั้งซ่อมจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 3 เป็นการเอาชนะ “พรรคประชาธิปัตย์” เจ้าของเก้าอี้เดิม และ “พันธมิตร” ร่วมรัฐบาล

ท่ามกลางบทบาทอันโดดเด่นของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รวมทั้งการลงพื้นที่หาเสียงอย่างแข็งขันของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

เท่ากับว่าหลังจากปี 2562 “พรรคพลังประชารัฐ” มีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นโดยต่อเนื่อง เพราะความสำเร็จในสนามเลือกตั้งย่อยๆ มิใช่เพียงการมี “งูเห่า” หรือ “ลิง” อยู่ในมือ

ไม่ว่าความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่าในการเลือกตั้งซ่อมของพรรคแกนนำรัฐบาลจะเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด?

กลไกอำนาจรัฐอันทรงประสิทธิภาพ?

การตัดสินใจจากปัจจัยเฉพาะหน้าของประชาชนในเขตเลือกตั้ง?

หรือความสำเร็จของโครงการประชานิยมต่างๆ ที่แลดู “ไม่เวิร์ก-ไม่ยั่งยืน” สักเท่าใดนัก ในสายตาของผู้มีความรู้และฝ่ายต่อต้านรัฐบาล?

อย่างไรก็ตาม เรามิอาจปฏิเสธ “ความเป็นประชาธิปไตย” และ “กระบวนการอันเป็นประชาธิปไตย” ที่ดำรงอยู่ใน “การเลือกตั้ง” ได้

 

ย้อนไปสู่ห้วงความขัดแย้งในบริบทหลังรัฐประหาร 2549 หรือความขัดแย้งระหว่าง “คนเสื้อแดง” กับ “คนเสื้อเหลือง-สลิ่ม-กปปส.”

การออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านประชาธิปไตยจะถูกผูกติดอยู่กับการเพิกเฉยต่อคุณค่าของคะแนนเสียงจากประชาชน การขัดขวาง-รังเกียจการเลือกตั้ง และการรัฐประหารโดยกองทัพ

ขณะที่มวลชนฝ่ายสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยก็สามารถยืนกรานความชอบธรรมของพวกตน ผ่านชัยชนะอย่างขาดลอยในสนามเลือกตั้งระดับชาติของพรรคการเมืองใหญ่ คือ “ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย”

ดังนั้น “บัตรเลือกตั้ง” จึงถือเป็นอาวุธหรือสมบัติก้นหีบของประชาชนฟากฝั่งประชาธิปไตย และการปฏิเสธความชอบธรรมของผลการเลือกตั้ง ย่อมถือเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยโดยปริยาย

น่าตั้งคำถามว่า สภาพการณ์ดังกล่าวที่ดำรงคงอยู่มานานนับทศวรรษ กำลังจะ “เปลี่ยนแปลง” ไปหรือไม่ในสังคมการเมืองยุคปัจจุบัน?

เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มมองไม่เห็น “ความหวัง” ในระบบรัฐสภา หลังจากผลการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ถูกบิดเบือนเจตนารมณ์โดยรัฐธรรมนูญ กระทั่งพรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล, เกิดปรากฏการณ์ “งูเห่า” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แถมรัฐบาลยังมี “แต้มต่อ” อีก 250 เสียง ชนิดที่ไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน

ขณะเดียวกัน “การเลือกตั้ง” กลับค่อยๆ เลื่อนไหลเข้าไปอยู่ในเกม-กติกาของผู้ถืออำนาจ ที่ถูกมองว่าเป็น “เผด็จการในเสื้อคลุมประชาธิปไตย” หรือ “ขุนศึกที่ห้อมล้อมด้วยบรรดานักเลือกตั้ง”

พร้อมๆ กับที่เหตุการณ์ “กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง” ในอดีต ถูกประเมินใหม่เป็น “มลทินตกยุค”

 

คําถามสำคัญหลังจากนี้ จึงมีอยู่ว่า “การเลือกตั้ง” จะยังเป็น “คุณลักษณะ” ของ “ขบวนการประชาธิปไตยไทย” อยู่อีกหรือไม่?

ถ้าคำตอบคือ “ยังเป็น” จุดท้าทายลำดับถัดไปก็อาจอยู่ที่ว่าขบวนการประชาธิปไตยและพรรคการเมืองที่ถูกนิยามเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” จะทวงคืน “ความสำเร็จในสนามเลือกตั้ง” กลับคืนมาได้อย่างไร?

ท่ามกลางความคลางแคลงใจที่ว่า ถ้ามีการยุบสภาในเร็วๆ นี้ และมีการเลือกตั้งใหม่ ทั้ง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคก้าวไกล” (อดีต “อนาคตใหม่”) อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าเมื่อสองปีก่อน

นอกจากนั้น ยังน่าตั้งคำถามว่า เมื่อขั้ว “พรรคพลังประชารัฐ” คล้ายจะเชี่ยวชาญใน “เกมเลือกตั้ง” มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แล้ว “อัปลักษณ์ทางประชาธิปไตย” บางประการ เช่น 250 ส.ว. จะยังมีความจำเป็นต่อการเดินทางบน “ถนนสายประชาธิปไตย” ของพรรคการเมืองพรรคนี้อยู่อีกหรือไม่? มากน้อยแค่ไหน?