ของดีมีอยู่ : การเมืองเรื่องพื้นที่ ‘สนามหลวง’ / ปราปต์ บุนปาน

ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่ 

เย็นๆ ค่ำๆ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จากช่วงปลายปี 2563 จนถึงต้นปี 2564 ถ้าใครขับรถหรือเดินผ่าน “สนามหลวง” อาจจะได้พบเห็น “ภาพไม่ค่อยคุ้นตา” บางอย่าง

เริ่มจากรถยนต์ที่จอดกันเต็มริมถนน

ขณะที่ตรงลานปูนกลาง “สนามหลวง” ก็จะเนืองแน่นไปด้วยเด็กน้อย-คนหนุ่ม-สาวชนชั้นกลาง ซึ่งออกมารวมตัวเล่น “เซิร์ฟสเก๊ตบอร์ด” และ “โรลเลอร์เบลด”

ทั้งยังมีผู้คนมาวิ่งออกกำลังกาย ขี่จักรยาน มีครอบครัว (ไล่ตั้งแต่รุ่นปู่-ย่า ถึงลูก-หลาน) มาเดินเล่น-ถ่ายรูปกันบ้างพอสมควร

มองในแง่นี้ คนกรุงเทพฯ ก็เหมือนเพิ่งได้ “พื้นที่สาธารณะใหม่” กลางเขตเมืองเก่า หรือได้รับ “พื้นที่สาธารณะเก่า” กลับคืนมา

เมื่อ “สนามหลวง” หวนมา “เปิดรับ” ประชาชนอีกหน

(ครั้งแรกที่ผมเดินผ่านไปหลังปีใหม่ไม่นาน “สนามหลวง” นั้นเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าไปเล่นสเก๊ต ออกกำลังได้ตามสะดวก ก่อนที่หลังจากนั้น จะมีการคัดกรองผู้เข้าใช้บริการ เมื่อโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาด)

 

ภาพของผู้คนจำนวนมากที่ใช้เวลาว่างไปกับการปลดปล่อยร่างกาย-จิตใจให้เลื่อนไหลไปมาบนล้อสเก๊ต บริเวณใจกลางสนามหลวง โดยมีพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว ศาลฎีกา วัดมหาธาตุฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสะพานพระราม 8 เป็นทัศนียภาพรายรอบ-ฉากหลังนั้น

แลดู “แปลกตาดี”

แม้หลายคนอาจมองว่า “กระแสเล่นสเก๊ต” เป็นเพียงเรื่องแฟชั่นประเดี๋ยวประด๋าวไม่ยั่งยืน และไม่น่าจะมีสารทาง “การเมือง-สังคม-วัฒนธรรม” อันแหลมคมหนักแน่นใดๆ

เพราะ “เซิร์ฟสเก๊ตบอร์ด” และ “โรลเลอร์เบลด” มิได้แปรให้ “สนามหลวง” กลายสภาพเป็น “พื้นที่ทางการเมือง” หรือ “พื้นที่ในการชุมนุมประท้วง” แบบตรงไปตรงมา

ทว่าหากพิจารณาในแง่ “การเมืองเรื่องพื้นที่” นิยาม-ความหมาย-หน้าที่ของ “สนามหลวง” ก็ถูกขยับขยายให้มีพลวัต-กว้างขวางขึ้นอีกหน เพราะกระแสแฟชั่นดังกล่าว

ทั้งนี้ คงมิอาจกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าภาพคนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครซึ่งโลดแล่นอยู่บนพื้นที่ “สนามหลวง” คือ อัตราชี้วัดที่บ่งบอกว่าเมืองไทยก้าวหน้า-เปลี่ยนแปลงไปมาก

อย่างมากที่สุด หลายคนก็อาจบอกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้น คือ การทำให้ “สนามหลวง” ย้อนกลับไปมีหน้าที่เป็น “พื้นที่สาธารณะ” คล้ายๆ เดิม เหมือนเมื่อหลายทศวรรษก่อน

แต่อย่างน้อย “สนามหลวง” ณ ต้นปี 2564 ก็มีสภาพเปลี่ยนแปลงไป เปิดกว้างขึ้น และมีหน้าที่ทางสังคมเพิ่มมากขึ้นแน่ๆ หากเปรียบเทียบกับ “สนามหลวง” ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“สนามหลวง” ณ ปัจจุบัน ไม่ได้ถูกล้อมรั้วห้ามเข้า หรือถูกกำหนดนิยามในฐานะ “โบราณสถาน” โดยเคร่งครัด ดังที่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวอ้างเอาไว้เมื่อไม่กี่เดือนก่อน

ขณะเดียวกัน “สนามหลวง” ก็มิได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็น “สนามราษฎร” ที่ผูกพันอยู่กับการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นจริงจังตลอดเวลา

ถ้าจะมี “ความเป็นการเมือง” อุบัติขึ้นบน “สนามหลวง” ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา นั่นก็ดูจะเป็นเรื่อง “การเมืองวัฒนธรรม” หรือ “การเมืองในชีวิตประจำวัน-เวลาว่าง” มากกว่า

นี่คือผลลัพธ์แบบ “กลางๆ” ไม่สุดขั้วไปด้านใดด้านหนึ่ง ที่ผลิดอกออกผลมาจากการปะทะกันระหว่างคุณค่า-อุดมการณ์ทางการเมืองสองชุดเมื่อปลายปีก่อน

 

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าบรรดาผู้ชื่นชอบนิยม “กีฬาสเก๊ต” ที่รวมกลุ่มกันบริเวณ “สนามหลวง” นั้นมีความรู้สึก-มุมมองเช่นใด? ในช่วงค่ำวันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ซึ่งเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้ากันระหว่างม็อบ “คณะราษฎร” กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างตึงเครียดอีกครั้ง ใกล้ๆ “สนามหลวง”

พวกเขาจะรู้สึกว่า “กิจกรรมสันทนาการ” ของพวกตนกำลังถูกระงับขัดขวางจนน่าหงุดหงิดใจ?

พวกเขาจะรู้สึกเห็นด้วยกับฝ่ายรัฐ?

หรือจะรู้สึกเห็นใจ-รับไม่ได้ กรณี “อาสาสมัครทีมแพทย์อาสา” ถูกทำร้าย?

นี่เป็นคำถามที่ยังไม่มีใครเข้าไปสอบถามคนที่ดูเหมือนจะ “กลางๆ” เหล่านั้น

และยังไม่มีคำตอบ-จุดยืนทางการเมืองใดๆ ถูกถ่ายทอดออกมาจาก “ลานสเก๊ต” บน “สนามหลวง”

แน่นอน นับจากการชุมนุมของ “คณะราษฎร” ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป แนวปะทะ-วิวาทะ-ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ย่อมกลับมาร้อนระอุอีกครั้ง

สภาวะเช่นนั้นคงส่งผลให้พื้นที่ “สนามหลวง” ตกไปอยู่ในท่ามกลางสมรภูมิของการรื้อสร้างความหมายใหม่ๆ อีกคำรบ

เพียงแต่ว่า “สนามหลวง” และ “สังคมการเมืองไทยโดยรวม” ในปีนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเท่านั้นเอง