ฐากูร บุนปาน | อย่าแปลกใจ ถ้าการชุมนุม 14 ตุลา เต็มไปด้วยความหลากหลาย

เมื่อกำหนดการชุมนุมใหญ่เอาไว้ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563

ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมมีความยึดโยงไปถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ซึ่งย่อมต้องเกี่ยวพันไปถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกพยายามทำให้พร่าเลือนอย่าง 6 ตุลาคม 2519

อย่างที่คุณจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวปาฐกถาเอาไว้ในงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ว่า

การรำลึก 6 ตุลาฯ ในปีนี้ค่อนข้างมีความหมายที่พิเศษ เนื่องจากในระยะหลัง โดยเฉพาะปีสองปีมานี้ มีการพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลา โดยเฉพาะ 6 ตุลาฯ โดยคนรุ่นใหม่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

มีการวิเคราะห์ และศึกษามาอย่างลึกซึ้ง และทวงถามหาคนผิดและความยุติธรรม

และในปีนี้มีการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาที่มากกว่าการแสดงความอาลัย แต่กำลังจะมีการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไปในทางที่ดี

ดังนั้น ควรจะมองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ด้วยใจที่เปิดกว้าง และทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถนิ่งเฉยดูความล้าหลังของประเทศ และความเดือดร้อนของประชาชน

“การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาในอดีต มีจุดรวมกันอยู่ที่การมองเห็นปัญหาของบ้านเมืองและการมีความใฝ่ฝันว่าอยากเห็นสังคมที่ดี

“รวมทั้งต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง”

จุดที่ต่างกัน คือปัญหาของบ้านเมืองที่ซับซ้อนกว่าในอดีต อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีและการรับรู้ข่าวสารในปัจจุบัน ทำให้นักเรียน-นักศึกษาในปัจจุบันเรียนรู้และเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนเป็นอย่างดีทั้งประวัติศาสตร์ที่ย้อนหลังไปไกล

“ผมไม่มีอะไรจะแนะนำคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน แต่อยากย้ำว่าใครที่อยากจะเตือนนักศึกษาว่าอย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ เดี๋ยวจะเกิดแบบเดือน 6 ตุลาฯ นั้น

“ก็ขอให้ทำความเข้าใจเหตุการณ์เดือนตุลา ว่า นักศึกษาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้เกิดการปราบปราม ขณะที่ความรุนแรงนั้นมาจากคนชั้นนำทั้งสิ้น

“ถ้าจะเตือนก็ต้องเตือนผู้มีอำนาจในปัจจุบันว่า อย่าสร้างความเกลียดชัง อย่าสร้างเงื่อนไขเพื่อที่จะได้ใช้ความรุนแรง”

ประเด็นว่าการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาที่มากกว่าการแสดงความอาลัยของคุณจาตุรนต์นั้นน่าสนใจ

เพราะเป็นความรู้สึก-อารมณ์ร่วมของ “คนเดือนตุลาฯ” จำนวนหนึ่ง ที่สะท้อนออกมาว่า

บรรยากาศของงานรำลึก 6 ตุลาฯ ในปีนี้ ไม่ใช่ “งานเช็งเม้ง” ที่คนยังอยู่มาระลึกถึงผู้จากไปเท่านั้นอีกแล้ว

แต่มีเนื้อหาหลักที่เข้มข้น และมีวัตถุประสงค์ชัดเจน

ว่างานจัดขึ้นเพื่อทวงหาความจริงและความยุติธรรม

ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณ “โครงการบันทึก 6 ตุลา” ที่ไม่เคยย่อท้อและไม่หยุดยั้งในการแสวงหาหลักฐาน ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่กระจัดกระจาย มาปะติดปะต่อให้เป็นภาพใหญ่

แม้จะยังไม่ใช่ภาพทั้งหมด

แต่ก็เห็นเค้าโครงของความเป็นไป

ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งสำหรับทุกสังคม

เพราะถ้าไร้เสียซึ่งความจริงและความยุติธรรม

สังคมนั้นก็ยากจะหาความสงบสันติได้

เหมือนที่สังคมไทยซึ่งผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แล้วยังต้องมาซ้ำรอยเหตุการณ์ “ล้อมปราบ-ล้อมฆ่า” ประชาชนอีกในเดือนพฤษภาคม 2535

และเมษายน-พฤษภาคม 2553

เลือดของผู้เสียชีวิต ผู้พิการ ผู้บาดเจ็บอาจจะจางหาย

แต่แผลในใจของผู้เกี่ยวข้องยัง “สด” อยู่เสมอ

เหมือนที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เขาบอกไว้

ฉะนั้น จึงไม่ควรแปลกใจ ถ้าการชุมนุม 14 ตุลาคม ที่กำลังถึงในไม่กี่วันข้างหน้า

จะมากไปด้วยความหลากหลาย

อย่างน้อยก็มีทั้งเยาวชนนักเรียน นิสิต นักศึกษา มีทั้งอดีตคนเดือนตุลาฯ และมีทั้งคนเสื้อแดง

เพราะเขามาร่วมกันถามหาของไม่กี่อย่างจากผู้มีอำนาจ-ผู้ปกครองทั้งหลาย

เขามาถามหาความจริงและความยุติธรรม

เขามาทวงความฝันถึงสังคมที่ดีกว่า-ซึ่งยังไม่เคยมาถึง

เพราะผู้มีอำนาจ-ผู้ปกครองทั้งหลายไม่เคยและไม่เต็มใจที่จะ “สละ” ให้

เรื่องทั้งหมดไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย

แต่สังคมไทยไม่เคยก้าวข้ามไปได้