ฐากูร บุนปาน | สิ้นหวัง ไร้ศรัทธา ไม่มีอนาคต ?

วันนี้ขออนุญาตกลับไปสวมวิญญาณอดีตนักข่าวโต๊ะต่างประเทศ ยุคที่ยังต้องยืนเกาะเทเล็กซ์แปลข่าวสักหน

และถือโอกาสไปเบียดบัญชร “เทศมองไทย” เขานิดหนึ่ง

เพราะเกิดสะกิดใจข่าวต่างประเทศที่ถาโถมกันเข้ามาช่วงนี้

ย้อนหลังไปสักประมาณเกือบสองเดือนก่อน สำนักข่าวบลูมเบิร์กเขารายงานการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ว่านอกจากจะเติบโตช้ากว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วยกันแล้ว

ยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้างที่จะทำให้การเติบโตในอนาคตมีปัญหาอีกด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นประเทศที่ไม่มีอนาคต

พอมาถึงสัปดาห์ก่อน ไฟแนนเชียลไทม์ส ก็ลงบทวิเคราะห์เรื่องภาคการท่องเที่ยวไทย

ว่าภาคบริการที่สำคัญที่สุด เพราะสร้างรายได้มากกว่าร้อยละ 10 ของจีดีพี กำลังแห้งเหี่ยวตาย

ด้วยปัญหาเฉาะหน้าว่านักท่องเที่ยวจีนลดลง-ล้าหลังด้านดิจิตอล-เงินบาทแข็ง

และชี้ด้วยว่า เพราะไม่มีการปรับตัวเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะในเรื่องดิจิตอล

อะไรที่เคยเป็นเสน่ห์ หรือ “ขายได้” เมื่อ 20-30 ปีก่อน

มาวันนี้กลายเป็นของที่ “เชย” ไปเสียแล้วสำหรับโลกยุคใหม่

และนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่

ล่าสุด บลูมเบิร์กก็ออกรายงานเรื่อง 20 ตระกูลอภิมหาเศรษฐีเอเชียที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกัน 450,000 ล้านเหรียญ

หรือราวๆ 13-14 ล้านล้านบาท-ครือกันกับขนาดจีดีพีของเมืองไทย

ในจำนวนนี้มีตระกูลอภิมหาเศรษฐีไทยรวมอยู่ด้วย 3 ตระกูลคือ เจียรวนนท์-อยู่วิทยา-จิราธิวัฒน์

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐีไทยอ่านแล้วหัวเราะตัวโยนบอกว่า

นี่ยังตกไปอีกหลายตระกูล ที่รวยไม่แพ้ครอบครัวที่ยกชื่อมา

แถมเกณฑ์วัดของบลูมเบิร์กที่ต้องเอาตระกูลที่ “สืบทอด” ความรวยกัน ไม่นับที่ร่ำรวยขึ้นมาในหนึ่งชั่วอายุคน

ก็ตัดจำนวนอภิมหาเศรษฐกิจไทยที่จะต้องอยู่ในเกณฑ์นี้ไปอีกหลายคน

อันที่จริงความรวยนี่ไม่ใช่อาชญากรรมนะครับ

ถ้าไม่ได้ไปโกงหรือไปเบียดเบียนใครเขามา

แต่ในบางสถานการณ์บางเวลา ความรวยนั้น “น่าหมั่นไส้”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ภาวะเศรษฐกิจกลับหัวกับเมื่อปี 2540 อย่างนี้

หนนั้นวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นกับมหาเศรษฐี เจ้าสัว และกิจการขนาดใหญ่ทั้งหลาย

ซึ่งด้วยสายป่าน เครือข่าย และกำลังคนที่มีอยู่ ไม่กี่ปีเจ้าสัวหรือกิจการขนาดใหญ่ทั้งหลายก็พ้นจากหลุมดำ

แต่หนนี้ วิกฤตเกิดกับฐานรากและผู้มีรายได้น้อย ทั้งในเมืองและเกษตรกร

ความหวังหรือโอกาสที่จะหลุดพ้นจากหุบเหวแห่งหายนะนั้นแสนจะริบหรี่ หรือแทบไม่มีเลย

มาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา ที่เน้นแจก-แจก-แจก และแจกนั้น

อาจจะทำให้ครึกครื้นได้ชั่วคราว

แต่อีกด้านหนึ่งก็เหมือนดื่มน้ำทะเลดับกระหาย

ในทางยาวจะยิ่งกลายเป็นปัญหา

จริงหรือไม่ ดูจากที่เขาสรุปข่าวการฆ่าตัวตายรายวันของคนตัวเล็กตัวน้อยที่แพ้ภัยเศรษฐกิจนั้นเถอะครับ

การแจกแต่ไม่ได้สร้างโอกาส

หว่านเงินแต่ไม่ได้หว่านปัญญา

เน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ว่าไม่ได้จัดการโครงสร้าง (โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้ภาครัฐกับราชการอย่างมหาศาลใน 5 ปีที่ผ่านมา ใครคิดว่ารัฐกับราชการจะสร้างอะไรใหม่ๆ จะแหวกกรอบดั้งเดิมออกไปได้บ้าง)

ความเครียด ความสิ้นหวัง ความไร้ศรัทธา ความหงุดหงิดถึงแผ่กระจายกว้างขึ้น

เวลาที่โลกเป็นสีเทาไม่ใช่สีรุ้ง อะไรก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด

เศรษฐีหรือมหาเศรษฐีทั้งหลายจะพลอยโชคร้าย กลายเป็นแพะรับบาป (ร่วม) ของความตกต่ำทางเศรษฐกิจ และความทุกข์ยากอดอยากก็รอบนี้

ถ้าเศรษฐีไม่อยากเป็นแพะรับบาป (ด้วย) ก็คงต้องช่วยกันออกแรงแซะให้รัฐบาลทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน (ในฐานะที่ท่านเสียงดังกว่า หรือว่าพูดแล้วรัฐบาลรับฟัง)

หรือท่านทั้งหลายต้องลงมือทำอะไรเองมากกว่านี้แล้วละครับ

ปล่อยให้จำนวนสลัมที่รายล้อมคฤหาสน์เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ไม่มีใครรับประกันได้หรอกครับว่า

อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตอันไม่ไกลจากนี้