ฐากูร บุนปาน | แม้จะมี รบ.ใหม่ ประเทศไทยจะยังคงเป็นคนป่วย”ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

ปลายเดือนมิถุนายน เว็บไซต์ไฟแนนเชียลไทม์ส เผยแพร่บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจของไทย

หลายท่านคงผ่านตาไปแล้ว

ที่เขาระบุว่า ประเทศไทยจะยังคงเป็นคนป่วย”ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

ถึงจะมีรัฐบาลใหม่แล้วก็ตามที

ประเด็นที่เขาชี้ก็คือ การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีในไตรมาสล่าสุดของเราต่ำสุดในรอบ 4 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.8

แล้วยังถูกซ้ำด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกฉุดมูลค่าการส่งออกให้หดตัวลง

ดาบสามคือปริมาณอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลง

สุดท้ายคือสถานะทางการเงินของรัฐบาลไทยก็ยังคงแย่ลงอย่างต่อเนื่อง

แล้วก็ย้อนขยายจีดีพีไทย ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 นับตั้งแต่ปี 2014

เติบโตที่ช้ากว่ามิตรประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียนที่เติบโตในระดับร้อยละ 5-6.2

ยิ่งปีนี้การคาดการณ์จีดีพีไทยโดยองค์กรเศรษฐกิจหลักๆ ยิ่งพาห่อเหี่ยว

ธนาคารโลกลดระดับจากโตร้อยละ 3.8 เหลือร้อยละ 3.5

ขณะที่สภาพัฒน์ก็ลดเป้าลงจากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 3.3-3.8

ปัจจัยหลักมาจากความอ่อนแอของการส่งออก ที่ติดลบร้อยละ 2.5 ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (นับถึงเมษายน 2562)

ถึงการบริโภคภาคเอกชนดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงหลัง แต่ก็ลดลงเหลือร้อยละ 47 ของจีดีพี

เทียบกับร้อยละ 52 เมื่อ 6 เดือนก่อน

แปลว่าคนใช้จ่ายและลงทุนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ซํ้าด้วยปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

เขาอ้างผลวิจัยของไทยเองว่า คนไทยถึงร้อยละ 75 มองว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ไม่ครบเทอม

ไฟแนนเชียลไทม์สระบุด้วยว่า นโยบายประชานิยมที่มากขึ้นตามการหาเสียง รวมถึงการเร่งโครงสร้างพื้นฐาน แม้จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจได้ แต่ก็จะเป็นในช่วงเวลาสั้นๆ

และสร้างแรงกดดันให้กับภาระหนี้สินและงบประมาณ

เพราะที่นั่งของพรรคร่วมที่มีเพียง 254 เสียง โดยพรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาลมี 121 เสียง ขณะที่พรรคร่วมอีก 17 พรรคมีเสียงรวมกัน 137 เสียง

เป็นการอยู่ได้ด้วยผลประโยชน์แลกเปลี่ยน

แม้จะมีวุฒิสภาที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพหนุนหลัง แต่อีกด้านรัฐบาลก็ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

นายกรัฐมนตรีก็เสี่ยงกับการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ

พรรคฝ่ายค้านเพียงรวมเสียงเพิ่มจาก ส.ส.เพียงหยิบมือก็อาจล้มโต๊ะได้

ขณะที่อาจเกิดวิกฤตการเมือง เช่น เกิดการประท้วงบนท้องถนน

หรือการรัฐประหารซ้ำ

บทความแทงใจชิ้นนี้จะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน อีกไม่นานความเป็นจริงคงเป็นเครื่องพิสูจน์

แต่ที่ไฟแนนเชียลไทม์สอาจจะลืมพูดไปอีกอย่างก็คือ

ในขณะที่เศรษฐกิจทรุดโทรมลง ค่าเงินบาทกลับแข็งตัวขึ้นสวนทางอย่างชวนพิศวง

หนึ่งปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐประมาณร้อยละ 10

ขณะที่เงินดองเวียดนามลดค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ร้อยละ 1

ริงกิตมาเลเซียก็ลดลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ร้อยละ 2

แม้แต่เงินหยวนของจีนยังลดค่าลงร้อยละ 3

ประเทศที่ว่ามานี้ ถ้าไม่ใช่คู่แข่งก็เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย

ที่สำคัญคือ ทุกประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าไทยทั้งสิ้น

ประเทศที่เศรษฐกิจง่อยเดี้ยง ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ค่าเงินดันผ่าแข็งกว่าคู่แข่งทั้งภูมิภาค

ปัจจุบันและอนาคตจะเป็นอย่างไร

เห็นจะไม่ต้องบอก

จะบอกว่าค่าเงินเป็นเรื่องของแบงก์ชาติ

ก็บังเอิญจำคำที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านเคยเปรียบไว้ว่า รัฐบาลกับธนาคารกลางนั้นเหมือนสามี-ภรรยา

มีอะไรก็ต้องหันหน้ามาหารือกัน ไม่ให้บ้านแตก

แต่นี่อยู่กันเหมือนผัวไปทาง เมียไปทาง วันๆ ไม่ได้พูดจาปราศรัย

ไม่ได้ไยดีว่าลูกๆ ในบ้านจะอดอยากหิวโหยขนาดไหน (ยกเว้นลูกที่โตจนแยกบ้านไปเป็นเจ้าสัวทั้งหลายแล้ว)

เห็นอาการเจ็บซ้ำซวยซากอย่างนี้แล้ว

สงสัยว่าหมอดูฝรั่งข้างบนมันจะแม่นเสียละกระมัง