ฐากูร บุนปาน | คุยเรื่องสุขภาพ

มาตามนัดเป็นประจำทุกปีครับ

งาน “เฮลท์ แคร์” มหกรรมด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยซึ่งพี่ๆ น้องๆ ในเครือมติชนช่วยกันจัดงานติดต่อกันมาเป็นปีที่ 11

เมื่อ “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้วางตลาด งานที่จัดระหว่าง 27-30 มิถุนายน ก็เริ่มพอดี

ส่วนที่ต้องมา “ขายของ” กันตรงๆ อย่างนี้ก็เพราะ นอกจากปีนี้สถานที่จัดงานจะย้ายมาอยู่ที่ฮอลล์ 5 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นครั้งแรกแล้ว

ยังเพราะพี่ๆ น้องๆ เขาตั้งใจจัดงานกันแบบ “จัดเต็ม” จนแทบจาระไนไม่หวาดไหวอีกด้วย

เอาตัวอย่างหลักๆ ไปก่อน ก็เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ท่านใจดีจัดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มาฉีดให้ฟรีวันละ 2,000 เข็ม

ย้ำว่าฟรีครับ

สำหรับคนที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง เช่น ท่านที่อายุเกิน 65 ปี หรือทารกอายุ 6 เดือน-2 ปี

ไปจนกระทั่งคุณสุภาพสตรีที่มีครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป

ฯลฯ

หรือสำหรับท่านที่ร่างกายแข็งแรงดี ไม่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง แต่ไม่อยากเสี่ยงกับไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดหนักในปีนี้

ก็มีหลายโรงพยาบาล อาทิ รามาธิบดีและอื่นๆ จัดวัคซีนแบบเดียวกันมาฉีดให้ในราคาเข็มละ 300 บาท

ถูกกว่าฉีดตามปกติครึ่งหนึ่ง

แล้วยังมีบริการตรวจโรคสารพัด ทั้งฟรีและในราคาย่อมเยาอีกร่วมร้อยรายการ

รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ทั้งเพื่อผู้ป่วยและผู้ไม่ต้องการป่วยอีกมากมาย

รายละเอียดเขียนลงตรงนี้ไม่หมดครับ แต่หาอ่านได้จากในหนังสือพิมพ์-เว็บไซต์ของ “มติชน-ข่าวสด-ประชาชาติธุรกิจ” และอื่นๆ ในเครือทั้งหมด

ท่านที่รักสุขภาพทั้งหลายไม่ควรพลาด

อ้อ-เนื่องจากย้ายสถานที่มาจัดงานในเมืองทองธานีครั้งแรก ผู้จัดเขาเกรงว่าอาจจะมีท่านที่เดินทางจากในเมืองมาลำบาก

เขาเลยจัดรถรับส่งฟรีจากสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตมาเมืองทองธานีไว้ตลอดวัน

ต้องขอบคุณเชิดชัยบริการไว้ ณ ที่นี้ด้วย

พบกันนะครับ 27-30 มิถุนายนนี้

ขึ้นต้นด้วยเรื่องมหกรรมงานสุขภาพแล้วก็เลยพาดพิงไปถึงข่าวสุขภาพที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันก่อน

เรื่องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของบฯ กลางจำนวน 98 ล้านบาทไปใช้ในการอบรมสารเคมีอันตราย 3 ชนิด อันได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส

จนชาวบ้านชาวช่องเขาเป็นงงสงสัยว่า ขณะที่ทั้งโลกเขาพยายามลดการใช้สารเคมี ที่พิสูจน์ชัดๆ ว่าเป็นอันตรายทั้งกับเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภค

ทำไมราชการไทยถึงยังยืนยันที่จะให้ใช้สารเคมีอันตรายต่อไป

กรมวิชาการเกษตร ท่านชี้แจงว่า ตามขั้นตอนของแผนปฏิบัติการ การ “จำกัด” การใช้สารเคมีพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพริฟอส ต้องมีการอบรมเกษตรกร ผู้รับจ้างพ่น ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และภาคเอกชน

ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณบางส่วนไว้แล้ว แต่จำนวนเงินไม่เพียงพอ จึงต้องเสนอของบฯ กลางเพิ่มขึ้น 98.6537 ล้านบาท

ประกอบด้วย 2 แผนปฏิบัติการ ได้แก่

แผนที่ 1 แผนปฏิบัติการจำกัดการใช้พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพริฟอส ประกอบด้วย 2 โครงการคือ

โครงการที่ 1 : อบรมการใช้สารเคมีทางการเกษตรให้ถูกต้องปลอดภัย ให้แก่เกษตรกร จำนวน 1.5 ล้านครัวเรือน และผู้รับจ้างพ่น 50,000 คน

และโครงการที่ 2 : โครงการประชาสัมพันธ์ความเสี่ยงจากวัตถุอันตราย เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกร ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

แผนที่ 2 แผนปฏิบัติการขยายพื้นที่การผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน คือ โครงการขยายพื้นที่การผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)

หรือเกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศ

ฟังคำชี้แจงแล้วก็พอเข้าใจ แต่ไม่หายสงสัยครับ

จะเกษตรอินทรีย์ แต่ยังอบรมให้ใช้สารเคมีปลอดภัย โดยไม่บอกให้ชัดเจนหรือมีเป้าหมายว่าจะเป็นจริงได้เมื่อไหร่

ในอีกด้านก็คือการส่งเสริมให้ใช้สารเคมี

ต่อให้ผู้ผลิตปลอดภัย ผู้บริโภคก็ไม่

คนไทยก็บริโภคสารพิษกันต่อไป

และไอ้ที่โฆษณาสวยหรูว่า ไทยจะเป็นครัวโลก ผลผลิตเกษตรไทยจะขายไปทั่วโลกมากขึ้น

ก็แค่ราคาคุยเท่านั้นละว้า