ฐากูร บุนปาน | “ตลาดล่าง-ผู้มีรายได้น้อย” ไม่ได้แปลว่าคุณภาพชีวิตควรจะต้องต่ำตามไปด้วย

ในจำนวนกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ซึ่งทำให้เกิดสังคมมนุษย์ขึ้นมาได้นั้น

หลังจากร่วมกันล่าสัตว์และร่วมกันเพาะปลูกแล้ว

ก็เห็นจะเป็น “ตลาด” นี่แหละครับ

และตลาดหรือสถานที่แลกเปลี่ยนซื้อขายนี้เอง ที่เป็นบ่อเกิดของอารยธรรมสารพัดชนิด

ทั้งเทคโนโลยีการผลิต การเดินทาง การติดต่อสื่อสาร

จนโลกมีหน้าตาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จู่ๆ ที่นึกถึงเรื่องตลาดขึ้นมา

เพราะเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ติดสอยห้อยตามท่าน ผบ.ประจำตัวไปเดินอยู่ในตลาดขายส่งเสื้อผ้าย่านประตูน้ำอย่างเอาจริงเอาจังครั้งแรกในชีวิต

ผู้บริหารประเทศ ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ รวมไปถึงนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อย คงได้ยินกิตติศัพท์ของตลาดขายส่งเสื้อผ้าประตูน้ำมาบ้างไม่มากก็น้อย

แต่ก็คงรู้จักแบบคล้ายกัน

คือรู้ แต่ไม่รู้สึก

เพราะถ้าไม่ลงมาเดินถนนปะปนกับคนธรรมดา

ไม่มารถติด ไม่มาเดินหลบรถที่ติดกันเป็นแพอยู่ในซอย

ไม่มาดมกลิ่น ไม่ได้กินอาหารแบบเดียวกัน

ไม่มีทางเข้าใจชีวิตและความมีชีวิตชีวาของตลาดแบบนี้ได้

ถ้ารู้สึกแล้ว จะยิ่งนึกรัก-นับถือ “นักรบเศรษฐกิจ” ตัวจริงเหล่านี้ขึ้นไปอีกหลายเท่า

เพราะพี่น้องพ่อค้าแม่ขายส่วนใหญ่เหล่านี้คือคนที่ไม่มีทุนรอน

หรือมีก็น้อยมากเมื่อเทียบกับคนทำธุรกิจอื่นๆ

ทุกบาททุกสตางค์ของเขาจึงมีความหมาย

เหมือนกับพื้นที่ในประตูน้ำที่ทุกตารางนิ้ว-ตารางฟุต-ตารางเมตรเป็นเงินเป็นทอง

แต่ความประทับใจอย่างแรกเลยก็คือ หลายห้างในนั้นถึงจะแออัด แต่ก็สะอาด

เผลอๆ สะอาดกว่าห้างดังๆ อีกหลายแห่ง

ขณะที่คนขายของก็เก่งกาจสามารถ

เชื่อว่าหลายท่านหรือจำนวนมากในนั้นการศึกษาไม่สูง

แต่ประสบการณ์จากการสื่อสารต่อรอง-โดยเฉพาะกับลูกค้าต่างประเทศ ไม่ว่าจะจีน แอฟริกา หรือว่าตะวันออกกลาง ซึ่ง “เขี้ยว” ลากจนพื้นเป็นรอย

ยกระดับความสามารถเขาท่านเหล่านี้ให้ขึ้นมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าอินเตอร์ได้ในที่สุด

และเกิดข้อสงสัยตามมาว่า เคยมีหน่วยราชการหรือสำนักวิชาการที่ไหนมาเก็บตัวเลขอย่างจริงจังบ้างไหม

ว่ามูลค่าการส่งออกของตลาดแบบนี้ปีหนึ่งๆ คิดเป็นจำนวนเท่าไหร่

ถ้ามีแล้วก็ขออภัย และรบกวนชี้ช่องให้ไปหามาอ่านเป็นความรู้ด้วย

เพราะเห็นที่มาซื้อๆ กันนั้น ที่ให้จัดส่งตามระบบโลจิสติกส์ คงมีบันทึกตรวจสอบได้

แต่คำถามคือแล้วที่หิ้วออกไปกันหลายๆ กระเป๋า มากันเป็นกลุ่มๆ

มีตัวเลขไหม

ไม่ใช่จะให้ตามไปเก็บภาษีเขานะครับ

แต่เผื่อจะมีคำตอบให้ได้บ้างว่า

ระหว่างที่ส่วนอื่นๆ ฝืดเคืองอยู่นั้น

อะไรบ้างที่เป็นฟันเฟืองผลักดันเศรษฐกิจให้เดินไปได้

จะได้กำหนดนโยบายกันได้ถูก

ไม่คิดเอาเองจากหอคอยงาช้าง

หรือเล่นแต่เรื่องใหญ่ๆ หมื่นล้านแสนล้าน

เข้าทางแต่เศรษฐีมหาเศรษฐี

ข้อสังเกตอีกสองสามอย่าง คือการระมัดระวังเรื่องฟืนไฟ

ในตึกในอาคารน่ะดี

แต่พอลงมาเดินตรอกอย่างแรกที่จะเห็นได้คือก้นบุหรี่เต็มซอย

จะร่วมมือกันจัดระเบียบเพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยอย่างไร

น่าจะลองช่วยกันคิดดู

ข้อสังเกตอีกอย่างคืออาหารครับ

การเป็น “ตลาดล่าง-ผู้มีรายได้น้อย”

ไม่ได้แปลว่าคุณภาพชีวิตควรจะต้องต่ำทรามไปด้วย

โดยเฉพาะเรื่องกิน

ในฐานะประเทศเกษตร ประเทศผู้ผลิตอาหาร ผู้ตั้งเป้าอันสูงส่งว่าจะเป็นครัวของโลก

ถ้าคนในชาติส่วนใหญ่ต้องกินอาหารที่ไม่มีคุณภาพ

จะเป็นเลิศเป็นเต้ยไปทำไมกัน

ถ้าเอกชนรายใหญ่เขาไม่คิด เพราะเขาเพลินกำไร

รัฐจะเข้ามามีบทบาทตรงนี้อย่างไร

จะสนับสนุนส่งเสริมผู้ปลูกผู้ผลิตให้ผลิตของมีคุณภาพอย่างไร

ส่งเสริมรายย่อยให้เข้ามามีช่องทางแทรกตลาดอย่างไร

เพื่อให้การผูกขาดหลวมคลาย

คิดได้ทำได้ทั้งนั้นนะครับ

ถ้าไม่ขี้เกียจ

และไม่เกรงใจใคร

ทิ้งท้ายด้วยบทสนทนาของสองพ่อค้าในห้องน้ำ ระหว่างการปลดทุกข์เบา

อาวุโสกว่าถามคนหนุ่มว่า ตั้งแต่ต้นปีมาเป็นยังไง

คำตอบคือ ไม่คึกเลย

คงต้องรอหลังเลือกตั้ง

บังเอิญไม่รู้จักกัน เลยไม่กล้าถามน้องเขาว่า ทำไมฝากความหวังไว้หลังเลือกตั้ง

คิดอะไรหรือเชื่ออะไรอยู่

อยากรู้เหมือนกันกับผมใช่ไหมครับ