ฐากูร บุนปาน : 13ชีวิต

ยินดี ยินดี และยินดี

เหมือนกับญาติพี่น้องของ “ทีมหมูป่า” ทั้ง 13 ชีวิต

เหมือนทีมงานทั้งราชการ เอกชน ประชาชน ทั้งไทยและเทศที่รวมตัวกันไปช่วยเหลือ-กู้ภัยน้องนุ่งลูกหลานทั้งหลาย

และเหมือนกับประชาชนคนไทยที่เอาใจช่วยให้ทั้ง 13 คนอยู่รอดปลอดภัย ได้ออกจากถ้ำมาพบหน้าพ่อแม่ ญาติพี่น้องอีกครั้ง

เมื่อปาฏิหาริย์ (อันเกิดจากการกระทำของคน ไม่ว่าที่อยู่ในถ้ำหรือนอกถ้ำ) มีจริง

จะไม่ให้ยินดีได้อย่างไร

ข้อเขียนชิ้นนี้เริ่มลงมือเขียนไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากที่นักดำน้ำชาวอังกฤษ 2 คนเข้าไปพบกับเด็กๆ ทั้ง 13 คน

ภารกิจช่วยเหลือ กู้ภัย และส่งกลับจึงยังไม่สิ้นสุด

แต่ก็เชื่อว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจ และด้วยการวางแผนจัดการที่ดี

เมื่อผ่านอุปสรรคใหญ่ที่สุดคือค้นพบตัวแล้ว อย่างอื่นกรณีอื่นที่มีการวางแผนรองรับเอาไว้ล่วงหน้าก็ดูเหมือนจะสาหัสน้อยกว่า

รอแค่เวลาและภาวะที่เป็นใจเท่านั้น

เชื่อว่าทุกท่านอดทนรอคอยได้

รายละเอียดการทำงานเป็นเรื่องที่ท่านผู้รับผิดชอบทุกคนจะร่วมมือช่วยเหลือกันต่อไป

ที่น่าสนใจคือเมื่อควันของเรื่องนี้เริ่มจางไปแล้วต่างหาก

อย่างที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย-ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร แม่งาน-หัวเรือใหญ่ในภารกิจนี้พูดเอาไว้

ว่าหลังจากภารกิจเฉพาะหน้าทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว ควรจะต้องมีการ “สรุปบทเรียน” เพื่อเอาไว้ใช้เป็นคู่มือในการเตรียมการรองรับปัญหาในทำนองเดียวกันที่อาจจะเกิดขึ้นครั้งต่อไปในอนาคต

จริงทีเดียว

วิธีการจัดการ ขั้นตอนการปฏิบัติ

ไปจนกระทั่งถึงหลักการว่าการกู้ภัยควรจะต้องเป็นภาระหน้าที่หลักของใคร

เป็นเรื่องที่สังคมและภาครัฐต้องช่วยกันสานต่อให้เป็นเรื่องเป็นราวต่อไป

ข้อสังเกตในฐานะคนนอกวงที่ดูอยู่ไกลๆ นั้นมีอยู่ไม่กี่เรื่องว่า

ในโลกที่การสื่อสารแพร่หลายกระจายกว้างขวางทั่วถึง

เส้นแบ่งของความเป็นชาติก็เบาบางจางลงหรือเลือนๆ หายไป

อะไรที่ขาดอะไรที่เกิน จะระบายหรือแบ่งปันกันนั้นทำได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก

ดูจากกรณีการกู้ภัยน้องนุ่งทั้งหลายครั้งนี้ได้

ความช่วยเหลือ ผู้ชำนาญการด้านต่างๆ จากไม่รู้ว่ากี่ทวีป กี่ประเทศ มุ่งหน้ากันเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้ละมือ

งานที่ดูเหมือนยากหรือจะใช้เวลามากขึ้น ก็หดสั้นลง มีประสิทธิภาพขึ้น ทันแก่กาลและแก่การณ์ขึ้น

กรณีเช่นนี้ลองคิดดูดีๆ ไม่ใช่แต่เรื่องที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนอย่างกรณีกู้ภัยครั้งนี้เท่านั้นดอก

อื่นๆ ก็ด้วย

หนนี้ข่าวที่แพร่กระจาย “ออกไป” นำความช่วยเหลือความร่วมมือ “เข้ามา”

เป็นปฏิกิริยาที่คนส่วนใหญ่ยินดีอ้าแขนรับ

แต่ถ้าเป็นกรณีอื่นๆ ที่แม้แต่ในสังคมไทยยังหาฉันทามติไม่ได้ล่ะ

เช่น จะเลือกตั้งไม่เลือกตั้ง หรือจะเลือกทางเดินเส้นไหนสำหรับอนาคตของสังคมไทย

เขาไม่พูด ไม่แสดงปฏิกิริยาก็แล้วไป

ถ้าเขาแสดงออกในทางที่ไม่ตรงกับใจไม่ถูกใจ

การตอบรับจะเหมือนกรณีที่เป็นอยู่นี้ไหม

ถ้ารับด้านบวกได้

ก็เตรียมใจรับด้านลบไว้ด้วย

กับอีกกรณี

คือน่ายินดีที่มาตรฐานสังคมไทยกับสังคมโลกขยับเข้ามาใกล้เคียงหรือเท่ากัน

คือเห็นชีวิตทุกชีวิตมีความหมาย

จะต้องทุ่มเท่าไหร่ ลงทุนเท่าไหร่ หรือแม้กระทั่งยอมเสีย (และเสียสละ) อื่นๆ เท่าไหร่ก็ทุ่มได้หมด

เพื่อหาทางป้องกันมิให้ชีวิตนั้นสูญเสียไป

ถ้ารักษามาตรฐานนี้ได้กับทุกเรื่อง ตั้งแต่มาตรฐานการกินการอยู่ไปจนถึงการจราจร

สังคมไทยจะน่าอยู่กว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้อีกขนาดไหน

และถ้ารักอันมหาศาลนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าสักหลายปี

คงไม่ต้องมีลูกใคร พ่อแม่ใครต้องมาตายอย่างไร้ค่ากลางเมืองเป็นสิบเป็นร้อยศพ

แต่เอาเถอะ มาช้าก็ดีกว่าไม่มาเลย

สำคัญว่าจะรักกันสุดใจแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน

ค่อยๆ ถามใจตัวเราเองดู