เหมาช่วยให้จีนปฏิรูปเศรษฐกิจแบบตลาด โดยไม่ถูก IMF วางยาช็อกอย่างไร? | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน ฉบับโฮเฟิง หง (5)
เหมาช่วยให้จีนปฏิรูปเศรษฐกิจแบบตลาด
โดยไม่ถูก IMF วางยาช็อกอย่างไร?

 

โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมืองจีน ได้ให้สัมภาษณ์ Daniel Denvir แห่งเว็บไซต์ The Dig ทบทวนประวัติเศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมจีนในประเด็นปัญหาหลักๆ ที่น่าสนใจหลายประการเมื่อเดือนมีนาคมศกนี้ (https://thedigradio.com/podcast/china-boom-w-ho-fung-hung/) ผมขอนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้

แดเนียล เดนเวอร์ : คุณเขียนไว้ว่า :

“เนื่องจากรัฐเหมาอิสต์แทบจะพึ่งพาส่วนเกินซึ่งรีดเค้นจากชนบทแต่อย่างเดียวในกระบวนการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิและไม่ยอมพึ่งพาการกู้ยืมจากภายนอกดังที่บรรดาประเทศสังคมนิยมและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มากหลายทำกันในทศวรรษที่ 1970 ฉะนั้น รัฐจีนจึงมีภาระหนี้สินภายนอกน้อยกว่าอักโข ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จำนวนมากตกเป็นเหยื่อคำบงการของพวกเจ้าหนี้เมื่อวิกฤตหนี้ระหว่างประเทศปะทุขึ้นในทศวรรษที่ 1980”

อย่างที่ ผศ.อิซาเบลลา เอ็ม. เวเบอร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งแมสซาชูเซตส์ ณ แอมเฮิร์สต์ แสดงให้เห็นไว้ในหนังสือของเธอเรื่อง How China Escaped Shock Therapy : The Market Reform Debate (2021, จีนหลีกหนีการวางยาช็อกไปได้อย่างไร : วิวาทะการปฏิรูปแบบตลาด) เมื่อเร็วๆ นี้นะครับ คือ จีนหลบหลีกการถูกยัดเยียดวางยาช็อกรูปแบบหนึ่งไปได้อย่างเฉียดฉิว ซึ่งถ้าหากโดนเข้าคงถึงแก่ถล่มเศรษฐกิจจีนพังพินาศแบบเดียวกับที่เศรษฐกิจของรัสเซียยุคหลังโซเวียตโดนมาก่อนแล้ว

ในแง่นี้ การพอเพียงในตัวเองของจีนยุคเหมาสำคัญแค่ไหนอย่างไรในฐานะเงื่อนไขอันจำเป็นถ้าไม่ถึงกับเงื่อนไขอันเพียงพอให้ทุนนิยมจีนพุ่งทะยานขึ้นได้ครับ?

โฮเฟิง หง : น่าสนใจมากครับที่คุณเอ่ยถึงหนังสือของอาจารย์เวเบอร์ขึ้นมา เธอแสดงให้เห็นอย่างดียิ่งว่าจีน หลบหลีกนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อการปฏิรูปแบบตลาดเสรีชนิดเล่นงานตัวเองจนงอมพระรามมาอย่างเฉียดฉิวได้อย่างไร

อันที่จริงนะครับทั่วทั้งโลกกำลังพัฒนาน่ะ ประดารัฐเอย ชนชั้นนำเอย และนักวิชาการทั้งหลายเอยต่างก็อยากหลบหลีกนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อการปฏิรูปแบบตลาดเสรีชนิดที่ว่านี้ด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ

แต่แม้ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นจะหลบหลีกมันไปได้ในแง่วิวาทะทางปัญญาในประเทศตน แต่ถึงไงพวกเขาก็ต้องทำมันอยู่ดีเนื่องจากวิกฤตหนี้สินและคำบงการของ IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) กับธนาคารโลกครับ เรื่องมันก็เพียงเพราะรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นติดหนี้สินล้นพ้นตัวเสียจนกระทั่งไม่อาจหลีกเลี่ยงการขอกู้ยืมจาก IMF ได้นั่นเอง แล้ว IMF ก็บังคับพวกเขาให้รับเอาการปฏิรูปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปทำ

ดังนั้น ปริศนาส่วนหนึ่งซึ่งอาจารย์เวเบอร์ช่วยเฉลยไขให้เห็นอย่างปราดเปรื่องก็คือจีนสามารถหลีกเลี่ยงการปฏิรูปปรับโครงสร้างแบบเล่นงานทรมานตัวเองเสียจนงอมพระรามมาได้อย่างไรนั่นแหละครับ

ปริศนาอีกส่วนก็คือเหตุไฉนจีนจึงหลีกหนีการปฏิรูปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ IMF บงการมาล่ะ และคำเฉลยก็เริ่มขึ้นในยุคเหมาอีกนั่นแหละครับ เหมาไม่ยอมกู้หนี้ยืมสินจากตลาดการเงินระหว่างประเทศเพื่อเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วขึ้น ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามากหลายรวมทั้งบรรดาประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกพากันกู้หนี้เหล่านี้ในทศวรรษที่ 1970 ครับ

ความจริงก็คือเนื่องจากรายได้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจากการขายน้ำมันบูมมหาศาลเพราะองค์การโอเปค (OPEC – The Organization of the Petroleum Exporting Countries) ขึ้นราคาน้ำมันในทศวรรษที่ 1970 อัตราดอกเบี้ยตอนนั้นจึงต่ำเตี้ยเรี่ยดิน

มันก็เลยดูงี่เง่านะครับที่จะไม่ยืมเงินจากพวกนักการเงินระหว่างประเทศน่ะ ซึ่งก็คือสิ่งที่บราซิลและประเทศแอฟริกันรวมทั้งเอเชียอาคเนย์ทั้งหลายทำนั่นเอง โปแลนด์และยูโกสลาเวียก็กู้ยืมจากตลาดการเงินระหว่างประเทศมากมายด้วย เพราะการกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดินแบบนี้ดูจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ขอแต่เพียงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่านั้น คุณก็จะชำระหนี้คืนได้โดยไม่มีปัญหาอันใด แถมยังเก็บเกี่ยวผลได้จากเศรษฐกิจเติบโตเข้ากระเป๋าด้วยอีกต่างหาก

ทว่า ด้วยเหตุผลสารพัดสารเพ เหมาไม่ยอมกู้ยืมอย่างคนอื่นเขาครับ

เหตุผลหนึ่งคืออุดมการณ์พึ่งตนเองของเหมา กล่าวคือ เพื่อที่จะเติบโต เราต้องรีดเค้นทรัพยากรจากตัวเราเองออกมาแทนที่จะหยิบยืมจากภายนอกครับ

อีกเหตุผลก็คือหลังประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เยือนจีนในทศวรรษ 1970 แล้ว พันธมิตรนานาประเทศของสหรัฐในภูมิภาคยินดีจะให้การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่จีนโดยเฉพาะญี่ปุ่นนี่ออกหน้ามากที่สุด

ดังนั้น จีนจึงไม่จำต้องกู้ยืมจากตลาดการเงินระหว่างประเทศเหมือนอย่างที่โปแลนด์ ยูโกสลาเวีย และประเทศกำลังพัฒนาอีกมากมายทำนะครับ

แล้วจู่ๆ ต้นทศวรรษที่ 1980 สมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐ นายพอล โวลเกอร์ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐปี 1979-1987 ก็ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์สหรัฐเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้หนี้สินมากหลายที่กู้ยืมกันในอัตราดอกเบี้ยที่พอสัณฐานประมาณหรือกระทั่งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทว่า เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (adjustable or variable interest rates) นั้น ปรากฏว่าดอกเบี้ยพลอยพากันไต่ขึ้นไปตามอัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดที่สูงขึ้นด้วย

ผลก็คือ เหล่าประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในยุโรปตะวันออกทั้งหลายแหล่อย่างโปแลนด์พบว่าตนเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากยากเข็ญเมื่อจู่ๆ อัตราดอกเบี้ยหนี้สินที่ตนไปกู้ยืมมาต่างพากันพุ่งเสียดฟ้า นั่นแหละครับคือกำเนิดของวิกฤตหนี้สินตอนนั้น ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกหลายประเทศแทบล้มละลายและจำต้องผิดนัดชำระหนี้ พวกเขาต้องบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจาก IMF ซึ่งเรื่องราวที่เหลือก็เป็นประวัติศาสตร์ที่รู้ๆ กันอยู่ นั่นคือ IMF ช่วยกอบกู้ประเทศเหล่านั้นเอาไว้ด้วยเงื่อนไขที่ว่าจะต้องรับเอาการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นแบบตลาดอย่างขุดรากถอนโคนไปทำ

จีนหลบหลีกภาวะที่ว่านั้นมาก็ด้วยความดื้อรั้นสมัยทศวรรษที่ 1970 ตามการตัดสินใจของเหมาที่หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมกู้ยืมจากตลาดการเงินระหว่างประเทศนี่แหละครับ ดังนั้น พอถึงทศวรรษที่ 1980 จีนจึงหลีกหนีวิกฤตหนี้สินนี้มาได้และไม่ต้องเชื่อฟัง IMF ทำให้หลีกเลี่ยงโครงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยัดเยียดมาให้ไปได้ แทนที่จะทำตามโครงการที่ว่านั้น จีนกลับวิศวกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นแบบตลาดของตัวขึ้นมาเองในลักษณะรายปลีกและลองผิดลองถูก และรัฐจึงธำรงรักษาฐานะครอบงำของตนรวมทั้งความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ของภาคการเงินในจีนมาได้

นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อธิบายเศรษฐกิจบูมของจีน ว่าทำไมและอย่างไรจีนจึงเติบโตอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ขณะที่บรรดาประเทศยุโรปตะวันออกและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ พากันเดือดร้อนลำบากจากวิกฤตหนี้สินครับ

 

แดเนียล เดนเวอร์ : อย่างที่เราอภิปรายกันมานะครับ จีนยุคเหมาบีบเค้นชนบทเพื่อสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมา และผลลัพธ์ก็ได้แก่รัฐวิสาหกิจมหึมาเหล่านี้ ตกลงพวกรัฐวิสาหกิจนี่ช่วยสร้างและขับดันเศรษฐกิจบูมของจีนแค่ไหนเพียงไรกันครับ? และเปรียบกันไปแล้ว ความไร้ประสิทธิภาพ ภาระหนี้สินและบทบาทของรัฐวิสาหกิจพวกนี้ในการสร้างชนชั้นนำปรสิตที่เชื่อมโยงกับ พคจ. ได้ก่อภาระแก่เศรษฐกิจบูมของจีนมากน้อยเพียงใดหรือครับ? อย่างที่คุณเขียนไว้ว่า :

“บางคนอาจเถียงว่าเมื่อดูน้ำหนักของการลงทุนด้านสินทรัพย์ถาวรในจีดีพีซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่นทั้งหลายแล้ว อย่างน้อยเศรษฐกิจบูมของจีนก็ขับเคลื่อนโดยภาครัฐพอๆ กับภาคส่งออกเอกชน ทว่า การลงทุนด้านสินทรัพย์ถาวรส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจจีนนั้นอาศัยเงินที่ธนาคารของรัฐปล่อยกู้ และสัดส่วนใหญ่ของสภาพคล่องในระบบธนาคารก็ถือกำเนิดมาจากกระบวนการ ‘รักษาสมดุลการชำระเงิน’ (sterilization) ซึ่งพวกผู้ส่งออกภาคเอกชนยอมยกรายได้เงินตราต่างประเทศของตนให้กับเหล่าธนาคารของรัฐแลกกับจำนวนเงินเท่ากันในสกุลเหรินหมินปี้ที่ออกโดยธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (中国人民银行) ซึ่งก็คือธนาคารกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั่นเอง”

ถ้าหากเงินทุนของรัฐจีนส่วนใหญ่อย่างท่วมท้นมาจากการส่งออกแล้ว ทำไมรัฐวิสาหกิจของจีนจึงยังสำคัญอยู่ล่ะครับ? พวกมันแสดงบทบาทอะไรหรือในทางประวัติศาสตร์? และเราควรเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการผงาดขึ้นของเศรษฐกิจส่งออกกับบรรดารัฐวิสาหกิจที่สร้างขึ้นภายใต้เหมาอย่างไรกันแน่ครับ?

(อ่านคำตอบสัปดาห์หน้า)