ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน ฉบับโฮเฟิง หง (4) เหมาเจ๋อตุงช่วยปูพื้นฐานให้ทุนนิยมจีนอย่างไร? | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน

ฉบับโฮเฟิง หง (4)

เหมาเจ๋อตุงช่วยปูพื้นฐานให้ทุนนิยมจีนอย่างไร?

 

โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมืองจีน ได้ให้สัมภาษณ์ Daniel Denvir แห่งเว็บไซต์ The Dig ทบทวนประวัติเศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมจีนในประเด็นปัญหาหลักๆ ที่น่าสนใจหลายประการเมื่อเดือนมีนาคมศกนี้ (https://thedigradio.com/podcast/china-boom-w-ho-fung-hung/)

ผมขอนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้ :

 

แดเนียล เดนเวอร์ : แน่ล่ะครับว่าความปั่นป่วนวุ่นวายที่รัฐจีนแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ และจักรพรรดินิยมตะวันตกทั้งหลายรุมเฉือนแบ่งประเทศจีนกันดำเนินสืบต่อมาหลายทศวรรษตลอดช่วงสงครามต่างๆ ในสมัยสาธารณรัฐจนกระทั่งถึงปี 1949 เมื่อเหมาเจ๋อตุงประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น และเหตุผลที่มันเป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุการทำให้ทุนนิยมพุ่งทะยานขึ้นระหว่างเกิดสงครามกลางเมือง สงครามกับญี่ปุ่นต่างชาติ และสงครามโลกทั้งสองครั้งในช่วงสาธารณรัฐนั้นก็ไม่ใช่เรื่องลี้ลับอะไร

โฮเฟิง หง : ใช่เผงเลยครับ หลังญี่ปุ่นพุ่งทะยานขึ้นแล้ว ญี่ปุ่นเองก็พลอยกลายเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยม และโดดเข้าร่วมวงแก่งแย่งทรัพยากรจีนกับเขาด้วย

ดังนั้น จีนจึงต้องสาละวนอยู่กับการป้องกันการรุกล้ำ ทำนองนี้ตลอดทั้งศตวรรษจนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน หรือ พคจ. (Communist Party of China – CPC) ขึ้นกุมอำนาจและจัดแจงสร้างรัฐส่วนกลางที่เข้มแข็งและเป็นเอกภาพได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบหลายศตวรรษ

เมื่อนั้นแหละครับที่การพุ่งทะยานทางอุตสาหกรรมถึงจะเกิดขึ้นได้จริงๆ

แดเนียล เดนเวอร์ : เหมาเจ๋อตุงกับการผงาดขึ้นของ พคจ.พลิกโฉมทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด อย่างที่คุณเขียนไว้ว่า “การพัฒนาเกษตรกรรม-ชนบทกับอุตสาหกรรม-เมืองในช่วงของเหมาช่วยปูพื้นฐานให้ทุนนิยมบูมขึ้นมาในคริสต์ทศวรรษที่ 1980”

คำถามคือทำไมการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิถึงสำเร็จได้ภายใต้เหมาล่ะครับ? การที่มันถูกดำเนินการไปในนามของระบบสังคมนิยมนั้นหมายความว่าอย่างไร? แล้วมันเกี่ยวข้องยังไงหรือครับกับข้อถกเถียงของอิมมานูเอล วอลเลอร์สตีน (Immanuel Wallerstein, 1930-2019 นักสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจชื่อดังชาวอเมริกัน เจ้าสำนักทฤษฎีระบบโลกทุนนิยม) ที่ว่าระบบสังคมนิยมดังที่ดำรงอยู่จริงนั้นไม่เคยดำเนินการอยู่ข้างนอกระบบโลกทุนนิยมเลยน่ะครับ?

โฮเฟิง หง : ถ้าให้พูดในสูตรทฤษฎีแบบวอลเลอร์สตีนละก็ ผมเห็นด้วยครับว่ารัฐสังคมนิยมควรจะปกครองโดยถือความเสมอภาคเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกในบรรดารัฐสังคมนิยมดังที่ดำรงอยู่จริงหลายแห่งจากสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออกไปจนถึงจีนคอมมิวนิสต์หลังปี 1949 นั้น ความเสมอภาคเป็นส่วนหนึ่งของมันแน่นอน พวกเขาเพียรพยายามส่งเสริมความเสมอภาคไม่ว่าในฐานะส่วนหนึ่งของโฆษณาชวนเชื่อหรือนโยบายที่เป็นจริงก็ตามที

แต่ถึงกระนั้นเรื่องสำคัญอันดับแรกของรัฐเหล่านั้นคือการสะสมทุนและการเจริญเติบโต เอาเข้าจริงการสร้างอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วทำนองนั้นต่างหากครับที่เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกของพวกเขาอย่างแท้จริง

ในสหภาพโซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์ระหว่างทศวรรษที่ 1950 และ 1960 นั้น การสร้างอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วและการเจริญเติบโตที่ว่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนสุดยอดและเกทับข้อคำนึงอื่นทุกอย่างครับ

ข้อถกเถียงของผมรวมทั้งนักวิชาการจีนอื่นอีกมากหลายก็คือเหมาเจ๋อตุงดำเนินการสร้างอุตสาหกรรมที่นำโดยรัฐในรูปแบบสุดโต่งยิ่ง ด้วยการใช้อำนาจรัฐรีดเค้นเอาทรัพยากรส่วนเกินทางเกษตรมาจากชนบทแล้วรวมศูนย์มันไว้ที่บรรดารัฐวิสาหกิจในเมือง โดยตั้งเป้าขยายภาคอุตสาหกรรมในเมืองอย่างรวดเร็วตั้งแต่โรงถลุงเหล็กกล้าไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ครับ

ในกระบวนการดังกล่าว นโยบายนี้ก็ได้ขยายความเหลื่อมล้ำระหว่างชนบทกับเมืองให้ถ่างกว้างออกไป เพราะมันเป็นตัวแบบที่เป็นแบบฉบับอย่างยิ่งของการขูดรีดชนบทมาส่งเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในเมืองครับ

แน่นอนครับว่าส่วนหนึ่งของข้อตกลงแลกเปลี่ยนนี้ก็คือพวกเขาจะพยายามสร้างความเสมอภาคและทำให้รายได้กับสถานภาพเท่าเทียมกันทั้งในชนบทและในเมืองด้วย แต่กระนั้นความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคเมืองกับชนบทก็ยังคงถ่างห่างออกไปเนื่องจากตัวแบบการสร้างอุตสาหกรรมหนักอย่างรวดเร็วที่ว่านี้ครับ

ในความหมายนี้ ตัวแบบสังคมนิยมโดยรัฐจึงไม่ใช่สังคมนิยมบริสุทธิ์เสียทีเดียว รูปแบบการสร้าง อุตสาหกรรมดังกล่าวนี้เกี่ยวพันกับภาระสำคัญเร่งด่วนสุดยอดที่จะต้องสะสมทุนอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ มิใช่โดยทุนเอกชนนะครับ แต่เป็นทุนภาครัฐ มันเป็นรูปแบบการสร้างอุตสาหกรรมที่นำโดยรัฐแบบสุดโต่งครับ เหมือนกับที่เยอรมนีและญี่ปุ่นทำสำเร็จในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั่นแหละ ชั่วแต่ว่าจีนทำขึ้นในภาวะแวดล้อมทางสากล กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งยากลำบากกว่ามาก

ในภาวะแวดล้อมที่ว่านี้ การสร้างอุตสาหกรรมโดยรัฐทำกันในรูปแบบที่สุดโต่งและรวดเร็วกว่าอักโข กล่าวคือ รีดเค้นเอาส่วนเกินมาจากชนบทโดยตรงเพื่อรวมศูนย์มันไว้ในภาคอุตสาหกรรมของเมืองน่ะครับ

 

แดเนียล เดนเวอร์ : นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของเหมาซึ่งปูพื้นฐานให้ทุนนิยมบูมในภายหลังไม่ได้มีเพียงการที่รัฐเข้ารีดเค้นส่วนเกินจากชนบทที่ว่านี้นี่ครับ แต่ยังมีการชดเชยชาวนาด้วยการสนองบริการดูแลรักษาสุขภาพอย่างเป็นชิ้นเป็นอันและนโยบายสวัสดิการอื่นๆ ให้ด้วย ผมเลยอยากถามต่อว่ากำลังแรงงานสำรองของจีนนี่สร้างขึ้นอย่างไรหรือครับ?

แล้วในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 แรงงานส่วนเกินที่ว่านั้นถูกปล่อยเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมส่งออกบริเวณชายฝั่งของจีนที่กำลังบูมได้ไงครับ?

โฮเฟิง หง : ข้อแตกต่างสำคัญที่เป็นเอกเทศระหว่างตัวแบบการสร้างอุตสาหกรรมที่นำโดยรัฐอย่างรวดเร็วของสหภาพโซเวียตกับของจีนนั้นอยู่ตรงโดยพื้นฐานแล้วสตาลินได้ทำลายชนชั้นชาวนาลงไปและส่งเสริมการให้ประชากรเข้าอยู่อาศัยในเมืองครับ

ส่วนในจีนน่ะ พวกเขากลับกักกุมประชากรบ้านนอกเอาไว้ในชนบทครับ เศรษฐกิจของชาวนาเอกระถูกทำลายลงและแทนที่โดยระบบคอมมูนประชาชนซึ่งคล้ายฟาร์มรวมหมู่ของโซเวียต ทว่า ขณะเดียวกันจีนคงคุมประชากรชนบทเอาไว้ที่นั่นด้วยเนื่องจากเหตุผลนานัปการครับ กล่าวคือ พวกเขาวิตกว่าการอพยพจากชนบทสู่เมืองจะสร้างปัญหาคนตกงานและความไร้เสถียรภาพขึ้นมาในเมืองต่างๆ ดังนั้น พวกเขาจึงอยากให้ชาวนาคงอยู่เป็นเกษตรกรในชนบทสืบต่อไป

ในเวลาเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการรีดเค้นส่วนเกินจากชนบทอย่างหนักหน่วงเหี้ยมเกรียมยิ่งในรูปการกะเกณฑ์ผลผลิตทางเกษตรและการเก็บภาษีของรัฐที่ว่านี้ พวกเขาก็ทุ่มทุนเป็นอันมากในด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน การขจัดความไม่รู้หนังสือและการแพทย์ที่จัดโดยสังคมด้วย ไอ้ที่เรียกกันว่าหมอตีนเปล่ารวมทั้งโครงการฉีดวัคซีนขนานใหญ่ซึ่งกำจัดโรคติดต่อมากมายหลายโรคจนหมดสิ้นไปในชนบท อัตราการรู้หนังสือของชนบทจีนนั้นจัดว่าอยู่ในกลุ่มสูงสุดของบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทีเดียวนะครับในสมัยเหมาน่ะ

เนื่องจากพวกเขาจัดหาบริการและการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ชนบท พวกเขาก็เลยสร้างกำลังแรงงานส่วนเกินสำรองเอาไว้ใหญ่โตในชนบทที่ทั้งอ่านออกเขียนได้และมีสุขภาพดีด้วยครับ นี่ช่วยปูพื้นฐานให้แก่การพุ่งทะยานของทุนนิยมเอกชนในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ครับ

ข้อน่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนย้ายไปสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของจีนในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 และ 1990 อยู่ตรงที่ว่าแรกเริ่มเดิมทีผู้คนไม่ได้คาดหวังอะไรกับมันมากนะครับ ความจริงที่ว่าเดี๋ยวนี้จีนเป็นประเทศผู้ส่งออกมหึมาดูจะเห็นกันได้ชัดอยู่ คุณย้ายประดาโรงงานของบริษัทอเมริกันเอย ยุโรปเอย ญี่ปุ่นเอย ข้ามน้ำข้ามทะเลไปจีน แล้วคุณก็ประสบพบเจอแรงงานราคาถูกและสามารถทำการผลิตสิ่งของต่างๆ ได้

แต่ย้อนหลังไปในทศวรรษ 1980 และ 1990 น่ะ ผู้คนไม่ค่อยเชื่อมั่นสักเท่าไหร่หรอกครับว่าจะทำแบบนั้นได้ในจีน เพราะบริษัทมากหลายได้เคยย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในเอเชียใต้ เอเชียอาคเนย์และที่อื่นๆ อีกมากมายหลายแห่งมาแล้ว

สิ่งที่พวกเขาประสบก็คือแรงงานราคาถูกมากมายจากชนบท แต่ไม่จำเป็นหรอกนะครับว่าแรงงานเหล่านั้นจะมีระเบียบวินัย สุขภาพดี อ่านออกเขียนได้และมีประสิทธิภาพด้วยน่ะ

คุณต้องใช้เวลานานทีเดียวครับกว่าจะฝึกอบรมคนงานเหล่านี้ขึ้นมาให้พวกเขารู้ว่าโรงงานดำเนินการยังไงและจะอ่านคู่มือวิธีทำงานเดินเครื่องจักรอย่างไร ทั้งหลายทั้งปวงนี้โดยที่ไม่พาลเจ็บไข้ได้ป่วยไปเสียก่อน

ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศน่ะ ถ้าคุณตั้งโรงงานที่ใช้คนงานบ้านนอกจำนวนมากขึ้นมา มันจะเกิดวัณโรคหรือโรคอื่นๆ ระบาดกันเป็นพักๆ เป็นประจำเลยทีเดียว

แต่พอจีนเปลี่ยนย้ายไปสู่ตัวแบบการเติบโตที่เน้นการส่งออก โดยอนุญาตหรือเชื้อเชิญให้ทุนอุตสาหกรรมต่างชาติมาตั้งโรงงานขึ้นในบริเวณชายฝั่งและดูดซับแรงงานส่วนเกินจากชนบทเข้ามา มิช้านาน บริษัทเหล่านี้ก็พบว่าแรงงานจีนไม่เพียงมีอยู่ล้นเหลือเฟือฟายและราคาย่อมเยาเท่านั้นนะครับ หากยังมีสุขภาพดีกว่าและอ่านออกเขียนได้มากกว่าแรงงานอพยพจากชนบทในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ หลายประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังผ่านพ้นการพัฒนาชนบทยุคเหมามาแล้ว นโยบายลูกคนเดียวของรัฐก็เริ่มลดทอน อุปทานแรงงานส่วนเกินในชนบทลงครับ ประชากรหนุ่มสาวในชนบทเริ่มลดน้อยถอยลงและภายหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นแบบตลาดในทศวรรษ 1980 แล้ว การลงทุนของรัฐบาลในด้านการศึกษาและดูแลรักษาสุขภาพในชนบทก็ไม่เติบโตเพิ่มขึ้นอีกต่อไป บรรดาความก้าวรุดหน้าประดามีเหล่านี้ซึ่งสัมฤทธิผลขึ้นในยุคเหมาดูจะพลิกกลับตาลปัตรครับ

นี่นับเป็นการพัฒนาอีกขั้นตอนหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรการสร้างแรงงานส่วนเกินที่สุขภาพดีและรู้หนังสือขึ้นในชนบทของยุคเหมาก็ได้ช่วยปูพื้นฐานรองรับการสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ซึ่งอาศัยแรงงานต้นทุนต่ำเป็นฐานในชั้นหลังต่อมาครับ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)