การปะทะและไม่ปะทะกันทางอารยธรรม : วิกฤตศตวรรษที่21 (อนุช อาภาภิรม)

การปะทะและไม่ปะทะกันทางอารยธรรม

: ฮันติงตันกับฟุกุยามา

หลังสงครามเย็นที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 ภายในสหรัฐและโลกตะวันตกได้เกิดเปลี่ยนแปลงทัศนะว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครั้งใหญ่

สายหนึ่งเน้นในด้านอุดมการณ์ลัทธิเสรีนิยม เสนอโดย ฟรานซิส ฟุกุยามา (เกิด 1952 ถึงปัจจุบัน) ว่า การต่อสู้ทางอุดมการณ์ได้สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยของตะวันตก เป็นการสิ้นสุดทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เพราะว่าไม่มีการพัฒนาทางอุดมการณ์ระดับสูงไปกว่านี้แล้ว

แต่ในสุดทางของประวัติศาสตร์ ก็ยังมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะค่อนข้างซ้ำจำเจ (เสนอในรูปความเรียงปี 1989 ในรูปหนังสือปี 1992) นับว่าเป็นการมองด้านดีและให้ความสำคัญแก่อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยมากเกินไป

อีกสายหนึ่งเน้นในด้านภูมิรัฐศาสตร์ เสนอโดย แซมมวล ฮันติงตัน (1927-2008) ในชื่อ “การปะทะกันทางอารยธรรม” (ในรูปปาฐกถาที่สำนักคิดปีกขวาปี 1992 เพื่อให้ทันควันกับหนังสือของฟุกุยามา เป็นบทความในวารสารทรงอิทธิพลปี 1993 ที่ทำให้เป็นที่รู้จักดี และหนังสือปี 1996 ที่ทำให้เป็นทฤษฎี) ชี้ว่าแม้การต่อสู้ทางอุดมการณ์จะสิ้นสุดลงหลังยุคสงครามเย็น แต่การปะทะกันทางอารยธรรมซึ่งพื้นฐาน ได้แก่ ความเชื่อทางศาสนาและคุณค่าทางวัฒนธรรม จะดำรงอยู่ต่อไป

ซึ่งอารยธรรมสำคัญในโลกเป็นต้นว่า

ก) อารยธรรมตะวันตก

ข) โลกมุสลิมที่สำคัญอยู่ในบริเวณมหาตะวันออกกลาง

ค) โลกตะวันออกที่ผสมระหว่างพุทธ ฮินดู ขงจื้อ อารยธรรมออโธดอกซ์ ในรัสเซีย ยูโกสลาเวีย กรีซและโรมาเนีย เป็นต้น

ง) อารยธรรมละตินอเมริกา ที่ใกล้ชิดกับอารยธรรมตะวันตก แต่ก็มีลักษณะเฉพาะของตน

และ จ) อารยธรรมแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายสะฮารา

แม้นักทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ของสหรัฐทั้งสองคนจะดูเหมือนมีทัศนะต่างกันไปคนละขั้ว แต่ความจริงนั้นมีความเห็นตรงกันโดยพื้นฐานนั่นคือถึงเวลาที่โลกตะวันตกจะกลับขึ้นมาเป็นใหญ่อีกครั้ง เป็นการฟื้นฟู “ยุคบ้านเมืองดี” ในยุโรปและสหรัฐ (ประมาณระหว่างปี 1870-1914) ที่ตะวันตกสงบสุขและเป็นใหญ่ในโลก

แต่เมื่อถึงปี 1914 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สร้างบรรยากาศความเสื่อมถอยอารยธรรมตะวันตกโดยทั่วไป

การเกิดขึ้นของสหภาพโซเวียตที่เป็นสังคมนิยม (1917) และการต่อสู้ของประเทศอาณานิคมและกึ่งอาณานิคมหลังสงคราม ได้ยืนยันว่าตะวันตกไม่ได้เป็นใหญ่ในโลกเหมือนเดิมอีกต่อไป

การล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่เป็นมหาอำนาจทางอาวุธนิวเคลียร์ ได้สร้างความหวังในการจัดระเบียบโลกใหม่ขึ้นในสมัยประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ

ในทศวรรษปี 1990 ที่สหภาพโซเวียตอ่อนแอจนถึงขั้นล่มสลาย และเกิดการถกเถียงทางวิชาการเรื่อง การปะทะและไม่ปะทะกันทางอารยธรรมนั้น สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ไม่ได้สงบสันติอะไร เกิดสงครามใหญ่ปะทุขึ้นสามครั้ง

ได้แก่

ก)สงครามอ่าวครั้งที่หนึ่ง (ต้นปี 1991 หลังจากที่สหภาพโซเวียตระส่ำระสายหนัก ในปี 1990 เกิดผู้นำใหม่ คือ บอริส เยลต์ซิน ที่สหรัฐมีส่วนหนุนหลังอยู่) สหรัฐเข้าแทรกแซงในสงครามนี้

เริ่มต้นด้วยการทิ้งระเบิด ตามด้วยปฏิบัติการพายุทะเลทราย ใช้ทหารภาคพื้นดินขับไล่ทหารอิรักออกจากคูเวต

จากนั้นตั้งฐานทัพในบริเวณตะวันออกกลางอย่างแน่นหนา

เข้าปิดล้อมอิรักอย่างต่อเนื่องในสมัยประธานาธิบดีคลินตันจนถึงขั้นลงนามในกฎหมาย “ปลดปล่อยอิรัก” (1998) เพื่อสนับสนุนความพยายามในการโค่นล้มระบบซัดดัม

และก่อสงครามอ่าวครั้งที่สองในสมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก (ต้นปี 2003)

ซึ่ง นายอัมร์ มุสซา เลขาธิการสันนิบาตอาหรับขณะนั้นทำนายว่าการโจมตีอิรักของสหรัฐจะเป็นการ “เปิดประตูนรก”

ข)สงครามโคโซโว (1999) สงครามนี้ระเบิดรุนแรงช่วงปี 1996-1998 ระหว่างกองกำลังเพื่อปลดปล่อยชาวโคโซโวกับยูโกสลาเวียที่ขณะนั้นยังเป็นคอมมิวนิสต์และมีเซอร์เบียเป็นรัฐใหญ่ที่สุด และดูจะไม่มีทางที่จะยุติลงง่ายๆ

ในปี 1999 สมัยประธานาธิบดีคลินตัน สหรัฐ-นาโต้ได้เข้าแทรกแซงทิ้งระเบิดโจมตีกองทหารชาวเซิร์บ และลึกไปจนถึงกลางเมืองหลวงของยูโกสลาเวีย โดยข้ออ้างว่าเพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวเซิร์บที่กระทำต่อชาวโคโซโว ที่ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายอัลบาเนียและนับถือมุสลิม เป็นการกระทำเพื่อมนุษยธรรม

มีนักวิชาการอิสระบางคนชี้ว่า สหรัฐและนาโต้เข้าไปแทรกแซงในสงครามโคโซโว เป็นแผนการวางไว้นานแล้วในการจะสนับสนุน “การปฏิวัติเงียบ” เพื่อล้มพรรคและรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก และนำมาอยู่ในระบบตลาด

สหรัฐ-นาโต้สนับสนุนการสลายตัวของยูโกสลาเวียตั้งแต่ปี 1991 และปี 1999 นาโต้ได้เข้าเจรจากับรัฐบาลยูโกสลาเวียบนเงื่อนไขเศรษฐกิจสามข้อ ได้แก่

ก) ให้ยูโกสลาเวียล้มเลิกระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

ข) เปิดให้สหรัฐ-นาโต้เข้าถึงแหล่งแร่ธาตุของประเทศ (รวมในโคโซโว)

ค) เปิดให้สหรัฐ-นาโต้เข้าควบคุมระบบกระจายพลังงานในอนาคต (ดูบทความของ Brendan Stone ชื่อ The U.S.-NATO Military Intervention in Kosovo-Triggering ethnic conflict as a pretext for intervention ใน globalresearch.ca 29.12.2005)

การเข้าแทรกแซงในสงครามโคโซโวนี้ พบว่าวงในทางการเมืองของสหรัฐในบางส่วนก็ไม่ได้เห็นด้วย เห็นว่าการทิ้งระเบิดยูโกสลาเวียและการส่งทหารเข้าไปประจำการถาวรในโคโซโว เป็นความผิดพลาดทางนโยบายร้ายแรง โดยได้ชี้ไว้หลายประเด็นเหมือนเป็นการทำนาย ได้แก่

1) เป็นการสร้างสันติภาพเทียมที่ทั้งสองฝ่ายคือโคโซโวและเซอร์เบีย ยากที่จะยอมรับ (ปรากฏว่าถึง 2017 ปัญหาโคโซโวปะทุขึ้นอีกเมื่ออัลบาเนียต้องการผนวกโคโซโวเพื่อสร้างประเทศมหาอัลบาเนียขึ้น)

2) การลงลึกไปจัดการสงครามจรยุทธ์จะยิ่งกระจายลัทธิชาตินิยมไปทั่วภูมิภาคนั้น

3) จะทำให้สหรัฐเข้าไปมีส่วนในสงครามที่ไม่ได้ประกาศกับชาติที่ไม่ได้คุกคามสหรัฐและพันธมิตรของสหรัฐแต่ประการใด (สหรัฐทำผิดพลาดซ้ำอีกในการทำสงครามยึดครองอิรัก)

4) จะส่งเสริมให้ยุโรปต้องพึ่งพาสหรัฐเป็นการถาวรในการต่อสู้ ปกป้องผลประโยชน์ของยุโรปโดยที่สหรัฐแทบไม่ได้อะไร (ในปัจจุบันประธานาธิบดีทรัมป์ได้เรียกร้องค่าใช้จ่ายจากพันธมิตรยุโรปของตนเป็นประจำ)

5) ทำให้ข้ออ้างปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรมกลับหัวกลับหาง (ปัจจุบันกลายเป็นละครขบขัน)

6) ที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำให้กองทัพสหรัฐต้องเข้าไปเสี่ยงภัย โดยที่ตนไม่มีผลประโยชน์สำคัญอะไร นั่นคือการเข้าไปแทรกแซงในคาบสมุทรบอลข่านและยึดครองยูโกสลาเวีย ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากับรัสเซีย ที่มีศักยภาพในการพัฒนาที่ไม่อาจคาดเดาได้ รัสเซียนั้นร่วมเชื้อชาติสลาฟเดียวกันกับเซอร์เบีย

(ดูบทความของ Doug Bandow ชื่อ The U.S. Role in Kosovo ใน cato.org 10.03.1999 เขียนตั้งแต่ก่อนสิ้นสงคราม)

ค)สงครามก่อการร้าย พบว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1990 กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมได้ก้าวสู่การเป็นกลุ่มก่อการร้ายสากลเต็มที่ และปฏิบัติรุนแรงกว่าเดิม แทนที่กลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์เดิม

กลุ่มก่อการร้ายใหม่ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ กลุ่มอัลไคด้า นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มก่อการร้ายที่แอลจีเรีย เยเมนและปากีสถาน

ในปัจจุบันยังมีกลุ่มก่อการร้ายใหม่ที่รุนแรงกว่าขึ้นไปอีก ได้แก่ กลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส

การขยายตัวของลัทธิก่อการร้ายนี้ประธานาธิบดีบุชผู้ลูกเห็นว่าเพราะกลุ่มเหล่านี้ “อิจฉาเรา”

แต่ก็มีผู้เห็นต่างว่าเกิดจากนโยบายต่างประเทศสหรัฐที่ต้องการครอบงำมหาตะวันออกกลาง

ตัวอย่างการก่อการร้ายที่กระทำต่อสหรัฐและพันธมิตรอิสราเอล เช่น

1) การซุ่มโจมตีรถนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลที่อียิปต์ (1990)

2) การโจมตีสถานทูตอิสราเอลที่บัวโนสไอเรส (1992)

3) การระเบิดโรงแรมที่เยเมน หวังสังหารเหล่านาวิกโยธินสหรัฐที่พักที่นั่น (1992)

4) การซุ่มยิงที่หน้าสำนักงานใหญ่ซีไอเอในสหรัฐ เนื่องจากไม่พอใจนโยบายสหรัฐต่อชาวปาเลสไตน์ (1993)

5) ระเบิดตึกเวิล์ดเทรดนครนิวยอร์ก (1993) โดยสมาชิกกลุ่มอัลไคด้าใช้ระเบิดรถบรรทุก

6) การซุ่มยิงรถตู้นักศึกษาอิสราเอลที่สะพานบรูคลิน นิวยอร์ก (1993) โดยหนุ่มเชื้อสายเลบานอน

7) การซุ่มยิงจากตึกเอ็มไพร์สเตตโดยหนุ่มปาเลสไตน์ (1994)

8) ระเบิดที่อาคารโคบาร์ศูนย์การทหารที่ซาอุดีอาระเบีย ทหารสหรัฐเสียชีวิต 19 คน บาดเจ็บอีกมาก (1996)

9) การวางระเบิดพร้อมกันที่สถานทูตสหรัฐเมืองไนโรบี ประเทศเคนยา และเมืองดาเอสซาลาม ประเทศเอธิโอเปีย (1998) กล่าวกันว่าเป็นการกระทำของกลุ่มอัลไคด้า

อนึ่ง พบว่ากลุ่มก่อการร้ายชาวคริสต์ในสหรัฐชื่อ “กองทัพพระเจ้า” ก่อการร้ายหลายครั้งเพื่อต่อต้านการทำแท้ง ใช้วิธีการทั้งลักพาตัว ลอบสังหาร วางระเบิดคลินิก เป็นต้น รวมความก็คือทั้งโลกเตรียมเข้าสู่สงครามขนานใหญ่และยาวนาน

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับข้อโต้เถียงระหว่างฟุกุยามาและฮันติงตันคือ

1) การใช้ทฤษฎีสัจจนิยมและภูมิรัฐศาสตร์ของฮันติงตัน สามารถเข้าใจความเป็นจริงทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ดีกว่าลัทธิเสรีนิยมของฟุกุยามา เนื่องจากลัทธิเสรีนิยมที่รูปธรรมแสดงออกที่กระบวนโลกาภิวัตน์ อยู่ในภาวะเสื่อมถอย ถูกต่อต้านคัดค้านเป็นอันมาก

2) ในทฤษฎีการปะทะกันทางอารยธรรมนั้น ฮันติงตันได้ให้เหตุผลของการปะทะกันไว้ เช่น

ก) อารยธรรมเป็นแกนกลางแสดงความเป็นชาติ

ข) โลกแคบลง มีการปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น จนเกิดจิตสำนึกทางอารยธรรมขึ้นทั่วโลก

ค) เนื่องจากกระบวนโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมและความเป็นท้องถิ่นถูกละเลย ทำให้จิตสำนึกทางอารยธรรมรุนแรงขึ้น

ง) อารยธรรมตะวันตกที่ครอบงำอารยธรรมของโลกถึงจุดสูงสุด ไม่สามารถควบคุมอารยธรรมอื่นของประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการมีบทบาทบนโลกมากขึ้น

จ) ความขัดแย้งทางอารยธรรมไม่ค่อยยืดหยุ่น ดังนั้น จึงแก้ไขได้ยากกว่าการปะทะกันทางเศรษฐกิจและการเมือง

ฉ) เกิดอำนาจเศรษฐกิจระดับภูมิภาคขึ้น หรือประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่จะสร้างจิตสำนึกทางอารยธรรมของตนให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อรักษาความสำเร็จของตนไว้

ในเหตุผลข้อท้ายๆ นั้น ถ้ากล่าวให้เห็นชัดและเข้าใจง่ายก็คือ การปะทะกันทางอารยธรรมในทางเนื้อแท้แล้ว ก็คือการปะทะกันในการแย่งชิงความเป็นใหญ่ เป็นมรดกของลัทธิอาณานิยมคมเก่าและการจัดระเบียบโลกใหม่ที่มีขั้วอำนาจเดียวที่สหรัฐ

3) ถ้าหากเข้าใจเช่นนี้ ก็จะเห็นได้ง่ายว่า การปะทะทางอารยธรรมในที่สุดก็จะกลายเป็นการปะทะกันระหว่างสหรัฐกับส่วนที่เหลือของโลกทั้งหมด ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

การปะทะและไม่ปะทะกันทางอารยธรรมคู่ที่สอง

เมื่อทฤษฎีการปะทะกันทางอารยธรรมแพร่หลายไปก็มีนักวิชาการนักคิดจำนวนหนึ่งเห็นว่าถ้าปล่อยไปเช่นนี้ ก็จะเกิดการปะทะทางวัฒนธรรมกันใหญ่โต (ซึ่งฮันติงตันเองก็กล่าวว่าไม่ประสงค์เช่นนั้น) จึงมีการเสนอแนวคิดอื่นขึ้น เช่น “การเจรจาทางอารยธรรม” แต่มีนักวิชาการสหรัฐบางคนเข้าปะทะกับทฤษฎีนี้โดยตรง ได้แก่ แอนน์ นอร์ตัน ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

ในหนังสือของเธอชื่อ “ว่าด้วยปัญหามุสลิม” (เผยแพร่ 2013) แอนน์ นอร์ตัน ชี้ว่าปัญหามุสลิมเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นโดยพวกนักการเมือง นักปรัชญาและนักหนังสือพิมพ์ ทำนองเดียวกับปัญหาชาวยิวในยุคแสงสว่างทางปัญญาของตะวันตก (ศตวรรษที่ 18)

เธอยกตัวอย่างในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่แม้แต่แวนโก๊ะ (1853-1890) จิตรกรชื่อดังของประเทศก็ยังรู้สึกไม่สบายใจกับการอพยพเข้ามาของชาวมุสลิมจากชนบทในตุรกีและโมร็อกโก

เธอสรุปว่าการต่อต้านมุสลิมนั้นเกิดขึ้นจากความกลัวที่จะมีการฟื้นความเชื่อทางศาสนาขึ้นใหม่ในเนเธอร์แลนด์ที่เป็นแบบโลกวิสัยมากแล้ว ไม่ใช่เรื่องรากฐานความเป็นคริสเตียนของเนเธอร์แลนด์

ปัญหามุสลิมในแก่นแท้ จึงเป็นเรื่องของชาวตะวันตกที่ยึดถือในอุดมการณ์แห่งประชาธิปไตย แสงสว่างทางปัญญา ตลอดจนหลักสามประการ ได้แก่ “อิสรภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ” ที่ปฏิบัติไม่สำเร็จ

รวมความก็คือปัญหามุสลิมไม่ใช่ปัญหาค่านิยมของมุสลิม แต่เป็นปัญหาของอารยธรรมตะวันตกเอง

เธอชี้ว่าสหรัฐในอดีต ผู้คนจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นชาวคริสต์คาทอลิก ทาสแอฟริกัน ผู้อพยพชาวไอริช คนงานชาวจีน ผู้อพยพชาวเม็กซิกัน ชาวยิว ผู้อพยพจากยุโรปตอนใต้ อิตาลีและกรีซ ล้วนถูกรังเกียจกีดกัน ถูกเห็นว่า ไม่สมควรเป็นพลเมือง เนื่องจากเชื้อชาติ วัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนา

แต่ในชุมชนที่เป็นจริง จะมีผู้ที่ออกมาเถียงแทน เข้าข้าง และมองไปในอนาคตที่จะร่วมกันสร้างขึ้น

เธอตั้งใจว่าจะต่อสู้กับลัทธิกลัวอิสลามนี้ต่อไปอีก (ดูบทสัมภาษณ์ Anne Norton โดย Joseph Richard Preville ชื่อ On the Muslim Question ใน muscartdaily.com 25.03.2013)

ยังมีนักวิชาการสตรีสหรัฐอีกคนหนึ่ง เป็นนักประวัติศาสตร์รุ่นใหญ่ คือ เกอทรูด ฮิมเมลฟาร์บ ได้เขียนบทความอธิบายว่า หลัก “อิสรภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ” ล้มเหลวในการแก้ปัญหาชาวยิวอย่างไร (ดูบทความของ Gertrude Himmelfarb ชื่อ The Jewish Question-Then and Now ใน weeklystandard.com 20.06.2016)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงโลกหลายขั้วอำนาจที่มหาตะวันออกกลาง