นานาชาติเชื่อมั่น หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง-แผนแม่บทอาเซียน สร้างความรุ่งเรืองแก่ภูมิภาค

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า จีนและอาเซียนออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเชื่อมโยงแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง กับแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน” ณ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 (10+1) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่าอาเซียนและจีนจะทำงานร่วมกันในด้านการเงิน การค้าและการลงทุน เทคโนโลยีใหม่ การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน การออกแบบนโยบาย และอื่นๆ เพื่อการเชื่อมโยงครบทุกมิติ การเชื่อมโยงแผนริเริ่มฯ และแผนแม่บทฯ เข้าด้วยกันจะช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค สันติภาพและเสถียรภาพ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2025 (MPAC 2025) ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 28-29 ณ กรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว ในเดือนกันยายน 2016 มีจุดมุ่งหมายเพิ่มพูนความสามารถทางการแข่งขันของอาเซียนด้วยการส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน นวัตกรรมดิจิทัล การขนส่ง การนำเข้าและการส่งออก รวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน

(191005) — GUANGZHOU, Oct. 5, 2019 (Xinhua) — Aerial photo taken on July 11, 2018 shows the Hong Kong-Zhuhai-Macao Bridge in south China. (Xinhua/Liang Xu)

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 มีการเผยแพร่ “วิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน 2030” อย่างเป็นทางการ โดยสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้ลงนามเอกสารความร่วมมือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กับจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนมานานติดต่อกัน 8 ปี ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของจีนมานานติดต่อกัน 6 ปี และยังตั้งอยู่ในจุดที่เส้นทางบกและทางทะเลของแผนริเริ่ม”หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”มาบรรจบกัน จึงมีฐานะเป็นพันธมิตรรายสำคัญของแผนริเริ่มฯ
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนและอาเซียนประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์แผนริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” โดยเกิดการเชื่อมโยงเชิงกลยุทธ์ของแผนริเริ่มฯ กับนานาประเทศในอาเซียน และมีการจัดตั้งกลไกการหารือระหว่างรัฐบาลในหลายระดับ

ตัวอย่างเช่น ทางรถไฟจีน-ลาว ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน ที่กำลังจะพลิกโฉมลาวจาก “ดินแดนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล” ให้กลายเป็น “ประเทศที่สามารถเชื่อมโยงกับนานาประเทศผ่านทางบก” ขณะที่ในมาเลเซีย จีนได้ลงทุนภาคการผลิตของมาเลเซีย จำนวน 400 โครงการ และโรงงานประกอบรถไฟแห่งแรกของมาเลเซียก็เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากบริษัทก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน (CRCC) ของจีน นอกจากนี้ การก่อสร้างทางด่วนตัดตรงจากพนมเปญไปยังสีหนุวิลล์ในกัมพูชา ความยาว 190 กิโลเมตร ก็มีความคืบหน้าในเชิงบวก

สำหรับไทย รัฐบาลทั้งสองประเทศพยายามผลักดันโครงการรถไฟไทย-จีนอย่างเต็มที่ ส่งเสริมการเชื่อมโยงเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) ของจีนกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย รวมถึงผลักดันความร่วมมือพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไทย-จีนในจังหวัดระยอง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิต
ด้านการเงินการลงทุน ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มประเทศอาเซียน ในการประกันการจัดหาเงินทุน ขณะที่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีน-อาเซียนก็มีการพัฒนา อาเซียนได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของจีน โดยในปี 2018 ชาวอาเซียนและชาวจีนเดินทางไปมาระหว่างกันสูงถึง 57 ล้านครั้ง เที่ยวบินต่อสัปดาห์ระหว่างจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียนอยู่ที่เกือบ 4,000 เที่ยว

มีผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า แถลงการณ์ร่วมแสดงให้เห็นว่าอาเซียนกระตือรือร้นในการเชื่อมต่อกับความคิดริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน และประเทศสมาชิกอาเซียนได้ละทิ้งแนวทาง”การต่อสู้เพียงลำพัง” ในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่มุ่งมั่นสร้างประชาคมที่มีโชคชะตาร่วมกันของจีนกับอาเซียน ด้วยการเชื่อมโยงแผนแม่บทความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนเข้ากับแผนริเริ่มฯ ของจีน

ฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า จีนเป็นคู่เจรจาสำคัญของอาเซียน การเติบโตอย่างรวดเร็วของการค้าระหว่างจีน-อาเซียน มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การเชื่อมต่อเครือข่าย และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในภูมิภาคแห่งนี้

พลเอก ลูฮุท บินซาร์ ปันด์จัยตัน (Luhut Binsar Pandjaitan) รัฐมนตรีกระทรวงประสานงานด้านกิจการทางทะเลสาธารณรัฐอินโดนีเซีย กล่าวว่าแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง จะช่วยลดช่องว่างความแตกต่างด้านโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมกระบวนการบูรณาการของอาเซียนต่อไป

โจวฟางอิ๋น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกลยุทธ์รอบด้านแห่งสถาบันยุทธศาสตร์นานาชาติกว่างตง (กวางตุ้ง) กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก เนื่องจากหลายประเทศยังอยู่ในช่วงการพัฒนาทางอุตสาหกรรมช่วงต้น จึงมีความต้องการเงินทุน เทคโนโลยี และสาธารณูปโภคต่างๆ อย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่กลุ่มประเทศอาเซียนสนับสนุนแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง

เย่ไห่หลิน นักวิจัยด้านปัญหาระหว่างประเทศของสถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกล่าวว่า ในฐานะที่อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง จึงเป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างองค์กรระหว่างประเทศกับจีน ทำให้ความร่วมมือในแผนริเริ่มฯ มีพลวัตใหม่ๆ จาก ความร่วมมือพหุภาคีในระดับภูมิภาค ซึ่งจะทำให้การเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคราบรื่นและรุดหน้ายิ่งขึ้น

กวี จงกิจถาวร ผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนของไทยเชื่อว่า ภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความสำเร็จของการประชุมครั้งนี้ จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของอาเซียนที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของโลก