วินมอเตอร์ไซค์ : พลวัต-พลังทางเศรษฐกิจและการเมืองในไทย

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

ชีวิตประจำวันในเมืองใหญ่ของไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร การขนส่งมีหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในการขนส่งที่อยู่ใกล้ชิดมากที่สุดอย่างมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือวินจักรยานยนต์ ถือเป็นการขนส่งขั้นพื้นฐานและเป็นทางเลือกหลักในการเดินทางไม่ว่าด้วยเหตุผลของความสะดวกในชั่วโมงเร่งด่วน หรือการเข้าถึงปลายทางที่การขนส่งรูปแบบอื่นไปไม่ถึง

ด้วยความสามารถนี้เอง ทำให้วินมอเตอร์ไซค์ก่อตัวกลายเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตผู้คน ส่งผลถึงเศรษฐกิจ และเมื่อมีจำนวนมาก ก็กลายเป็นพลังทางการเมือง ที่มีจุดประสงค์และเอกลักษณ์ขึ้นมาโลดแล่นไปกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

แม้เห็นพวกเขาตามท้องถนน ตามตรอกซอกซอย แต่รู้ถึงชีวิต ความคิดและสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขามากแค่ไหน

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนา “ผู้ครองแผนที่ : อำนาจและการเมืองของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในไทย” (Owner of the Map: Power, politics & motorcycle taxis in Thailand) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับงานวิชาการของนายคลอดิโอ โซปราเซ็ตตี นักวิจัยด้านรัฐศาสตร์ การพัฒนาเมืองของวิทยาลัยออล โซลของอ๊อกซ์ฟอร์ด โดยได้เชิญทั้งนายคลอดิโอและผู้ร่วมเสวนาอีกหลายท่าน มาร่วมฉายภาพชีวิตของวินมอเตอร์ไซค์

นายคลอดิโอ กล่าวถึงที่มาของงานศึกษาว่า หนังสือดังกล่าวเกิดจากความสนใจในช่วงศึกษาต่อ และลงพื้นที่วิจัยในช่วงปี 2553 ซึ่งเกิดการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. หรือที่เรียกกันว่า “คนเสื้อแดง” และเห็นบทบาทของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

งานชิ้นดังกล่าวจึงเป็นการศึกษาทำความเข้าใจคนเหล่านี้ ซึ่งนอกจากบทบาทในช่วงปี 2553 แล้ว ยังศึกษาไปถึงช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของวินมอเตอร์ไซค์หลังการรัฐประหารปี 2557 กรุงเทพฯ บริหารจัดการวินมอเตอร์ไซค์อย่างไร เหตุใดที่ทำให้วินมอเตอร์ไซค์ยังคงมีบทบาทในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนี้

อีกทั้งยังศึกษาถึงวินมอเตอร์ไซค์ในฐานะปัจจัยสู่พลวัตทางการเมือง ความเคลื่อนไหวทางสังคม เศรษฐกิจสังคม การรวมตัวของบรรดาวินมอเตอร์ไซค์จนกลายเป็นสหภาพ ซึ่งมีหลายเรื่องทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังที่น่าสนใจ

ด้านนายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเองได้เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 17 และทำงานเป็นวินมอเตอร์ไซค์มา 30 ปีแล้ว โดยต้องกล่าวว่า มีมาเฟียครอบงำวินเตอร์ไซค์ 100% โดยต้องส่งเงินให้มาเฟีย 2,500/เดือน ส่งให้ตำรวจ 300/เดือน และส่งค่าน้ำให้หัวหน้าวินอีกวันละ 3 บาท ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลใดเข้ามาแก้ไขมาเฟียวินมอเตอร์ไซค์จนกระทั่งถึงรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร

ตอนแรกไม่เชื่อว่าจะมีคนแก้ไขได้เพราะยังมองว่านักการเมืองกับมาเฟียเป็นพวกเดียวกัน แม้มีการจัดระเบียบในปี 2546 แต่มาเฟียยังคงมีอยู่ ทำให้วินมอเตอร์ไซค์ได้รวมตัวกันเรียกร้องต่อรัฐบาลทักษิณ

จนในที่สุด ตัวแทนวินมอเตอรไซค์ถูกเรียกไปคุยที่ทำเนียบรัฐบาล ทักษิณได้ขอโทษพร้อมพูดว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และได้เปิดบ้านพิษณุโลกเพื่อหารือ จนออกมาเป็นแนวทางว่า ถ้าตำรวจคนใดเกี่ยวข้องในการหาประโยชน์กับวินมอเตอร์ไซค์จะให้ออกจากราชการ

นั่นทำให้วินมอเตอร์ไซค์กับการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

วินมอเตอร์ไซค์หลายคนนิยมชมชอบทักษิณเพราะแก้ไขปัญหาจนไม่มีมาเฟีย มาถูกยึดอำนาจก็ยังหวังที่จะให้ทักษิณกลับมา

นายเฉลิมกล่าวต่อว่า ต่อมาวินมอเตอร์ไซค์ได้จัดตั้งสมาคมขึ้นในปี 2553 จากการต่อรองกับทหารและได้เร่งให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในตอนนั้นเป็นคนผลักดันจนสำเร็จ และมีการตั้งสหกรณ์เพื่อไม่ให้ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ จนมาถึงรัฐบาล คสช. แม้จะมีการแก้ไข แต่ก็ไม่เหมือนในยุคของทักษิณ บางพื้นที่ปลอดมาเฟีย แต่บางพื้นที่อย่างนนทบุรีนั้นมาเฟียคุมเต็มร้อย

นายเฉลิมยังกล่าวถึงพลังทางเศรษฐกิจของวินมอเตอร์ไซค์ว่า จากการรวบรวมข้อมูลตอนนี้ มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นทะเบียนแล้ว 130,000 คน โดยเฉลี่ยจะรับผู้โดยสารวันละ 40-50 คน หากคิดทั้งระบบจะมีผู้โดยสารใช้บริการมากถึง 6 ล้านคนต่อวัน ซึ่งก่อเกิดรายได้วันละ 65-130 ล้านบาทต่อวัน หรือปีละ 23,000-40,000 ล้านบาท

นายเฉลิมยังกล่าวอีกด้วยว่า แม้สร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่วินมอเตอร์ไซค์กลับถูกจัดประเภทเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่สามารถเข้าถึงประกันสังคมได้เพราะไม่มีนายจ้าง จึงถามว่าเหตุใดวินมอเตอร์ไซค์ถึงเข้าถึงหลักประกันสุขภาพไม่ได้ อีกทั้งกรมการขนส่งไม่ผลักดันให้วินมอเตอร์ไซค์เข้าระบบแอพพลิเคชั่น ซึ่งจะช่วยเรื่องการบริการและยังแก้ไขปัญหาค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมเพราะสามารถคำนวณค่าบริการตามระยะทางจากจุดรับไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ส่วนสมาคมที่ตั้งขึ้นก็มีไว้เพื่อไม่ให้ตำรวจจับ การดำเนินงานของสมาคมล้วนทำเองโดยไม่มีผู้สนับสนุนคนใดเข้ามาช่วย

“ผมเชื่อว่ารอบนี้คนจะลุกฮือหนัก เพราะเราเดือดร้อนกันมาก แม้จะมีการจัดระเบียบแต่ก็ทำได้เพียงบางจุด หาบเร่ไม่สามารถขายของได้ เราพร้อมออกมา แต่ตอนนี้ก็ทำได้แค่ด่าทอใส่จอทีวี คิดว่าอยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยู่ หากเลื่อนเลือกตั้งบ่อยๆ คงมีแน่” นายเฉลิมกล่าวสรุป

 

ขณะที่นายคริส เบเกอร์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยกล่าวว่า งานเขียนของคลอดิโอมีความสนใจที่หยิบยกอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ถึงเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในโครงสร้างสังคม ที่เปลี่ยนรูปให้สามารถเดินทางในเมืองหรือระหว่างเมืองอย่างในภาคอีสาน

การเข้ามาของทักษิณส่งผลอย่างสำคัญอย่างที่คุณเฉลิมกล่าวไป เป็นเพียงคนเดียวที่ฟังพวกเขาพร้อมแนะนำสิ่งที่ต้องทำ ทำให้เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นสิทธิพลเมือง บางสิ่งที่ใหญ่มากต่อพวกเขาในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม

ช่วง 4 ปีมานี้ อาชีพวินมอเตอร์ไซค์ก็มีจำนวนมากขึ้น พวกเขาจะกลายเป็นแรงผุดขึ้นทางสังคมที่จะออกมาเป็นกลุ่มแรก

แต่คำถามคือ สิ่งที่ตามมาคือ ผลลัพธ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการรวมกันบนพื้นที่ทางการเมือง มันยากที่จะเรียกได้ในตอนนี้ แต่คิดว่า เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น เราได้เห็นการเมือง เราได้เห็นกลุ่มไดโนเสาร์ เห็นบรรดานายพลพูดเรื่องเก่าๆ ที่เกิดขึ้น และมันจะนำไปสู่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ความนิยมของทักษิณที่มีอยู่เมื่อเรามองย้อนกลับไป ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง การเมืองเหลือง-แดง จนมาถึงรัฐประหาร

นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจ