“ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (28) ข่วงหลวงเวียงแก้ว : มุมมองจากเอกสารจดหมายเหตุฝ่ายสยาม (ตอนจบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

คุกเชียงใหม่เหมือนคอกหมู

คุกเก่าในเชียงใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร พบความตอนหนึ่งในใบบอกที่พระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลลาวเฉียง รายงานลงไปยังกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ.2438 ว่า

ที่นครเชียงใหม่ในเวลานั้นมีคุกอยู่ 2 แห่ง คือคุกของศาลต่างประเทศซึ่งอยู่ที่ใต้ถุนของที่ทำการศาลต่างประเทศแห่ง 1 กับคุกของกรมมหาดไทยนครเชียงใหม่ในเวียงอีกแห่ง 1

พ.ศ.2440 ศาลต่างประเทศย้ายไปเปิดทำการที่อาคารหลังใหม่ริมแม่น้ำปิง ตรงบริเวณที่ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะหน้าจวนผู้ว่าฯ ตามที่มิสเตอร์อาเชอ ไวส กงสุลอังกฤษมีหนังสือแนะนำพระยาทรงสุรเดช ไว้เมื่อ พ.ศ.2439 ว่า

“ควรปลูกสร้างศาลต่างประเทศขึ้นใหม่ เพราะที่ชำระความศาลต่างประเทศทุกวันนี้ใช้ชำระในห้องที่อยู่ของผู้พิพากษาตระลาการ แลใช้ใต้ถุนเปนคุกด้วย ดูเปนการไม่สมควร”

แล้วคุกของศาลต่างประเทศจึงได้ย้ายไปอยู่ที่ด้านหลังที่ทำการศาลต่างประเทศหลังเดิม ตรงที่ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่

ส่วนคุกของกรมมหาดไทยนครเชียงใหม่นั้น ปรากฏที่ตั้งในแผนที่เมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2436 ที่ด้านทิศใต้ของเวียงแก้ว

ซึ่งปิแอร์ โอร์ต (Pierre Orts) ผู้ช่วยที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลสยามสัญชาติเบลเยียม ได้บันทึกไว้ใน “Pierre Orts”s Diaries” เมื่อคราวเดินทางขึ้นมาตรวจราชการในหัวเมืองมณฑลลาวเฉียง (ต่อมาคือมณฑลพายัพ) และเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีที่นายทหารไทยวิวาทกับชาวอเมริกันที่นครเชียงใหม่ในเดือนกันยายน 2440 ซึ่งตรงกับช่วงปลายสมัยพระเจ้าอินทวิทยานนท์ ไว้ว่า

“ในเชียงใหม่มีเรือนจำ 2 แห่ง หนึ่ง เรือนจำของศาลสถิตยุติธรรม สำหรับกักขังบุคคลที่ได้รับการตัดสินว่ามีความผิดสถานเบาและถูกจำคุกในระยะสั้น สอง เรือนจำใหญ่ สำหรับนักโทษคดีสำคัญ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมมหาดไทย

วันนี้ (7 กันยายน 2440) ข้าพเจ้าไปเยี่ยมชมเรือนจำใหญ่ ได้เห็นสภาพอันน่าสังเวชเป็นอย่างยิ่ง เรือนจำแห่งนี้ไม่มีหลังคา และพื้นก็เฉอะแฉะไปด้วยโคลนหนาประมาณ 2-3 นิ้ว ต้องเดินไปบนสะพานไม้ที่ทอดไว้สำหรับเดินจากประตูใหญ่เข้าไปในตัวเรือนจำ ภายในเรือนจำก็มืดและมีเหล่านักโทษผู้เคราะห์ร้ายประมาณ 20 คน ยืนอยู่บนพื้นอันเฉอะแฉะด้วยโคลนสีดำ เมื่อเข้าไปภายในก็จะมีสภาพเหมือนโรงเก็บสินค้า มีนักโทษใส่ขื่อคาคุกเข่าอยู่บนพื้นไม้ บ้างก็สูบบุหรี่ บ้างก็นั่งห้อยแขนอยู่ โรงเรือนมี 3 ประตู ประตูแรกเป็นที่จองจำนักโทษที่ถูกจำคุกในระยะสั้น ประตูที่สองเปิดออกไปสู่ที่คุมขังนักโทษฉกรรจ์ และประตูที่สามเป็นประตูห้องจำคุกนักโทษหญิง ห้องขังทั้งหมดแทบจะไม่มีอากาศหายใจ มีแสงสว่างก็เพียงที่ลอดเข้าทางรอยแตกของผนังเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีกลิ่นอันสุดจะทนทานอยู่ทั่วไป เราต้องคลานเข้าไปทางประตูที่จะเข้าไปสู่ห้องขังนักโทษหญิงซึ่งสูงเพียงแค่ 60 เซนติเมตรเท่านั้น ข้าพเจ้าคิดว่าสถานที่เช่นนี้ เปรียบไม่ได้แม้กับคอกหมูของเราชาวยุโรป เพราะสัตว์เลี้ยงคงอาศัยอยู่ไม่ได้”

บันทึกนี้ พิษณุ จันทร์วิทัน ได้ถอดความไว้ในหนังสือชื่อ “ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง”

 

ปฏิรูปคุก พัฒนาเรือนจำ

เนื่องจากคุกของกรมมหาดไทยนครเชียงใหม่มีสภาพดังที่ปีแอร์ โอร์ต บันทึกไว้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนจำมหันตโทษ ริมคลองหลังวัดสุทัศน์ ด้านหน้าจดถนนมหาชัย ด้านหลังจดคลองเสาชิงช้าแล้ว

ต่อจากนั้น ใน พ.ศ.2442 ก็โปรดให้ตรา “ข้อบังคับเรือนจำสำหรับคุมขังนักโทษตามหัวเมือง” โดยมีข้อกำหนดให้ “ผู้ว่าราชการเมือง เปนผู้บังคับการคุมขังนักโทษในตราง บรรดามีในจังหวัดเมืองนั้นทั่วไป”

พ.ศ.2444 โปรดให้ตรา “พระราชบัญญัติลักษณะเรือนจำ” เพื่อให้การจัดการเรือนจำและการคุมขังนักโทษเป็นไปตามมาตรฐานสากล นับแต่นั้นมาข้าหลวงใหญ่และผู้ว่าราชการเมืองต่างก็มีหน้าที่ต้องเข้าไปตรวจตราความเป็นอยู่ของนักโทษในเรือนจำอยู่เสมอๆ

ทั้งยังต้องจู่โจมเข้าตรวจในเวลาวิกาลอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อป้องกันการทารุณกรรมนักโทษ ด้วยเหตุนี้เรือนจำในทุกหัวเมืองจึงต้องมีที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับศาลารัฐบาลมณฑลหรือศาลากลางจังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน

เดือนกันยายน 2448 เกิดเหตุน้ำปิงเอ่อล้นฝั่งเข้าท่วมที่ว่าการมณฑลพายัพ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นบ้านพักอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ทำให้กำแพงที่ว่าการมณฑลพังลงด้านหนึ่ง

เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพจึงได้ปรึกษากับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้านครเชียงใหม่ที่ 8 เรื่องขอย้ายที่ว่าการมณฑลพายัพมาเปิดทำการร่วมกับเค้าสนามหลวงนครเชียงใหม่ที่แยกกลางเวียง

และในคราวเดียวกันนั้น ข้าหลวงใหญ่ฯ คงจะได้ขอให้เจ้าหลวงเลือกหาพื้นที่ว่างในเวียงเชียงใหม่ให้เป็นสถานที่ก่อสร้างศาลารัฐบาลมณฑลพายัพแห่งใหม่แทนหลังเดิมที่ประสบปัญหาอุทกภัยอยู่ทุกปี

เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์จึงได้ยกที่ดินในบริเวณที่แผนที่นครเชียงใหม่ พ.ศ.2436 ระบุว่าเป็น “หอพระแก้วร้าง” ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการเค้าสนามหลวงนครเชียงใหม่ ให้เป็นที่ตั้งศาลารัฐบาลมณฑลแห่งใหม่

และพร้อมกันนั้นคงจะยกพื้นที่เวียงแก้วด้านทิศตะวันตกตอนใต้ ซึ่งมีพื้นที่ 28 ไร่ 44 ตารางวา ให้เป็นสถานที่ก่อสร้างเรือนจำนครเชียงใหม่ แทนพื้นที่คุกเดิมของกรมมหาดไทยซึ่งมีพื้นที่เพียง 9 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา ไม่เพียงพอที่จะก่อสร้างเรือนจำขนาดใหญ่ที่จำลองแบบมาจากเรือนจำมหันตโทษได้

เมื่อคอกทับคุ้ม

สําหรับปมปัญหาที่ว่า เหตุใดจึงต้องมาสร้างเรือนจำในพื้นที่ส่วนหนึ่งของเวียงแก้วนั้น เมื่อพิจารณาข้อมูลในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ.2436 ประกอบกับความในเอกสารจดหมายเหตุหลายฉบับ

ก็พบว่าที่ดินด้านทิศตะวันตกของหอพระแก้วร้างตั้งแต่คุกเดิมของกรมมหาดไทยลงไปทางใต้จนถึงแนวเขตวัดเจดีย์หลวง เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ได้อนุญาตให้ใช้เป็นที่ตั้งค่ายทหารของกองทหารและกองตำรวจมณฑลพายัพไปตั้งแต่หลายปีก่อนหน้านั้นแล้ว

ส่วนพื้นที่ด้านทิศเหนือของหอพระแก้วร้างซึ่งอยู่ตรงข้ามกับคุ้มหลวงนครเชียงใหม่ก็มีบ้านเรือนราษฎรปลูกอยู่เต็มไปหมดอีก

ในเวลานั้นจึงคงเหลือพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ก็แต่เฉพาะพื้นที่เวียงแก้วที่พอจะแบ่งให้เป็นสถานที่ก่อสร้างเรือนจำได้

เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์จึงยกที่ดินเวียงแก้วด้านทิศตะวันตกตอนใต้ซึ่งอยู่ติดกับคุกเดิมของกรมมหาดไทยให้เป็นสถานที่ก่อสร้างเรือนจำนครเชียงใหม่แห่งใหม่

ซึ่งจะเป็นการสะดวกต่อเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดในตำแหน่งผู้บัญชาการเรือนจำจะได้เข้าไปตรวจตรานักโทษที่ต้องคุมขังได้อย่างสม่ำเสมอ

ศาลารัฐบาลมณฑลพายัพและเรือนจำนครเชียงใหม่นี้ จะเริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่เมื่อไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด คงพบแต่หลักฐานจากสมุดจดหมายเหตุรายวันของโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพายัพ “ยุพราชวิทยาลัย” ว่า

วันที่ 30 มิถุนายน 2462 หยุดโรงเรียน 1 วัน เนื่องจากครูและนักเรียนไปร่วมพิธีเปิดศาลารัฐบาลมณฑลหลังใหม่

ส่วนเรือนจำนครเชียงใหม่นั้น รองอำมาตย์โทชุ่ม ณ บางช้าง อดีตอาจารย์โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ซึ่งมีบ้านพักอยู่ข้างเรือนจำ ได้เล่าไว้ว่า เมื่อแรกที่ท่านผู้เล่าขึ้นมารับราชการที่นครเชียงใหม่ใน พ.ศ.2461 นั้น เรือนจำยังสร้างไม่เสร็จ มาแล้วเสร็จหลังจากนั้นอีก 1 ปี

จึงพอจะอนุมานได้ว่า เรือนจำนครเชียงใหม่นี้คงจะสร้างเสร็จในเวลาใกล้เคียงกับศาลารัฐบาลมณฑลพายัพ แล้วคงจะได้ย้ายนักโทษจากคุกของศาลต่างประเทศและคุกของกรมมหาดไทยนครเชียงใหม่มาขังรวมกันที่เรือนจำแห่งนี้

 

เรือนจำหลังงาม

ใน พ.ศ.2463 นายพลตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ได้เสด็จขึ้นมาตรวจราชการมณฑลพายัพ เมื่อเสด็จถึงนครเชียงใหม่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2463 ได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า

หากไม่มีที่ทำการของรัฐบาลและโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลตั้งอยู่แล้ว ในเวียงเชียงใหม่แทบจะเป็นเมืองร้างเลยทีเดียว เพราะผู้คนต่างอพยพออกไปตั้งบ้านเรือนทำมาหากินกันอยู่ที่ย่านท่าแพริมแม่น้ำปิงกันหมด

และทรงกล่าวถึงเรือนจำนครเชียงใหม่ที่ได้เสด็จทอดพระเนตรไว้ในลายพระหัตถ์ว่า

“เรือนจำที่เชียงใหม่งดงามมาก จนถึงรู้สึกว่าน่าเสียดายที่เป็นเรือนจำ ถ้าเป็นโรงเรียนของรัฐบาลน่าจะเหมาะกว่า รูปร่างนั้นคือเป็นตึกทุกแห่ง คล้ายกับเรือนจำที่น่าน แต่มีมากกว่าหลายหลัง พอโผล่เข้าไปในประตูก็เห็นตึกเรียงกันไป 2 แถว เป็นหลังๆ ไป มีถนน สนาม แลสวนอยู่กลาง ท่วงทีคล้ายโรงเรียนนายร้อยทหารบกที่ถนนราชดำเนิน ตึก 2 แถวนี้เป็นที่ขังนักโทษทั้งนั้น เป็นห้องๆ ไปทั้ง 2 ชั้น ประตูหน้าต่างมีกรงเหล็กตลอด แต่ภายในห้องสบายดีมาก นอกจากนี้ มีโรงงานที่สร้างเป็นรูปศาลาใหญ่โต โรงเลี้ยงอาหาร โรงครัว ล้วนเป็นของถาวรทั้งสิ้น มีตึกที่พยาบาลนักโทษที่ป่วยอีกแห่งหนึ่ง”

นอกจากนั้น ยังพบความใน “ระยะทางไปมณฑลพายัพ พระพุทธพุทธศักราช 2465” ซึ่งพระยาสุนทรเทพกิจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ได้บันทึกไว้เมื่อคราวติดตามเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขึ้นมาตรวจรายงานในมณฑลพายัพ ว่า

“เรือนจำมณฑลนี้อยู่ทางถนนซึ่งซอยจากข้างศาลารัฐบาล อยู่ห่างกับศาลารัฐบาลประมาณ 3 เส้นเศษ กำแพงก่ออิฐถือปูน มีตึกสำหรับเปนห้องขังนักโทษ 2 หลังตั้งหันหน้าเข้าหากัน มีสนามหญ้าอยู่กลาง มีตึกพยาบาล ที่ทำการ ที่หุงต้ม และเลี้ยงนักโทษ ล้วนเปนตึกทั้งสิ้น กว้างขวางแลสอาดสอ้านมาก บรรดาเรือนจำในพระราชอาณาจักร (เว้นแต่กรุงเทพพระมหานคร) ยังไม่เคยเห็นเรือนจำใดที่มั่นคงและมีการก่อสร้างดีกว่านี้…ทราบว่าแรงงานทำโดยมากใช้นักโทษ”

การที่รัฐบาลสยามให้ความสำคัญกับระบบงานราชทัณฑ์ของนครเชียงใหม่มากเป็นพิเศษ จนถึงกับสร้างเรือนจำที่นอกจากจะมั่นคงแข็งแรงแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นเรือนจำที่งดงามมากนั้น คงจะเป็นเพราะที่นครเชียงใหม่มีชาวต่างชาติเข้ามาประกอบอาชีพอยู่เป็นจำนวนมาก

เฉพาะอย่างยิ่งมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนที่เข้ามาประกาศศาสนาตั้งแต่ยุคพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ฉะนั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลงใน พ.ศ.2461อัครราชทูตผู้แทนพิเศษของรัฐบาลสยามได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมสันติสมาคม ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ท่านได้ใช้โอกาสนั้นเจรจาต่อรองกับผู้แทนรัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นชาติคู่สัญญาที่สำคัญของสยาม

ในขณะเดียวกัน ในประเทศไทยก็มีการดำเนินการคู่ขนานพร้อมกันไป ดังมีความปรากฏในบันทึกความทรงจำของศาสนาจารย์ วิลเลียม แฮริส อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปทรงวางศิลารากโรงเรียนแห่งใหม่ของคณะมิชชันนารีอเมริกันที่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพใน พ.ศ.2448 ว่า

นายเอลดัน ร. เจมส์ (Eldon R. James) ชาวอเมริกันซึ่งรับราชการเป็นที่ปรึกษาราชการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาพบศาสนาจารย์แฮริสถึงโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เมื่อปลายปี พ.ศ.2462 ทั้งที่ในเวลานั้นรถไฟสายเหนือเพิ่งเปิดเดินรถมาถึงนครลำปางเท่านั้น

ในการพบกันครั้งนั้น

“นายเจมส์ได้ขอร้องให้ฉันช่วยเตรียมบันทึกเกี่ยวกับสนธิสัญญาฉบับแก้ไขใหม่ กับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยปรารถนาจะให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาฉบับเก่า บันทึกฉบับนี้ นายชาร์ล เฮนรี บัทเลอร์ ลูกพี่ลูกน้องของฉันได้ยื่นต่อนายแลนซิง ที่กรุงวอชิงตัน”

ดังนี้จึงอาจจะกล่าวได้ว่า เรือนจำนครเชียงใหม่ที่สร้างขึ้นในพื้นที่ส่วนหนึ่งของเวียงแก้วนั้น นอกจากจะเป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงสูงสำหรับคุมขังนักโทษของศาลต่างประเทศและศาลยุติธรรมประจำนครเชียงใหม่แล้ว

เรือนจำนี้ยังเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเชื่อว่า สยามได้ปฏิรูประบบงานราชทัณฑ์สู่มาตรฐานสากลแล้ว จึงทำให้สหรัฐอเมริกายินยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ทำให้รัฐบาลสยามประสบความยุ่งยากในการบังคับใช้กฎหมายเป็นชาติแรก

และเป็นต้นแบบให้รัฐบาลคู่สัญญาอีก 12 ชาติ ยินยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเวลาต่อมา สยามจึงได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมาโดยสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน

นั่นคือ อีกมุมมองหนึ่งว่าด้วยเอกสารฝ่ายสยามที่ชาวล้านนาคงต้องเปิดใจรับฟัง แม้ลึกๆ แล้วอาจจะยังคาใจอยู่ไม่น้อยก็ตาม