ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ประชานิยมแบบซ้าย – ทางเลือกใหม่สู่อนาคต?

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

อนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองที่น่าจับตามองที่สุดในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

เพราะนอกจากผู้ก่อตั้งเกือบทั้งหมดจะไม่มีประสบการณ์ในการทำพรรคมาเลย

คนทั่วไปก็รู้ว่าใครเป็นใครในพรรคน้อยมาก

ไม่ต้องพูดถึงข้อเท็จจริงที่พรรคนี้ยังไม่มีอดีตผู้แทนฯ จากพรรคไหนประกาศร่วมงานทางการเมืองเลย

ทั้งที่อนาคตใหม่ในมิตินี้ไม่ต่างจากพลังธรรมใหม่หรือพรรคคุณไพบูลย์ นิติตะวัน โพลบางสำนักกลับบอกว่าตอนนี้พรรคเป็นที่สามในแง่ความนิยม, ว่าที่หัวหน้าพรรคถูกเทียบชั้นกับอดีตนายกฯ ที่คนรักที่สุด ส่วนพรรคก็ถูกประเมินว่าจะแย่งคะแนนพรรคอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งทุกครั้งหลังปี 2544 เป็นต้นมา

ถ้าเฟซบุ๊กเป็นเขตเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคนี้คงเป็นนายกฯ ตามกระแสที่พรรคสร้างในโซเชียลไปแล้ว

แต่อนาคตใหม่ทำเรื่องนี้ขณะที่สองพรรคใหญ่ยังไม่ขยับ

ส่วนผู้ก่อตั้งพรรคใหม่อื่นก็สูงวัยจนสร้างกระแสกับ Digital Native ได้ยาก

อนาคตใหม่จึงมีเรื่องให้คิดว่าทำอย่างไรให้กระแสเป็นคะแนนในวันเลือกตั้งจริงๆ

โจทย์ของอนาคตใหม่ไม่ใช่แค่เรื่องของอนาคตใหม่ แต่ยังเป็นดัชนีว่าคนรุ่นใหม่จะทำพรรคที่เริ่มต้นจากศูนย์ได้สำเร็จแค่ไหน

ประชาชนต้องการนโยบายแบบที่พรรคนี้เสนอหรือไม่

ความผูกพันกับนักการเมืองที่ทำงานมานานมีความหมายอย่างไร

และอะไรที่สังคมคาดหวังจากพรรคลักษณะนี้ในปัจจุบัน

ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ท่านหนึ่งพูดว่าการเมืองคือการสร้างความเป็นไปได้ให้ประชาชน

แต่คำว่า “ความเป็นไปได้” คือคำคุณศัพท์ที่ต้องขยายคำอื่นจนไม่มีความหมายในตัวเอง

คำประกาศสร้างความเป็นไปได้จึงไม่ช่วยให้เข้าใจว่าพรรคจะทำอะไรนัก

อย่างน้อยเมื่อเทียบกับความรับรู้ว่าพรรคจะไม่ทำอะไร

ยกตัวอย่างง่ายๆ เรารู้ว่าพรรคนี้ไม่เอานายกฯ คนนอก, เกณฑ์ทหาร หรือการเหยียดเพศ

แต่พรรคยังไม่บอกว่าเอาไงกับคนที่ไม่ใช่ ส.ส. ซึ่งพรรคการเมืองอื่นอาจเสนอเป็นนายกฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 3 ชื่อ

จะสั่งการให้กองทัพเลิกเกณฑ์ทหารด้วยวิธีไหน

และจะทำอย่างไรกับคณะสงฆ์ที่ไม่ยอมรับสถานะภิกษุณี

เพื่อความเป็นธรรมกับพรรคนี้และพรรคอื่นๆ

ณ เวลานี้คณะรัฐประหารใช้อำนาจเผด็จการห้ามทุกพรรคพูดเรื่องนโยบาย

ก๊วนนายพลยึดอำนาจจึงต้องเลิกคำสั่งนี้ทันที หรือไม่ทุกพรรคก็ต้องอารยะขัดขืนโดยไม่ทำตามคำสั่งนี้ไปเลย

พรรคการเมืองทั้งหมดจะได้มีเงื่อนไขให้แสดงนโยบายที่ชัดเจนขึ้นในโอกาสต่อไป

ตกลงคำว่าการเมืองคือการสร้างความเป็นไปได้หมายความถึงอะไร?

ตามความเข้าใจในภาษาไทยที่ใช้กันทั่วไป “ความเป็นไปได้” หมายถึง Feasibility หรือโอกาสที่โครงการจะทำสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้

แต่ผู้ก่อตั้งพรรคนี้พูดชัดเจนว่า “ความเป็นไปได้” ในที่นี้อ้างอิงจากนักปรัชญาอย่าง Alain Badiou

ความหมายของคำซึ่งเชื่อมโยงกับการนิยามการเมืองจึงไม่ใช่แบบที่ใช้ในภาษาไทย

ในความคิดของบาดิอู “การเมือง” คือการต่อต้านทุกสถาบันอย่างไม่รู้จบเพื่อนำไปสู่การสั่นคลอนระเบียบสังคมขั้นพื้นฐาน

“กิจกรรมการเมือง” จึงมีความหมายมากกว่าการปฏิรูปสถาบันการเมืองหรือเถียงว่าทำไงให้ GDP ประเทศเพิ่มขึ้น เพราะการเมืองคือการเขย่าระบบเพื่อเปิดทางให้กับทางเลือกใหม่ๆ ตลอดเวลา

นักทฤษฎีการเมืองที่ผู้ก่อตั้งพรรคเอาแนวคิดมาใช้นั้นอธิบายว่าการเมืองเป็นการคืนความเป็นการเมืองให้กับสังคม

แต่คำอย่าง “การเมือง” ที่เชื่อมโยงกับ “ความเป็นไปได้” และ “ความเป็นการเมือง” นั้นสุดแสนนามธรรม และแม้แต่ตัวบาดิอูก็ถูกวิจารณ์ว่าเสนอแนวคิดที่เป็นไปได้อย่างมากก็แค่แบบฝึกหัดทางปัญญา

ถ้า “ความเป็นไปได้” เชื่อมโยงกับแนวคิดบาดิอูอย่างที่ผู้ก่อตั้งพรรคอธิบาย ความชัดเจนว่าพรรคจะทำอะไรก็อาจยิ่งทวีความไม่ชัดเจนขึ้น เพราะแนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับการถอดรื้อสถาบันต่างๆ ขณะที่พรรคการเมืองนั้นต้องเสนออะไรกับสังคมมากกว่าการไล่รื้อหรือวิจารณ์สถาบันที่มีอยู่แต่เพียงอย่างเดียว

คิดง่ายๆ การต่อต้านระบบที่มีอยู่เดิมจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีการเสนออะไรใหม่อย่างเป็นระบบ ไม่อย่างนั้นการต่อต้านอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สังคมถอยหลังก็ได้

ยิ่งกว่านั้นคือความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งที่มีค่าในตัวเองทุกกรณี

หากมันแค่เปลี่ยนคนหรือเปลี่ยนรุ่นโดยไม่ได้สร้างความก้าวหน้าที่ยั่งยืน

จริงอยู่ว่าบาดิอูคือหนึ่งในนักปรัชญาฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนี้

แต่ถึงเขาจะเชื่อแบบมาร์กซ์ว่านักปรัชญามีหน้าที่เปลี่ยนแปลงโลก

นักปรัชญาที่ประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนโลกกลับมีน้อยมาก

ไม่ต้องพูดถึง “วาระ” ของเขาที่ยากขึ้นเป็นทวีคูณอย่างการสร้างคอมมูนิสม์ใหม่เพื่อปลดปล่อยมนุษยชาติโดยตรง

หาก “ความเป็นไปได้” เชื่อมโยงกับเรื่องใหญ่ระดับอภิมหาปรัชญาอย่างการปลดปล่อยมนุษยชาติ คำถามก็คืออะไรในสังคมไทยที่เป็นเรื่องใหญ่จนทำให้คนรู้สึกถึงการกดขี่ขั้นที่ต้องการการปลดปล่อยขึ้นมา?

ในบริบทฝรั่งเศส Badiou เคลื่อนไหวกับองค์กร The Organisation Politique ซึ่งยุติบทบาทไปแล้ว

ขอบคุณที่มา https://info-war.gr/vote-or-reinvent-politics-by-alain-badiou/

แต่หลักใหญ่ขององค์กรคือการใช้ประชาธิปไตยสร้างพลังการเมืองโดยเป็นเอกเทศจากพรรคและขบวนการมวลชน

หรือพูดง่ายๆ คือทำงานการเมืองกับองค์กรที่อยู่นอกกรอบการต่อสู้ทางการเมืองแบบเดิมๆ สำหรับบาดิอูแล้ว องค์กรอย่างพรรคมีปัญหาเพราะเอะอะก็อ้างความเป็นตัวแทนประชาชนอยู่ตลอดเวลาจนมากเกินไป

ส่วนขบวนการมวลชนแบบใหญ่ๆ ก็มักเคลื่อนไหวแบบไร้ทิศทางตลอดเวลา

มองแง่นี้ การทำพรรคเพื่อ “สร้างความเป็นไปได้” ตามแนวคิดบาดิอูจึงยุ่งมากขึ้น

เพราะเจ้าของแนวคิดกลับเป็นปัญญาชนสายวิพากษ์พรรคการเมือง

ยิ่งกว่านั้นคือบาดิอูยังโจมตีนักการเมืองที่เป็นแรงบันดาลใจให้ความเชื่อว่าปัญญาชนสามารถทำพรรคเล็กที่มีอิทธิพลสูงด้วย

นั่นคือมาครองและฌอง-ลุค เมลองชอง

สําหรับคนจำนวนไม่น้อย ความสำเร็จของมาครองที่ได้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสหลังจากตั้งพรรคแค่ปีเดียว

รวมทั้งการที่เมลองชองได้คะแนนอันดับสี่ทั้งที่มาจากพรรคเล็กนั้นคือ “สัญญาณ” หรือแม้กระทั่ง “ชัยชนะ” ของประชาชนหัวก้าวหน้าที่มีจำนวนมากจนไม่ยอมให้ประเทศอยู่ใต้ผู้มีอำนาจเก่าๆ อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี บาดิอูชี้ว่ามาครองคือประธานาธิบดีที่ให้ความหวังมวลชนทั้งที่ตัวเองทำทุกเรื่องภายใต้กรอบของทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ทั้งหมด

ส่วนเมลองชองแตกต่างนิด เพราะดูเป็นนักการเมืองซ้ายที่สุดเท่าที่มีในสภาฝรั่งเศส

แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็คือคนที่ใช้โวหารแบบสังคมนิยมปกปิดความคิดซึ่งไม่มีอะไรชัดเจน

Political meeting of Jean-Luc Mélenchon in Toulouse, France on April 16, 2017. MathieuMD / Wikimedia

น่าสนใจว่านักปรัชญาผู้ให้กำเนิดแนวคิด “การเมืองคือการสร้างความเป็นไปได้” มองว่านักการเมืองทั้งคู่เป็น “ประชานิยม” ที่ใช้ความสามารถทางภาษาห่อหุ้มวาทกรรมแบบซ้าย

มิหนำซ้ำทั้งสองคนไม่ได้เริ่มบทบาทการเมืองจากศูนย์อย่างหลายคนเข้าใจ เพราะทั้งคู่เคยอยู่พรรคฝ่ายซ้ายใหญ่อย่างพรรคสังคมนิยม

ไม่ต้องสงสัยว่าปรากฏการณ์มาครองทำให้คนเชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะตั้งพรรคแล้วประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

แต่ปี 2018 ห่างจากปี 2017 แค่ปีเดียวจนเร็วไปที่จะสรุปว่าพรรคเล็กทำให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงไป ไม่ต้องพูดว่าประชานิยมแบบซ้ายอาจไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่พรรคเล็กนอกฝรั่งเศสจะใช้ได้ผลทุกกรณี

สรุปสั้นๆ เราอาจต้องแยกการจัดตั้งพรรคใหม่และพรรคเล็กออกจากความสำเร็จในการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับต้องไม่ด่วนสรุปว่าชัยชนะในการเลือกตั้งจะเปลี่ยนประเทศไปสู่ทิศทางใหม่ทันที เพราะโลกไม่ได้เปลี่ยนตามเจตจำนงของพรรคได้ทั้งหมด และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าพรรคจะไม่ทรยศประชาชน

ถ้าอยากจะเข้าใจว่าพรรคประชานิยมหัวเอียงซ้ายทำงานอย่างไร

Francois Ruffin คือนักการเมืองแนวนี้ที่น่าจับตาที่สุด

เพราะขณะที่มาครองและเมลองชองเป็นนักการเมืองเก่าจากพรรคใหญ่ที่ทำพรรคใหม่ตามสถานการณ์เฉพาะหน้า

ฟรองซัวส์คือแอ็กติวิสต์ที่ขับเคลื่อนสังคมผ่านสื่อแล้วผันตัวเองมาทำงานการเมือง

ก่อนจะมีชัยเหนือคู่แข่งจากพรรคของประธานาธิบดีมาครองในการเลือกตั้ง ส.ส. รอบสองปี 2017 ฟรองซัวส์เป็นที่รู้จักจากงานสไตล์ข่าวสืบสวน (Investigative Journalism) ตรวจสอบผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทข้ามชาติซึ่งเป็นหนึ่งในคนกลุ่มที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในแทบทุกสังคม

หากยอมรับว่าผู้บริหารบรรษัทข้ามชาติเข้าถึงยากกว่าผู้นำรัฐบาล

งานของฟรองซัวส์ก็คือการหาทางควบคุมชนชั้นนำที่อยู่เหนือรัฐขณะนี้

และถ้าเข้าใจว่าอำนาจรัฐหลายประเทศปกป้องทุนกลุ่มนี้เสมอ สิ่งที่ฟรองซัวส์ก็คือการกระชากหน้ากากว่ารัฐมีด้านที่เป็นองค์กรพิทักษ์ผลประโยชน์กลุ่มทุนยิ่งกว่าประชาชน

เท่าที่สถาบันวิชาการบางแห่งประเมิน บรรษัทข้ามชาติเฉพาะของอเมริกาจ้างงานคนทั่วโลกกว่า 3.5 ล้าน ประชาชนจึงต้องเข้าถึงและควบคุมผู้บริหารทุนนี้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นทุกคนในสังคมก็จะกลายเป็นฟันเฟืองให้ระบบทุนแบ่งงานกันทำข้ามพรมแดนจนทำอะไรกับคนทั้งโลกได้เพื่อประโยชน์สูงสุดในการสะสมทุน

มองในแง่การเมือง การเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบบรรษัทข้ามชาติทำให้ฟรองซัวส์เกิด “มูลค่าเพิ่ม” ทางการเมืองอย่างน้อยสามข้อ

ข้อแรก คือเขากลายเป็นสื่อซึ่งพูดได้ว่าต่อสู้เพื่อคนงานอันเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมอุตสาหกรรม

ข้อสอง คือเขาเชื่อมต่อกับขบวนการแรงงานซึ่งเป็นมวลชนที่มีการจัดตั้งมากที่สุด

และข้อสาม เขากล้าสู้กับนายทุนระดับประเทศและระดับข้ามชาติซึ่งนักการเมืองทั่วไปไม่กล้า ต่อให้เป็นนักการเมืองซึ่งมีภาพว่าเป็น “พรรคเล็ก” หรือ “พรรคใหม่” ที่ก้าวหน้าอย่างฝ่ายมาครองหรือเมลองชอง

นอกจากฟรองซัวส์จะสั่งสมความน่าเชื่อถือทางการเมืองด้วยการต่อสู้ในประเด็นเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับมวลชน

วิธีการขับเคลื่อนของเขายังฉลาดและแสดงความมุ่งมั่นจะควบคุมชนชั้นนำทางเศรษฐกิจอย่างถึงที่สุด

นั่นคือเขาซื้อหุ้นของบริษัทต่างๆ เพื่อเอาสิทธิไปซักฟอกเจ้าของทุนในที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นโดยตรง

ข้อดีของวิธีทำงานแบบนี้คือการเชื่อมต่อกับคนส่วนใหญ่โดยไม่ต้องผ่านขบวนการแรงงาน

ทว่า ผลในด้านกลับคือความเสี่ยงจะถูกเขม่นว่า “แย่งชิงมวลชน” หรือ “ทำลายขบวนการ”

ขณะที่นายทุนอาจโจมตีว่าเป็นตัวป่วนได้ตลอดเวลา ไม่ต้องพูดถึงโอกาสที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายฐานขัดขวางการประชุม

อย่างไรก็ดี ฟรองซัวส์เคยเป็นนักศึกษาที่วิพากษ์การเรียนสื่อว่าสยบยอมทุนนิยมและมองข้ามการมีส่วนร่วมของพลเมือง ตัวโปรไฟล์จึงเป็นโล่ปกป้องจนกระทั่งกระสุนน้ำเน่าที่ฝ่ายตรงข้ามโจมตีนั้นไร้พลัง

ความเหนือชั้นของฟรองซัวส์คือเขาไม่ปล่อยให้การต่อสู้กับนายทุนเป็นเรื่องของคนงานผู้เดือดร้อนไม่กี่คน

เขาใช้ความอยุติธรรมรายกรณีขยายผลให้เห็นสภาพการทำงานที่คนส่วนใหญ่ถูกเอาเปรียบเสมอ

ฟรองซัวส์สร้างสื่อเพื่อเชื่อมการต่อสู้และความเชื่อว่าชัยชนะเป็นไปได้กับคนจำนวนมาก

โดยเฉพาะหนังอย่าง Merci Patron! หรือ Thanks Boss ที่เขาซัดซีอีโอแบรนด์ระดับ Louis Vuitton อย่างทรงพลัง

ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตใหม่จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งแค่ไหน แต่บทเรียนจากพรรคแนวทางนี้ในฝรั่งเศสคือการต่อสู้แบบประชานิยมจำเป็น

พรรคต้องเชื่อมต่อมวลชนโดยตรงให้ได้ การมีนักสู้ที่พิสูจน์ตัวเองอย่างต่อเนื่องนั้นมีค่า และการสร้างความเชื่อมั่นว่าพรรคทำอะไรได้มากกว่าคำพูดนั้นสำคัญ