นงนุช สิงหเดชะ : เรื่องของ “เบอร์กินี” “เสรีภาพ” ย้อนแย้งในฝรั่งเศส

AFP PHOTO / JUSTIN TALLIS

เป็นประเด็นร้อนๆ อยู่นานพอสมควร สำหรับคำสั่งของเจ้าหน้าที่ในเมืองชายทะเลตากอากาศของฝรั่งเศส ที่ห้ามสตรีมุสลิมสวมชุดว่ายน้ำที่เรียกว่า เบอร์กินี (Burkini) ซึ่งมาจากการผสมคำระหว่าง Burqa (เบอร์กา) หมายถึงผ้าคลุมศีรษะแบบมิดชิดไม่เห็นแม้แต่ใบหน้าหรือดวงตาของสตรีมุสลิม กับคำว่า Bikini (บิกินี) อันหมายถึงชุดว่ายน้ำแบบ 2 ชิ้นของคนตะวันตก

ชุดนี้ออกแบบมาเป็นการเฉพาะสำหรับสตรีมุสลิม ซึ่งจะปกปิดมิดชิดทั้งตัว เหลือเพียงใบหน้า มือและเท้าที่โผล่พ้นเสื้อผ้าออกมาให้เห็น แต่ก็ยังดีกว่าเบอร์กาตรงที่ เบอร์กินีนั้น ยังเผยให้เห็นใบหน้าผู้สวมใส่ชัดเจนแบบเดียวกับการคลุมฮิญาบ ดังนั้น ความกังวลว่าหากเกิดเหตุการณ์ร้ายใดๆ เกิดขึ้นแล้วกล้องวงจรปิดจะบันทึกภาพไม่ได้ หรือพยานจะจำใบหน้าคนร้ายไม่ได้จึงหมดไป

แต่สตรีมุสลิมบางคนไม่ยอมรับคำสั่งนี้ ดังนั้น ข่าวที่ปรากฏในแต่ละวันก็คือ มีตำรวจฝรั่งเศสเดินไปตามชายหาดแล้วก็บังคับให้สตรีที่สวมชุดดังว่านี้ถอดชุดออกพร้อมกับถูกปรับด้วย

ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจากกลุ่มปกป้องสิทธิประชาชน รวมทั้งชุมชนคนมุสลิม เพราะเห็นว่าคำสั่งนี้ละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

Muslim models display burkini swimsuits at a shop in western Sydney on August 19, 2016. Part bikini, part all-covering burqa, the burqini swimsuit has sparked huge controversy in France, but in Australia where the beach is a national obsession, it's seen as a symbol of inclusion, says its designer Aheda Zanetti. The light-weight, quick-drying two-piece swimsuit which covers the body and hair has been banned from French beaches by several mayors in recent weeks following deadly attacks linked to Islamic jihadists. / AFP PHOTO / SAEED KHAN
AFP PHOTO / SAEED KHAN

ที่มาที่ไปของคำสั่งนี้ อ้างว่า ชุดเบอร์กินี คุกคามความสงบเรียบร้อยของสาธารณะและสร้างความหวาดกลัวให้ชาวฝรั่งเศสที่ไม่ใช่มุสลิม

ไม่ต้องสงสัย คำสั่งนี้เป็นผลพวงจากกระแสหวาดกลัวมุสลิมของคนฝรั่งเศส ภายหลังจากประสบการก่อการร้ายครั้งใหญ่และร้ายแรงถึง 3 ครั้งซ้อน นับตั้งแต่การกราดยิงพนักงานนิตยสารชาร์ลี เอบโด ในปารีส มีผู้เสียชีวิตเกือบ 20 ราย ตามด้วยการระเบิดฆ่าตัวตาย 4 จุดในปารีสเมื่อปลายปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิต 100 กว่าคน และล่าสุดปีนี้มีผู้ฝักใฝ่กลุ่มไอเอส ขับรถบรรทุกไล่ชนคนในเมืองนีซ เสียชีวิตกว่า 80 ราย

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดกระแสความไม่พอใจ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนยื่นฟ้องต่อศาล ในที่สุดศาลฝรั่งเศส มีคำพิพากษาว่าคำสั่งห้ามดังกล่าวละเมิดเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

เรื่องของเบอร์กินี ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์โดยทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่เห็นด้วยว่าควรมีการแบนชุดลักษณะนี้อ้างว่าขัดกับอัตลักษณ์ความเป็นฝรั่งเศส ถ้าคุณจะมาเล่นน้ำ มารับแสงแดดก็ต้องแต่งตัวมาเพื่อการนั้นอย่างแท้จริง ไม่ใช่ปกปิดมิดชิด

นอกจากนี้ก็อ้างว่าฝรั่งเศสเป็นประเทศหรือรัฐปุถุชนซึ่งมีความเป็นกลางทางศาสนา (Secular state) ไม่ใช่รัฐเคร่งศาสนา (Religious state)

ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า ในเมื่อฝรั่งเศสเป็นประเทศประชาธิปไตยที่บูชาเสรีภาพ อ้างว่าเคารพความแตกต่างหลากหลายทุกด้านไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา การแต่งกายหรือวัฒนธรรมอื่นๆ ก็ไม่ควรมาจำกัดสิทธิของคนวัฒนธรรมอื่นเรื่องการแต่งกาย

ขณะเดียวกันตั้งคำถามว่า อัตลักษณ์ฝรั่งเศสมีแบบเดียวหรืออย่างไร เพราะในเมื่อฝรั่งเศสยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติวัฒนธรรมอาศัยอยู่ มันก็ควรมีความหลากหลายด้านอัตลักษณ์เช่นกัน

บางคนก็ให้เหตุผลว่า ที่จริงเบอร์กินี ก็ไม่ต่างอะไรจาก wet suit ที่คนยุโรปใส่ดำน้ำกัน แล้วทำไมต้องมาตั้งแง่ห้ามเบอร์กินีด้วย ถ้าอย่างนั้นก็ห้ามผู้หญิงตะวันตกใส่ wet suit ไปด้วยเลยสิ

ส่วนชุมชนมุสลิมในฝรั่งเศส กังวลว่าอีกหน่อยคงสั่งแบนเครื่องแต่งกายอื่นๆ ของมุสลิมไปด้วย เช่น ฮิญาบ เรื่องกระโปรงยาว หรือแม้กระทั่งอาหารฮาลาล ก็คงตกเป็นเป้าเช่นกัน

ในโลกโซเชียล วิจารณ์เรื่องนี้อย่างเหน็บแนมว่าที่อิหร่านนั้น ผู้หญิงถูกปรับ ถูกดำเนินคดีเพราะคลุมร่างกายไม่มิดชิดพอ แต่ที่ฝรั่งเศสผู้หญิงถูกจับ ถูกปรับเพราะปกปิดร่างกายมากเกินไป


หลังจากศาลมีคำพิพากษาออกมา บัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แสดงความโล่งใจ โดยระบุว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับการเคารพ

เช่นเดียวกับโฆษกทำเนียบขาวของสหรัฐอเมริกา ที่ออกมาพูดว่าประธานาธิบดี บารัค โอบามา เชื่ออย่างหนักแน่นในเสรีภาพด้านศาสนา

นิโกลาส์ ซาร์โกซี (AFP PHOTO / POOL / PHILIPPE WOJAZER)
นิโกลาส์ ซาร์โกซี (AFP PHOTO / POOL / PHILIPPE WOJAZER)

แต่ นิโกลาส์ ซาร์โกซี อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส สายกลางขวา ซึ่งเตรียมจะลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกรอบ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาล และย้ำว่าเขาเห็นด้วยกับการแบนชุดเบอร์กินี

ฝรั่งเศสและประเทศยุโรปส่วนใหญ่ ให้คำนิยามว่าประเทศของตนเป็น secular state ดังนั้นเวลากล่าวสุนทรพจน์หรือกล่าวปราศรัยใดๆ ต่อสาธารณชน บรรดาผู้นำยุโรปจะไม่มีการลงท้ายตอนจบด้วยคำพูดประเภท God bless เพื่อแสดงความเป็นกลางทางศาสนา

ต่างจากผู้นำอเมริกา เช่น จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่มักจะลงท้ายสุนทรพจน์ด้วย God bless บ่อยๆ ทั้งที่อเมริกาก็เป็น secular state ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการนับถือศาสนาเช่นกัน

นี่ก็เป็นอีกภาพที่ย้อนแย้ง ในประเทศประชาธิปไตยที่บูชาเสรีภาพอย่างเข้มข้นเหมือนกัน แต่มีวิธีรับมือหรือมุมมองต่ออัตลักษณ์ของผู้อื่นต่างกัน

An activist from the Muslim Khawateen Markaz (MKM) organisation looks on as others shout anti-Indian slogans during a protest in Srinagar on March 20, 2014. Police detained activists of MKM, a Kashmiri women's separatist party, as they held a protest to demand the release of Kashmiri men who have been lodged in different jails in India since a rebellion broke out in the region at the end of 1989. AFP PHOTO/Tauseef MUSTAFA
AFP PHOTO/Tauseef MUSTAFA

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2553 ฝรั่งเศสออกกฎหมายห้ามสตรีมุสลิม สวมผ้าคลุมหน้าแบบเบอร์กา (ไม่เห็นทั้งใบหน้าและดวงตา) และนิกอบ (เห็นเพียงดวงตา) ออกไปในที่สาธารณะ สวมได้เฉพาะอยู่ในบ้านหรือที่ส่วนตัวเท่านั้น สาเหตุก็เกิดมาจากเหตุผลด้านความมั่นคงหรือการรักษาความปลอดภัย หลังเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมสหรัฐโดยฝีมือกลุ่มอัลกออิดะห์

ส่วนผ้าคลุมแบบฮิญาบ นั้นยังได้รับอนุญาตให้สวมใส่ในที่สาธารณะได้ตามปกติ ซึ่งก็สร้างความไม่พอใจลึกๆ ให้กับคนมุสลิมอยู่บ้างแล้ว

คาดหมายว่าเบอร์กินีจะสร้างความตึงเครียดในการเมืองและสังคมฝรั่งเศสต่อไป โดยเฉพาะซีกขวาที่คงจะอาศัยเรื่องเบอร์กินีไปเป็นประโยชน์ในการหาเสียง ในห้วงยามที่เกิดกระแสหวาดกลัวมุสลิมในฝรั่งเศส