เทศมองไทย : สยามเมืองยิ้ม “สติล สมายลิ่ง…”

เอ็ด ฟุลเลอร์ คอนทริบิวเตอร์ ของฟอร์บส์ เขียนเรื่องราวที่ผมจะหยิบมาเล่าต่อไปนี้ไว้ตั้งแต่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นความตั้งใจที่จะหยิบมาบอกกล่าวสู่กันฟังเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันในสัปดาห์นี้ ด้วยเหตุที่ว่าอย่างน้อย เรื่องของฟุลเลอร์ก็อาจเรียกรอยยิ้มจากผู้อ่านได้บ้าง

ส่วนจะเป็นยิ้มกว้าง ยิ้มเยาะ ยิ้มแค่นๆ เต็มฝืน ก็ว่ากันไปตามใจก็แล้วกันครับ

เอ็ด ฟุลเลอร์ เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอยู่ในเวลานี้ ก่อนที่จะผันมาเป็นคนเขียนหนังสือ เขาเคยเป็น “จีไอ” ในสงครามเวียดนาม จับพลัดจับผลูพาภรรยามาเที่ยวเมืองไทยครั้งแรกนาน 1 สัปดาห์ เมื่อปี 1970 เพื่อพักผ่อนและฟื้นฟูสภาพจิตใจจากสงคราม อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า “เรสต์ แอนด์ รีครีเอชั่น” หรือ “อาร์แอนด์อาร์” นั่นแหละครับ

นับแต่นั้นมา ฟุลเลอร์กลับมาเที่ยวเมืองไทยครั้งแล้วครั้งเล่า “จนนับครั้งไม่ถ้วน” เรื่อยมาจนถึงบัดนี้ปาเข้าไปเกือบๆ จะครึ่งศตวรรษเข้าให้แล้ว ยังคงทึ่งในเมืองไทยอยู่ไม่วาย

“เมืองไทยยังคงเป็นสถานที่ (ท่องเที่ยว) ที่โปรดปรานที่สุดของผมเรื่อยมา”

 

ฟุลเลอร์มาเมืองไทยตั้งแต่เมื่อครั้งมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพียง 350,000 คนต่อปี แถม 55,000 คนในจำนวนนั้นยังเป็นคนเข้ามาพักผ่อนระยะสั้นๆ ประเภท “อาร์แอนด์อาร์” ทำนองเดียวกับเขาอีกต่างหาก จนถึงบัดนี้ ตัวเลขบ่งบอกเอาไว้ว่า เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมามีผู้คนจากต่างแดนเข้ามาท่องเที่ยวในบ้านเรามากมายเป็นสถิติถึง 32.6 ล้านคน

เขาเข้ามาตั้งแต่โรงแรมดุสิตธานี “ลักชัวรี โฮเตล” แห่งแรกของไทย สูง 21 ชั้น เพิ่งเปิดกิจการด้วยจำนวนห้องพัก 510 ห้อง แล้วก็ยังคงเดินทางมาไทย เมื่ออาคารที่เคยสูงที่สุดในกรุงเทพฯ จะถูกทุบทิ้งสร้าง “ดุสิตธานี พร็อพเพอร์ตี้” ที่ลดจำนวนห้องพักลงเหลือเพียง 300 ห้องเท่านั้นเอง

ในความเห็นของฟุลเลอร์ ภายในช่องว่างของกาลเวลาดังกล่าว การท่องเที่ยวของไทยดิ้นรน ต่อสู้ และพัฒนาไปไม่หยุดยั้ง

เขาบอกว่า ไทยเป็นประเทศแรกๆ ของเอเชียที่ยึดถือเอาการท่องเที่ยวเป็น “อุตสาหกรรม” เป็นจักรกลเพื่อการปั่น “จีดีพี” ของประเทศ

เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ “นำเสนอตัวเอง” ต่อนักท่องเที่ยวนานาชาติ โหนกระแสการท่องเที่ยวของโลก “สร้างผลลัพธ์เชิงบวก” ได้อย่างอัศจรรย์ ชนิดที่ไม่มีใครทำได้เหมือนหรือเทียบเท่า

 

ปีนี้ ทางการไทยคาดหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากถึง 35 ล้านคน ประมาณได้เท่าๆ กับครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทำรายได้ให้มากถึง 71,400 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นอัตราส่วนเกือบเท่ากับ 17 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโดยรวมของปีนี้ และทำให้รายได้รวมของการท่องเที่ยวทั้งภายในและจากต่างประเทศ สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 78,500 ล้านดอลลาร์ แน่นอนแล้ว

ฟุลเลอร์ชื่นชมความสำเร็จของการบริหารจัดการท่องเที่ยวไทยในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมาว่า การทรงตัวอยู่ในระดับหัวแถวของโลกตลอดช่วงเวลายาวนานเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 ที่ยังคงมีสงครามภายนอกประเทศ ส่วนประชาธิปไตยในประเทศก็ล้มลุกคลุกคลาน มีรัฐประหารเป็นระยะๆ เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบทางลบต่อการท่องเที่ยวหลายครั้งหลายครา ไม่ว่าจะเป็น การระบาดของไข้หวัดนกในปี 1997, การระบาดของซาร์ส ในปี 2002 ต่อด้วยโศกนาฏกรรมสึนามิในปี 2004 ที่ทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ โดยเฉพาะที่ภูเก็ตเหมือนถูกถล่มด้วยนิวเคลียร์ เป็นต้น

แต่ไม่ว่าจะเกิดปัญหาทางการเมือง วิบัติภัยธรรมชาติ หรือหายนภัยทางสุขอนามัย เรื่อยไปจนถึงวิกฤตการณ์ทางการเงิน เครื่องจักรท่องเที่ยวของไทยยังคงทำงานได้ผลอย่างต่อเนื่อง ในท่ามกลางการแข่งขันจากเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มากขึ้นเรื่อยๆ

 

“เพื่อตอบโต้ความท้าทายเหล่านี้ด้วยการพุ่งไปที่เป้าหมายใหม่ เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มอย่างกอล์ฟ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ทั้งยังตั้งเป้าหมายให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของพุทธศาสนิกชนประจำภูมิภาคอีกด้วย” เอ็ด ฟุลเลอร์ ระบุ พร้อมกับเสริมว่า ไทยยังเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการท่องเทียวเสียใหม่ แทนที่จะเน้นปริมาณกลับหันไปส่งเสริมการขยายเวลาเข้ามาท่องเที่ยวให้นานขึ้น ให้เกิดการใช้จ่ายต่อวันต่อหัวของนักท่องเที่ยวสูงขึ้น ทำให้การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ไม่เป็นที่คุ้นเคย เป็นไปได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

ผลก็คือ แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งดึงดูดใจในไทยยังคงติดอันดับต้นๆ ของโลกต่อเนื่องมาตลอด เขายกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2012 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสยามพารากอน คืออันดับ 1 และ 2 ของสถานที่ซึ่งถูกถ่ายภาพมากที่สุดของโลก 10 อันดับ เหนือกว่า ไทมส์ สแควร์ ที่นิวยอร์ก และหอไอเฟล ที่ปารีส พอถึงปี 2014 มาสเตอร์การ์ด ก็ยกกรุงเทพฯ เป็นเมืองอันดับ 2 ของ 20 เมืองที่มีผู้มาเยือนสูงที่สุดของโลกต่อจากลอนดอน แต่เมื่อถึงปี 2016 กรุงเทพฯ ก็แซงหน้าทุกเมืองขึ้นเป็นอันดับ 1 ในรายชื่อสุดยอดเมืองท่องเที่ยว ของ ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นต้น

ถ้าถามฟุลเลอร์ เขาบอกว่า กรุงเทพฯ และเมืองไทย ต่างออกไปมากมายจากครั้งแรกที่เดินทางมาเที่ยวเรื่อยมาจนถึงเกือบ 50 ปีให้หลัง แต่ก็ยังมากด้วยเสน่ห์ ไม่มีที่สิ้นสุด ขึ้นอยู่กับว่ามองหาอะไรเท่านั้นเอง

กระนั้น ฟุลเลอร์ย้ำว่า มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยในช่วงครึ่งศตวรรษที่เขาแวะเวียนมาเมืองไทย

นั่นคือรอยยิ้มและอัธยาศัยไมตรีของคนไทยทั้งหลายนั่นเองครับ