E-DUANG : “กลิ่น” ทาง “วรรณศิลป์” “เสียง” แห่ง “ยุคสมัย”

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

การดำรงอยู่ของคอลัมน์ “กวี กระวาด” แห่ง “มติชนสุดสัปดาห์” สะท้อนให้เห็นลักษณะอันเป็น “พลวัต”

ที่หน้า 57 เป็น “ฝนเฟื่องฟ้า” ของ “ใบหลิวในสายลม”
ที่หน้า 76 เป็น “มนุษย์ธรรมดาไม่เป็นคนไข้อนาถา” ของ เรืองรอง รุ่งรัศมี
ที่หน้า 90 เป็น “พรหมจรรย์ในฤดูฝน” ของ หฤทัย หฤทัย
ที่หน้า 98 เป็น “ผลัดชีวิต” ของ ธัญญา ธัญญามาศ
ที่หน้า 105 เป็น “ของใคร ?” ของ เวฬุ เวสารัช
ธัญญา ธัญญามาศ เป็น “ผู้อาวุโส” คร่ำหวอดมาตั้งแต่ยุค “ชมรมนักกลอน”
ตามมาด้วย เรืองรอง รุ่งรัศมีธรรม คนรุ่น 14 ตุลา
แต่พอมาถึง “ใบหลิวในสายลม” กับ หฤทัย หฤทัย และ เวฬุ เวสารัช
ก็ “ละอ่อน” อย่างยิ่ง

ถามว่าที่ลง “ความเห็น” ว่า ละอ่อน หรือว่า อาวุโส นั้นใช้บรรทัด ฐานใดในการวัดและตัดสินใจ

1 ใช้ฐานข้อมูลของคนเขียน
ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ “กลิ่น” อันสำแดง ออกผ่านถ้อยคำ สำนวน
“กลิ่น” ทางวรรณศิลป์คือ เงาสะท้อน “ยุคสมัย”


หมายเหตุ :

“ฝนเฟื่องฟ้า”

รายแรแพรพรมปูห่มพื้น        แดงดื่นสะพรั่งถั่งโปรยหวาน
เรี่ยโรยระรื่นแลละลาน         ขณะหนึ่งเนิ่นนานหว่านแพรพรม
คือกลีบเกลี่ยกรายได้แผ่ผืน    วันคืนกลืนกลายหมายคลี่ห่ม
เฟื่องฟ้าเฟื่องฝันปันฝากลม    ปันใจไปจมลมเฟื่องฟ้า
มาเป็นกระแสแรริ้วสาย        พลิ้วส่ายพรายพริ้มแลอิ่มค่า
สดสีสดใสไหวแตะตา           แตะทุกท่วงท่าบ่าไหลริน
บ่าโรยโบยริ้วลิ่วละล่อง        เริงร่ำเพลงร้องมิรู้สิ้น
ปีกสีผีเสื้อเอื้อปีกบิน           หวนไห้ถวิลมิสิ้นซา
คือฝ้ายคือฝน ณ หนแห่ง      สนสายในแสงสิเน่หา
สบส่วนสีสันวันเวลา            เฟื่องฟ้าเฟื่องฝันกลางวันคืน
จนฟูจนฟ่องละอองอิ่ม         พร่างพริ้มแพรพรมห่มแพรผืน
เริงรื่นเริงลมยิ่งกลมกลืน        แดงเด่นดาษดื่นเป็นผืนแพร
หลังผ่านความจริงบนกิ่งก้าน  ร่วงโรยละลานลงรายแผ่
เพียงหนึ่งขณะจะผันแปร       ผ่านภาพเนื้อแท้และว่ายวน

คงเป็นเช่นฝนที่หล่นพร่าง      เฟื่องฟ้ากลีบบางราวพร่างฝน
ฉ่ำชื่นผืนหญ้าเมื่อมายล        มาเย้าใจคนกลางหนทาง
(คงเป็นเช่นฝนที่หล่นพร่าง     เฟื่องฟ้ากลีบบางกลางแห่งหน
กลางแล้งรานรุกกลางทุกข์ทน กลางใจใครบางคนก่อนพ้นทาง…)


มนุษย์ธรรมดาไม่เป็นคนไข้อนาถา

เราค่อยๆ ก้าวไปเงียบๆ
สู่ความชราและเจ็บป่วย

ถ้าหากฉันป่วย
ฉันจะพยายามรับผิดชอบใบเสร็จโรงพยาบาลแต่ละใบ
สุดความสามารถ
ถ้าฉันเตรียมตัวได้ไม่ดีพอ
ฉันก็จะค่อยๆ ก้าวไปเงียบๆ
สู่ความตายด้วยความยินยอมพร้อมใจ
ฉันจะไม่ยอมรับการเป็นคนไข้อนาถา
เพราะว่าฉันทระนงในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

มีแต่มนุษย์ธรรมดา
มนุษย์อนาถาไม่มี
เผ่าพันธุ์มนุษย์อนาถาไม่มีอยู่จริง
มนุษย์ธรรมดาจะกลายเป็นคนไข้อนาถาได้อย่างไร
มันเป็นตรรกะที่ใช้ไม่ได้เลย

พรหมจรรย์ในฤดูฝน

พรหมจรรย์ในฤดูฝน
พรหมจรรย์กับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง
ความชื้นความร้อนเดินสวนทางกัน
ผ่านป่าจินตนาการรกรื้น
ชีวิตอยู่เหนือลมหายใจที่มองไม่เห็น

เรานั่งอยู่ระหว่างกลาง
สัมผัสได้ถึงความเคลื่อนไหว
พรหมจรรย์ในฤดูฝนพรำของจินตนาการ
ไหลผ่านความชุ่มออกไป

ผลัดชีวิต

เราต่างคนต่างลู่เป็นคู่แข่ง               หลายคนก็เบียดแซงหน้าไปก่อน
รีบส่งไม้เปลี่ยนผลัดลัดวงจร            ชิงเข้าสู่เชิงตะกอนก่อนใครใคร
เป็นการผลัดหน้าที่ของชีวิต            ที่ตามติดเป็นเงาคนเก่าใหม่
แต่ละผู้แต่ละคนก้าวพ้นไป             แต่ละวันแต่ละวัยเร็วหรือช้า

เรากำลังพ้นวัยวิ่งไล่ล่อ                  ซ้ำถูกจ่อวันวัยรุกไล่ล่า
นับแต่วันเดือนปีจากที่มา               ไล่เวลาเวียนวงตามกงล้อ
หลายหลายคนพ้นวัยไล่ชีวิต            ให้คนตามติดติดรับช่วงต่อ
ต่อรูปนามตามไล่เริงวัยรอ               เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกันจนตาย

เรากำลังถึงวัยส่งไม้ผลัด                 ผลัดรอยวัดรอยเท้าสู่เป้าหมาย
ผลัดเข้าสู่ลู่ทางรอวางวาย               ที่สุดที่สุดท้ายตามกฎกาล
เราต่างคนต่างรุดสู่จุดผลัด              ผลัดเวียนวัดรอยวัฏสงสาร
เวียนกำเนิดเกิดกายตราบวายปราณ  ผลัดเปลี่ยนผ่านเกิดดับชั่วกัปกัลป์

เราทั้งหลายรอเวลาผลัดหน้าที่         คงถูกผิดชั่วดีต่างสีสัน
ให้เป็นคุณเป็นโทษไว้โจษจัน           เมื่อถึงวันได้เวลาปิดฝาโลง


ของใคร?

บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา คิดว่ายืมเค้าอยู่
ปิดตา ปิดหู ปิดปาก อย่าไปคิดอะไรมาก, เปลืองสมอง
บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา คิดว่ายืมเขาอยู่
กิน ขี้ ปี้รู นอนพัก อย่าไปทำอะไรมาก, เสียของ

บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา คิดว่ายืมเขาอยู่
เที่ยวชิม ชมดู หัวเราะก๊าก อย่าไปจริงจังนัก, ชวนสยอง
บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา คิดว่ายืมเขาอยู่
อุดมการณ์กู ไม่ยาก อย่าไปสนเดี๋ยวก็จาก, คืนเจ้าของ

บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา คิดว่ายืมเขาอยู่
แต่สงสัย ใคร่รู้ มาก-มาก อยากรู้จะได้จ่ายค่าที่พัก, ของใคร?